'แพทยสภา' ส่งหนังสือถึงรพ.ตำรวจ ขอข้อมูล 'ทักษิณ'เข้ารักษา
แพทยสภาส่งหนังสือถึงนายแพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ ขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมกรณี “ทักษิณ”เข้ารักษา ชี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนปกติเมื่อมีผู้กล่าวโทษหรือยื่นคำร้องต่อแพทยสภา
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 แพทยสภา เรื่อง ขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาจริยธรรม ถึงนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ โดยระบุว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ได้รับคำร้องให้ตรวจสอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับกรณีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ผู้ป่วยรายนายทักษิณ ชินวัตร เข้ารับการรักษาในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ถูกส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลตำรวจ และจนกระทั่งผู้ป่วยได้เดินทาง ออกจากโรงพยาบาลตำรวจกลับมายังบ้านพัก เนื่องจากได้รับการพักโทษตามประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ โดยผู้ป่วยได้รับการพักโทษ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567
ซึ่งตั้งแต่ที่ผู้ป่วยได้รับโทษจนถึงวันที่ได้รับการ พักโทษ ผู้ป่วยถูกควบคุมตัวและรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลตำรวจมาโดยตลอด กลายเป็นข้อสังเกต ของประชาชนถึงการทำหน้าที่ของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ป่วยทั้งที่ไม่มีอาการ เจ็บป่วยจริงหรือไม่ แพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ออกใบวินิจฉัยโรคและรับรองให้ผู้ป่วยไปพักรักษา ที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นความเท็จหรือไม่
คณะกรรมการแพทยสภา ในการประชุม ครั้งที่ 10/2567 วันที่ 10 ตุลาคม 2567 พิจารณาแล้วมีมติ คำร้องมีมูล ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ดำเนินการพิจารณาจริยธรรม
ต้องรอก่อน ยังไม่ได้รับข้อมูล
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการแพทยสภาฯ ในฐานะประธานอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ แพทยสภา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ตั้งขึ้นมาหลังก่อนหน้านี้คณะกรรมการที่พิจารณาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการแพทยสภา
ซึ่งคณะกรรมการชุดแรกเห็นว่า เรื่องมีมูล ทำให้มีการส่งเรื่องมาให้คณะอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ดำเนินการพิจารณา เป็นตามกระบวนการของแพทยสภาฯ ทางอนุกรรมการฯ จึงทำหนังสือถึง รพ.ตำรวจ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ต้องรอก่อน อนุกรรมการฯยังไม่ได้รับเอกสารอะไร ส่วนฝ่ายกฎหมายของแพทยสภา ก็ดำเนินการไปตามที่ส่งในหนังสือ
ทำตามขั้นตอนปกติเมื่อมียื่นคำร้อง
ขณะที่ พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ตามขั้นตอนปกติในกรณีมีผู้กล่าวโทษหรือยื่นคำร้องต่อแพทยสภา จะมีการดำเนินการหาข้อมูลและตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมขึ้นมา เพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานว่ามีมูลหรือไม่ โดยมีกรอบระยะเวลาชัดเจน และนำผลเข้าสู่คณะกรรมการแพทยสภา เพื่อพิจารณาว่า มีมูลหรือไม่มีมูล หากไม่มีมูลก็ยกฟ้อง แต่หากมีมูลก็จะตั้งคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 คือ คณะอนุกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งก็คือชุดของ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร เป็นประธาน
หลังจากนั้นก็จะดำเนินการเป็นการลับ เพราะต้องเร็ว ยุติธรรม และที่ต้องเป็นการลับเพื่อให้ไม่มีผลต่อใครมากระทบกระเทือนเรื่องการสอบสวน พิจารณาได้ ซึ่งกรรมการแพทยสภาอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะไม่ทราบเช่นกัน โดยกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นกระบวนการตามข้อบังคับของแพทยสภา
พิจารณาภายใน 180 วัน ขยายได้ 120 วัน
เมื่อถามถึงขั้นตอนหลังจากคณะอนุกรรมการฯ ได้ข้อมูล พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ต้องทำตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยเมื่อคำร้องมีมูลมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ ตามพ.ร.บ.วิชาชีพฯ พ.ศ.2525 มาตรา 36-38 และข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาฯ พ.ศ.2563 ข้อ 27-39 พิจารณาภายใน 180 วัน ขยายได้ 120 วัน และขยายได้อีกตามที่กรรมการเห็นสมควรพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องประพฤติผิดจริยธรรมหรือไม่ อย่างไร จากนั้นเสนอคณะกรรมการแพทยสภา พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า เพียงพอหรือไม่ หากเพียงพอก็จะพิจารณาว่าประพฤติผิดหรือไม่ หากผิดต้องพิจารณาว่าผิดหมวดใด และพิจารณาโทษต่อไป
ต้องดูผลของการสอบสวนก่อน
“ต้องดูผลของการสอบสวนก่อนว่า เกี่ยวข้องกับแพทย์หรือไม่ คนไหนอย่างไร โทษก็จะขึ้นอยู่ว่า มีความผิดจริงหรือไม่ ถ้าผิดจริงมากน้อยเพียงใด ตั้งใจ จงใจ เจตนาหรือไม่ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่า จริงๆแล้วเรื่องนี้ต้องไปดูว่า ต้นเหตุมีแพทย์เกี่ยวข้องหรือไม่ หรือเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน หรือแพทย์ไม่เกี่ยวข้องเลย ตรงนี้มีรายละเอียดมาก ตอนนี้ยังไม่ได้สรุปว่าหมอผิด จนกว่าจะพิสูจน์พยานหลักฐานก่อน แต่หากผิดจริยธรรม ก็ต้องไปดูว่ามากน้อยแค่ไหน โทษก็จะเป็นไปตามความผิดที่เกิดขึ้น”พล.อ.อ.นพ.อิทธพรกล่าว