ช่องว่างประกันสุขภาพรัฐ ดันรพ.เอกชนโต พ่วงกลุ่มคนไข้ต่างชาติ

ช่องว่างประกันสุขภาพรัฐ ดันรพ.เอกชนโต พ่วงกลุ่มคนไข้ต่างชาติ

อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มองช่องว่างระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ดันรพ.เอกชนโต พ่วงคนไข้ต่างชาติกลุ่มCLMV-Expatในไทย

KEY

POINTS

  • อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มองช่องว่างระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ดันรพ.เอกชนโต พ่วงคนไข้ต่างชาติกลุ่มCLMV-Expatในไทย
  • รูปแบบประกันสังคมเป็นทางออกของระบบประกันสุขภาพภาครัฐ แต่จะต้องปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ -ระบบบริหารจัดการเงิน4 กรณี หนุนซื้อประกันสุขภาพเอกชนให้ผู้ประกันตน
  •  Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2567 ธุรกิจรพ.เอกชนจะขยายตัวในกรอบ 8-12 %YoY ประเมินระยะ 1-2 ปีนี้ รายได้จากคนไข้ต่างชาติ ยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์ว่า ช่องว่างของระบบประกันสุขภาพภาครัฐที่มีอยู่และไม่ได้รับการแก้ไขทั้งเรื่องไม่มีการร่วมจ่าย(Co-payment) และงบประมาณประเทศไม่โต ทำให้รพ.เอกชนยังเติบโต ด้วยการให้บริการดูแลคนไทยที่ไม่อยากใช้บริการของระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ซึ่งตัวเลขคนที่มีสิทธิประกันสังคมแต่ไม่ไปใช้สิทธิประมาณ 50 % โดยมีทั้งกลุ่มที่ไม่ป่วยและป่วยแต่เลือกไม่ไปใช้ตามสิทธิจากความไม่สะดวก ผิดที่ ผิดเวลา

เช่น รพ.ตามสิทธิเป็นรพ.รัฐหากจะไปใช้บริการนอกเวลาต้องจ่ายเงินเพิ่ม หรือรพ.ตามสิทธิอยู่ไกลบ้าน ไกลที่ทำงาน จึงตัดสินใจเข้ารับบริการรพ.เอกชนที่ใกล้แทน ได้บริการเร็วกว่า ไม่ต้องรอคิวนาน เหล่านี้เป็นช่องว่งจากระบบของรัฐที่ทำให้รพ.เอกชนยังโตอยา และจากคนไข้ต่างชาติทั้งกลุ่มFly in จากกลุ่มประเทศ CLMV ตะวันออกหลาง และกลุ่มที่ทำงาน พักอาศัยในประเทศไทย(Expat) ทั้งนี้ อีก 2-3 ปี น่าจะมีรพ.เอกชนเปิดตึกบริการเพิ่มขึ้นอีกในพื้นที่กรุงเทพฯ

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวอีกว่า เท่าที่ดูรพ.เอกชนน่าจะโตเรื่อยๆ  เนื่องจากระบบประกันสุขภาพภาครัฐของไทยมีการออกแบบภายใต้ความจำกัด ซึ่งตอนนี้ที่มีการคิดนั้นอาจมองว่าประเทศไทยจะมีการเติบโตเหมือนประเทศอื่น จากที่เป็น 5 เสือแห่งเอเชียที่มีรายได้ต่อหัว 1,000 กว่าเหรียญสหรัฐด้วยกัน  ซึ่งประเทศอื่นไป 70,000-80,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี   ส่วนไทยยังไม่ถึง 10,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี  

ดังนั้น การออกแบบระบบประกันสุขภาพภาครัฐโดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ บัตรทอง 30 บาท เป็นแบบ Universal เป็นระบบปิด ถ้าจะใช้ระบบนี้ต้องห้ามผู้ป่วยจ่ายเพิ่ม หากรพ.ใดจะอยู่ในระบบก็อยู่ ถ้าไม่อยู่ก็จะต้องออกไปอยู่นอกระบบ และรับผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง

ตัวอย่างรูปแบบประกันสุขภาพในต่างประเทศ

สำหรับประเทศอื่นที่มีการแบบUniversal เช่นกัน คือ  มาเลเซีย  แต่มีการแยกผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ควรได้รับการเยียวยาไม่ต้องจ่ายเงินเข้าระบบ นอกนั้นต้องมีส่วนร่วมจ่ายทุกคน ทำงานมีรายได้มีเงินเดือนต้องนำส่วนรายได้มาจ่าย หากเป็นข้าราชการก็ต้องจ่ายต่างจากไทยที่ราชการไม่ต้องจ่าย และคนรวยไม่มีนายจ้างแต่มีรายได้ก็ต้องจ่าย

