เจาะ 4 กลยุทธ์ 'นำวิวัฒน์(NAM)' นำอุปกรณ์การแพทย์แบรนด์ไทยสู่โกลบอลแบรนด์

เจาะ 4 กลยุทธ์ 'นำวิวัฒน์(NAM)' นำอุปกรณ์การแพทย์แบรนด์ไทยสู่โกลบอลแบรนด์

บมจ.นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น (NAM) กาง 4 กลยุทธ์มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Global Brand and Global Manufacturing ภายใน 5 ปีข้างหน้า  ล่าสุดขยายธุรกิจเครื่องมือแพทย์ชั้นสูง เข้าถือหุ้น “อินโนเวทีฟ อิมเมจจิ้ง ซิสเต็มส์” 60% ตั้งเป้ารายได้ปี 68 โต 50% แตะ 1,700 ล้านบาท

KEY

POINTS

  • นำวิวัฒน์(NAM) กาง 4 กลยุทธ์มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Global Brand and Global Manufacturing ภายใน 5 ปีข้างหน้า 
  • นำวิวัฒน์(NAM) ขยายธุรกิจเครื่องมือแพทย์ชั้นสูง เข้าถือหุ้น “อินโนเวทีฟ อิมเมจจิ้ง ซิสเต็มส์” 60 % มองอนาคตเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด ยังมีความต้

บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (NAM) ผู้ดำเนินธุรกิจวิจัย และพัฒนา ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการทำความสะอาด และฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1.อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อทำให้ปราศจากเชื้อ  2.งานบำบัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ และ 3.เทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับห้องผ่าตัด

ปัจจุบันมีรายได้จาก 3 ส่วน แบ่งเป็น การขายเครื่องมือแพทย์ (SM) 60 %  ขายวัสดุสิ้นเปลือง(CS) 25 % และการให้บริการ (SV) 15 % ซึ่งทั้ง 3 ธุรกิจยังเป็นรายได้พื้นฐานของบริษัทในปี 2568 และปีต่อๆ ไป แต่อาจจะขยับสัดส่วนรายได้เป็น50 ต่อ 50 %

ยืนยันความมุ่งมั่นในการเป็นผู้ผลิต วิจัย พัฒนาเครื่องมือแพทย์ในประเทศ เพื่อมองหานวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนา ทำให้สุขภาพของคนในประเทศดีขึ้น และมีแผนศึกษาการลงทุนเพิ่มเติมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อขยายฐานลูกค้า สร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ NAM มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Global Brand and Global Manufacturing ภายใน 5 ปีข้างหน้า 

เจาะ 4 กลยุทธ์ \'นำวิวัฒน์(NAM)\' นำอุปกรณ์การแพทย์แบรนด์ไทยสู่โกลบอลแบรนด์

 4 กลยุทธ์สู่โกลบอลแบรนด์

 “วิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (NAM)”  เปิดเผยว่า  บริษัทมี 4 กลยุทธ์สำคัญในการที่จะขับเคลื่อนขยายธุรกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้นจากแบรนด์ไทย(Local)ไปสู่โกลบอลแบรนด์(Global Brand) ประกอบด้วย 1. การจัดจำหน่ายหลากหลาย มีช่องทางให้นำวิวัฒน์กระจายสินค้าในประเทศ และออกไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น (NAM Distribution &Logistic)

ปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วที่ประเทศมาเลเซีย จากการที่นำวิวัฒน์ ได้เข้าไปซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมายในประเทศมาเลเซีย โดย NAM ถือหุ้น 60% และจะตามมาในอีกหลายประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าจากประเทศไทยไปสู่ภูมิภาคทั้งเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ที่มีโอกาสในการเจริญเติบโตของการกระจายสินค้าทางการแพทย์

เจาะ 4 กลยุทธ์ \'นำวิวัฒน์(NAM)\' นำอุปกรณ์การแพทย์แบรนด์ไทยสู่โกลบอลแบรนด์

2.สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ(Strengthen Business Portfolio) โดยหลักคิดของนำวิวัฒน์ คือ การเป็น Total Medical Technology Solution) ที่เป็นทั้งนักวิจัย ผู้ผลิต จำหน่ายและให้บริการ เพื่อให้ครบวงจร

3. การสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาตอบโจทย์ (Innovative Medical Solution)

4.ความยั่งยืน (Green&Clean Solution) โดยทำให้เครื่องมือแพทย์ตอบโจทย์ในเรื่องการประหยัดพลังงาน  การออกแบบที่ตอบโจทย์เรื่องสภาพแวดล้อม การใช้คลีน แมททีเรียล และของที่ปล่อยออกมาจะต้อง Green ซึ่ง 1 ในเรื่องนี้ของนำวิวัฒน์ คือ เครื่องกำจัดขยะ โดยเปลี่ยนขยะที่เป็นของเสีย เป็นอันตราย กลับมาเป็นพลังงาน

“4 กลยุทธ์นี้เป็นสิ่งที่นำวิวัฒน์ จะใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2568และปีต่อไป โดยตั้งเป้าโตในตลาดต่างประเทศ เพราะมองเห็นโอกาสในต่างประเทศอย่างมาก ดังนั้น การขับเคลื่อนกลยุทธ์ต้องให้เกิดภาพของการเป็นโกลบอลแบรนด์ และโกลบอล แมนูแฟคเจอริ่ง แบรนด์ ”วิโรจน์ กล่าว 

ปี 68 เป้าโต 50 % จากปีก่อน

สำหรับปี 2568 บริษัทตั้งการลงทุนไว้ที่ 400-500 ล้านบาท ในการดำเนินการทั้งเรื่องการดีล การขยายกำลังผลิตในโรงงานเพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้น และการวิจัยพัฒนา โดยวางแผนกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจขยายกิจการไปยังกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดการเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง พร้อมทั้งเก็บเกี่ยวผลลัพธ์จากการขยายธุรกิจในปีที่ผ่านมาจาก 3 บริษัทย่อยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

นอกจากนี้ นโยบายด้านสาธารณสุขยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกอาทิ 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด แผนเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้วยเครื่องมือที่ดีขึ้น เช่น เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สู่โรงพยาบาลอำเภอที่มีขนาดเล็ก และแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในกลุ่มของบริษัทมากขึ้น จึงตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2568 อยู่ที่ประมาณ 1,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นเติบโต 50% จากปีก่อน

เข้าลงทุนเครื่องมือทางการแพทย์ชั้นสูง

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2568 มีมติอนุมัติให้บริษัท เข้าลงทุนในบริษัท อินโนเวทีฟ อิมเมจจิ้ง ซิสเต็มส์ จำกัด  ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ชั้นสูง เพื่อเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 60% โดยมีมูลค่าลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท และขณะนี้บริษัท ดำเนินการด้านธุรกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะสามารถเริ่มทยอยรับรู้รายได้ และกำไรตั้งแต่ไตรมาสนี้เป็นต้นไป และเชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินของบริษัท เติบโตอย่างแข็งแกร่ง คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายในระยะเวลา 4-5 ปี

การลงทุนครั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์หลักของบริษัท ที่ต้องการขยายธุรกิจผ่านการลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพ ซึ่งจะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตในกลุ่มเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับห้องผ่าตัดของบริษัท

เนื่องจากบริษัท อินโนเวทีฟฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ากลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์ขั้นสูงที่มีส่วนสำคัญสำหรับใช้งานในห้องผ่าตัด รวมทั้งเป็นการต่อยอดธุรกิจต้นน้ำของบริษัท เนื่องจากทุกการตรวจหรือรักษาในงานห้องผ่าตัดจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบการทำความสะอาด และล้างอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อทำให้ปราศจากเชื้อด้วย

 เติบโตก้าวกระโดด

การเติบโตปี 2568 ในส่วนของอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อทำให้ปราศจากเชื้อเติบโตตามเทรนด์การใช้ และวัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำ ใช้ใหม่ของรพ.ทั่วประเทศ รวมถึง มองภาพการเติบโตในต่างประเทศมากกว่าเดิมจากการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ

กลุ่มธุรกิจบำบัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด และกลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องกับห้องผ่าตัด เติบโตตามเทรนด์ของการผ่าตัดสมัยใหม่ ที่มีความแม่นยำ มีคุณภาพ ช่วยชีวิตคนได้มากกว่าเดิม ซึ่งรพ.ทั่วประเทศจะก้าวเข้าสู่การลงทุนเรื่องนี้มากขึ้น" วิโรจน์ กล่าว 

