ไทยยกระดับเฝ้าระวัง ‘ไข้หวัดนก’ ในคน ป่วย-สัมผัสสัตว์ปีก-โคนมต้องแจ้ง
กรมควบคุมโรค ยกระดับเฝ้าระวังไข้หวัดนก เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ ย้ำติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด สั่งการหน่วยบริการในทุกจังหวัดยกระดับการเฝ้าระวังในคน คัดกรองโรคที่โรงพยาบาล แจ้งเตือนมีอาการและประวัติสัมผัสสัตว์ปีก -ฟาร์มโคนมให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ"ไข้หวัดนก"ว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2567 รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2546 - 1 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยสะสม 939 ราย เสียชีวิต 464 ราย ใน 24 ประเทศ
และข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Centers for Disease Control and Prevention; U.S. CDC) ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2567 รายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในปี 2567 จำนวน 64 ราย ใน 9 รัฐ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสโคนมที่ติดเชื้อ 39 ราย สัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ 22 ราย สัมผัสสัตว์อื่นๆ 1 ราย และไม่ระบุแหล่งที่มาของการติดเชื้อ 2 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยในปี 2567 เพิ่มเติมในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว
“สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงขึ้น ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยเชื่อมโยงกับสัตว์ปีกติดเชื้อสัตว์ปีกป่วยตาย หรือโคนมที่ติดเชื้อ อีกทั้งยังมีการพบเชื้อในสัตว์ปีก นกธรรมชาติ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลกเพิ่มขึ้น แม้ไทยไม่มีรายงานโรคในคนตั้งแต่ปี 2549 แต่ปัจจัยเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ การเดินทางระหว่างประเทศ และการเลี้ยงสัตว์ปีกยังคงสูง ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมภายใต้ความร่วมมือสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) มาอย่างต่อเนื่อง”นพ.ภาณุมาศกล่าว
ด้าน นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้เพิ่มความเข้มงวดการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลและจุดคัดกรองโรค โดยได้สั่งการและให้คำแนะนำหน่วยบริการในทุกจังหวัดยกระดับการเฝ้าระวังในคน โดยเน้นการซักประวัติเสี่ยง ณ จุดคัดกรองโรคที่โรงพยาบาล ติดป้ายแจ้งเตือนผู้มารับบริการหากผู้ป่วยที่มีอาการไข้ และมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือฟาร์มโคนมให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่
“บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า ถือเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องได้รับการป้องกันอย่างเหมาะสม เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงจากการปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วยและอาจสัมผัสเชื้อโดยตรง การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีเป็นมาตรการป้องกันที่สำคัญ แม้จะไม่ได้ป้องกันโรคไข้หวัดนกโดยตรง แต่ช่วยลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสการติดเชื้อร่วมระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ซึ่งอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์ ของเชื้อที่รุนแรงขึ้น”นพ.ดิเรกกล่าว
กรมควบคุมโรคแนะนำให้บุคลากรกลุ่มดังกล่าวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี พร้อมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด กรมควบคุมโรค ยืนยันความพร้อมในการสนับสนุนมาตรการป้องกัน เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด พร้อมสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้เองในประเทศ เพื่อความมั่นคงด้านวัคซีน ลดการพึ่งพาการนำเข้าวัคซีน จากต่างประเทศ และเพิ่มความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน
นพ.ดิเรก กล่าวด้วยว่า กรณีผู้ป่วยไข้หวัดนกที่มีอาการรุนแรงรายล่าสุดในสหรัฐอเมริกาพบมีประวัติการสัมผัสฝูงนกป่วยหรือตายที่เลี้ยงไว้ในสวนหลังบ้าน นอกจากนี้ ยังพบมีการรายงานผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสโคนมติดเชื้อเพิ่มขึ้น
กรมควบคุมโรค และกรมปศุสัตว์ ขอแนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หากพบสัตว์ปีก นกธรรมชาติ นกอพยพและโคนม ป่วยหรือตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ไปตรวจสอบทันที หรือโทรสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 และหากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือมีเยื่อบุตาอักเสบ (ตาแดง) หลังสัมผัสกับสัตว์ ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422