ส่วนอินโดนีเซีย มี 3 แบบ คือ A 1 ,A2 และA 3 โดยมีการกำหนดสิทธิ รูปแบบห้องพักและเบี้ยที่ประชาชนต้องจ่ายแตกต่างกัน  ซึ่งการจ่ายเช่นนี้แล้ว เมื่อผู้ป่วยไปรับบริการรักษาพยาบาลไม่ต้องจ่ายเงินอีก ถ้าเงินเข้ากองทุนนี้ในแต่ละปีไม่เพียงพอ ในปีต่อไปก็จะมีปรับกองทุน เก็บเพิ่ม ทำให้กองทุนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาภาษี โดยรัฐจะมีสัดส่วนการช่วยเหลือเงิน

ไต้หวัน  มีการกำหนดว่าทุกครั้งที่ไปใช้บริการเองต้องจ่ายเพิ่ม โดยการกำหนดอัตราการจ่ายต่อครั้งแตกต่างกันตามระดับสถานพยาบาลที่ไปรับบริการ ตั้งแต่คลินิกธรรมดา  รพ.ใหญ่ขึ้น และรพ.ที่ใหญ่ขึ้นไปอีกก็ต้องCo-payment แต่หากไปรับบริการตามระบบโดยเริ่มจากคลินิกธรรมดาแล้วมีการส่งต่อไป ไม่ต้องจ่าย

สำหรับประเทศไทย ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเงินเลย ใช้งบประมาณประเทศที่มีอยู่จำกัด ทำให้คุณภาพสิ่งที่ให้บริการจำกัด และแพทย์มีสัดส่วนน้อยกว่าประเทศอื่น ไทยมีแพทย์ 5-6 คนต่อหมื่นประชากร มาเลเซีย 12 คน  สิงคโปร์ 20 คน อเมริกาและยุโรป 40 คน  

“ขณะที่แพทย์ไทยมีจำนวนน้อย แต่ระบบกำลังต้อนให้คนไข้เข้าระบบบริการรักษาที่ต้องเจอแพทย์ ซึ่งทางออกของรพ.รัฐที่เงินไม่พอ ที่ผ่านมาเปิดให้บริการตามสิทธิเฉพาะในเวลาราชการ หากเป็นนอกเวลาต้องจ่ายเพิ่มโดยรพ.รัฐทำได้ แต่รพ.เอกชนที่อยู่ในระบบบัตรทอง 30 บาทจะทำแบบนี้ไม่ได้ หากมีการเก็บเงินจะผิดข้อตกลง สุดท้ายรพ.เอกชนเกือบทั้งหมดจะค่อยๆออกจากระบบ”นพ.พงษ์พัฒน์กล่าว

รูปแบบของประกันสังคมเป็นทางออก แต่ต้องปรับ 

ระบบแบบประกันสังคม นพ.พงษ์พัฒน์ บอกว่า เป็นทางออกของระบบประกันสุขภาพภาครัฐอย่างหนึ่ง เพราะระบบคล้ายอินโดนีเซีย คือมีระบบร่วมจ่าย(Co-Payment) มีการสะสมเงินของตัวเอง และมีเงินออมของตัวเองในระยะยาว แต่เงินที่ประกันสังคมจ่ายเงินให้รพ.คู่สัญญา ทำให้คุณภาพบริการไม่สามารถโตได้ จนมีคนพูดว่าไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันสังคมแล้วไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลบัตรทอง 30 บาทดีกว่า

“รพ.เอกชนไม่มีที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ จะอยู่ได้ต้องไปเอารายได้เงินสดมาช่วยเหลืออุด แต่ใครจะทำ เพราะว่าถ้าจะทำต้องไปคิดเงินสดให้แพงขึ้นไปอีก เพื่อเอาเงินมาช่วยส่วนบริการระบบภาครัฐ ดังนั้น ก็ตัดกลุ่มนี้แล้วไปให้บริการกลุ่มจ่ายเงินเองอย่างเดียวดีกว่า จะได้ไม่ต้องเอาเงินมาอุดกลุ่มที่บริการภาครัฐ ตรงไปตรงมา รพ.เอกชนจึงนำCapacityที่มีอยู่ไปให้บริการกลุ่มคนจ่ายเงินเองและคนไข้ต่างชาติมากขึ้น”นพ.พงษ์พัฒน์กล่าว 