 เครื่องมือในห้องผ่าตัดโอกาสเติบโตสูง

ด้านมานะ สถาพรสกุลไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินโนเวทีฟ อิมเมจจิ้ง ซิสเต็มส์ จำกัด กล่าวว่า  การร่วมธุรกิจของ 2 บริษัทเกิดจากการมีวิสัยทัศน์เดียวกันในการมุ่งไปสู่การเป็นผู้นำเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับห้องผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสินค้าที่เกี่ยวกับห้องผ่าตัดโดยตรง 2 ตัว คือ 1.เครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปเคลื่อนที่แบบซีอาร์ม (C-ARM) มีมาร์เก็ตแชร์ในประเทศเป็นอันดับ 1 มากกว่า 70 % มียอดสั่งซื้อเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอันดับ 1 ของโลก     
เจาะ 4 กลยุทธ์ \'นำวิวัฒน์(NAM)\' นำอุปกรณ์การแพทย์แบรนด์ไทยสู่โกลบอลแบรนด์

2.ห้องผ่าตัดชนิดไฮบริด(Hybrid OR) รักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดต่างๆ และโรคหัวใจที่อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัด โดยใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพทางรังสีขั้นสูงแบบ 3 มิติ  มีมาร์เก็ตแชร์ในประเทศราว 70 % และระดับโลกประมาณ 65 %

มานะ เสริมด้วยว่า  โรคและการผ่าตัดในปัจจุบันมีความซับซ้อน ยุ่งยากมากขึ้น  เพราะฉะนั้น เครื่องมือแพทย์ที่มีศักยภาพจึงมีความจำเป็น ในการช่วยแพทย์ผ่าตัดคนไข้ โดยเฉพาะเครื่องเอกซเรย์ที่จะไม่ได้ตอบโจทย์ทางรังสี หรือสร้างภาพ 3-4 มิติเท่านั้น แต่ยังมีโปรแกรมนำทางเป็นแผนที่หลอดเลือด เช่น การผ่าตัดใส่สายสวนหัวใจ จะเห็นแบบเรียลไทม์ว่าสายสวนอยู่ตำแหน่งใด และอนาคตเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด รวมถึง เอไอเกี่ยวกับการผ่าตัด จะมีความสำคัญมากขึ้น 

 “ในปี 2567 บริษัทมียอดขายประมาณ 830 ล้านบาท (ยอดรับรู้รายได้ประมาณ 1,100 ล้านบาท) และในปี 2568 ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,500 ล้านบาท อนาคตเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด ถูกนำมาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผ่าตัด  ซึ่งยังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น  ดังนั้น ธุรกิจจึงมีโอกาสจะเติบโตอีกมาก”มานะ กล่าว   

ทั้งนี้ บริษัท อินโนเวทีฟ อิมเมจจิ้ง ซิสเต็มส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจในด้านการจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงทั้ง การตรวจวินิจฉัยโรค และให้การรักษาพยาบาล ทั้งกลุ่มโรคพื้นฐานทั่วไป โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น  อาทิ เครื่องสวนหัวใจแบบระนาบเดี่ยว และแบบสองระนาบ

เครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) ทั้งระดับพื้นฐานและระดับสูง ,เครื่องตรวจหาโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (PET/CT),เครื่องผลิตสารเภสัชรังสีสำหรับใช้งานในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งร่วมกับเครื่อง PET/CT(Cyclotron) ,เครื่อง CT Scan และเครื่อง MRI

รวมทั้ง รถให้บริการรักษาและตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ต่างๆ อาทิ รถเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบภาพดิจิทัล รถตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม(แมมโมแกรม) และรถให้การรักษาและวินิจฉัยเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองแบบเคลื่อนที่(Mobile Stroke Unit)  เป็นต้น  ซึ่งกลุ่มลูกค้า ครอบคลุมทั้ง โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน 

เจาะ 4 กลยุทธ์ \'นำวิวัฒน์(NAM)\' นำอุปกรณ์การแพทย์แบรนด์ไทยสู่โกลบอลแบรนด์


 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์