สิ่งที่ประกันสังคมควรจะดำเนินการ คือ 1.ต้องเพิ่มสิทธิผู้ประกันตนให้สูงขึ้น เพราะมีการเก็บเงินของผู้ประกันตน จะต้องได้สิทธิมากกว่าบัตรทอง 30 บาทที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเอง  ทำให้ 30 กว่าล้านคนที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางแต่อยู่ในสิทธิ 30 บาทนั้นอยากจะมาอยู่ในระบบประกันสังคม

2.ปรับอัตราจ่ายสิทธิประโยชน์ 4 กรณี คือ รักษาพยาบาล คลอดบุตร ทุพพลภาพและเสียชีวิต  โดยให้สัดส่วนใสในสิทธิรักษาพยาบาลมากขึ้นกว่าอีก 3 กรณี หรือนำเงินไปซื้อประกันสุขภาพเอกชนให้ผู้ประกันตน

3.ปรับระบบการบริหารเงินในส่วนของการรักษาโรคยากซับซ้อน  เพื่อให้มีเงินจ่ายเพียงพอ ไม่ปรับลดในช่วงปลายปี  และหากเงินไม่เพียงพอแต่ละปีจะต้องแจ้งให้รพ.ทราบไม่ใช่ปล่อยให้รพ.รักษาไปแล้วมาปรับลดค่ารักษาลง ซึ่งรพ.ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะรักษาคนไข้ไปแล้ว  เท่ากับเป็นการเอาเปรียบ

ปี67ธุรกิจรพ.เอกชนโต 8-12%

ขณะที่ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2567 ธุรกิจรพ.เอกชนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2564-2565 ในกรอบ 8-12%YoY และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในกรอบ 6-10%YoY ในปี 2568 โดยธุรกิจยังมีปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่งตามโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่ยังส่งผลอยู่ คือ ความต้องการการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนคนไข้และอัตราการเจ็บป่วยที่สูงขึ้น ทั้งจากวิถีการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค สังคมผู้สูงอายุ และความซับซ้อนของโรคที่มีมากขึ้น

ขณะที่การพัฒนาด้านการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตามมาด้วยค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง หรือที่เรียกว่า การแพทย์มูลค่าสูง อาทิ การแพทย์แม่นยำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวเต็มที่ของกลุ่ม Medical Tourism

 ประเมินว่าในปี 2567-2568 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 36.5 และ 40.0 ล้านคน ตามลำดับ โดยกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนไข้ชาวต่างชาติ จากอาเซียน จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง จะยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งมีมาตรฐานและบริการที่ดี และประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI มากถึง 50 แห่ง

ภาพรวมรายได้รพ.เอกชนกลับมาขยายตัว 

ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ภาพรวมรายได้รวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ที่ 7.2%YoY หลังทยอยปรับฐานในปี 2566 เนื่องจากอานิสงส์จากการรับรักษาโควิดทยอยหมดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้รายได้รวมของกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นรักษาคนไข้ชาวไทยหดตัวเกือบทุกแห่ง และทำให้ภาพรวมรายได้ของกลุ่มนี้หดตัวราว 14.1%YoY ขณะที่รายได้รวมของกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นรักษาคนไข้ต่างชาติยังเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมรายได้รวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2566 หดตัวเล็กน้อยเพียง 0.6%

1-2ปี รายได้จากคนไข้ต่างชาติขยายตัวต่อเนื่อง

คนไข้ต่างชาติที่เข้ามารับบริการ ในไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.คนไข้ต่างชาติที่ทำงานในไทย (EXPAT) โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจอย่างสมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี และระยองและ2.คนไข้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามารับการรักษา (Fly-in) หรือกลุ่ม Medical Tourism คนไข้หลักจากจีน ตะวันออกกลาง ยุโรป และอาเซียน โดยทั้ง 2กลุ่มมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในระยะ 1-2 ปีนี้ รายได้จากคนไข้ต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Tourism ยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากกลุ่มลูกค้าชาวอาเซียน จีน รัสเซีย และตะวันออกกลาง ที่จะยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งมีมาตรฐานและบริการที่ดี และมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เติบโตทั่วโลก