ส่องคุณภาพชีวิตผู้พิการทางการได้ยิน ใน “วันภาษามือสากล”

ส่องคุณภาพชีวิตผู้พิการทางการได้ยิน ใน “วันภาษามือสากล”

เปิดที่มา “วันภาษามือสากล” พร้อมทำความรู้จัก “ภาษามือ” ที่เข้ามามีบทบาทในวงการบันเทิงของโลก และดูว่าคนหูหนวกไทยยังประสบปัญหาอะไรอยู่บ้าง

สหประชาชาติ” กำหนดให้ 23 ก.ย. ของทุกปี เป็น “วันภาษามือสากล” (International Day of Sign Languages) ตามข้อเสนอของ “สหพันธ์คนหูหนวกโลก” หรือ WFD (World Federation of the Deaf) องค์กรสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวกประมาณ 70 ล้านคนทั่วโลก โดยรับรองฉันทามติเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2560

สาเหตุที่เลือกวันที่ 23 ก.ย. นั้น เนื่องจากเป็นวันที่ WFD ก่อตั้งขึ้น จึงถือว่าเป็นวันที่ริเริ่มการอนุรักษ์ภาษามือและวัฒนธรรมของคนหูหนวก ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวก และเข้าใจถึงสิ่งที่คนหูหนวกต้องเผชิญในแต่ละวัน สำหรับการเฉลิมฉลองวันภาษามือสากลนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2561

นักภาษาศาสตร์และนักมานุษยวิทยาได้ให้คำนิยามของ “ภาษามือ” (Sign Language) ไว้ว่า เป็นอวัจนภาษาชนิดหนึ่ง ที่ประกอบด้วย การสื่อสารด้วยมือด้วยการทำสัญลักษณ์ รวมไปถึงใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของมือ แขน และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตลอดจนการแสดงความรู้สึกผ่านทางสีหน้า และใช้ริมฝีปากสื่อความหมายแทนการใช้เสียงพูด

หากคนทั่วโลกพูดคนละภาษาฉันใด คนหูหนวกแต่ละประเทศก็มีภาษามือเป็นของตัวเองฉันนั้น ดังนั้นโดยปกติแล้วคนหูหนวกที่อยู่กันคนละประเทศไม่สามารถสื่อสารด้วยกันได้ แม้จะเป็นท่าเดียวกันแต่เมื่ออยู่คนละประเทศ ความหมายก็ไม่เหมือนกัน ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอย่างสหรัฐและสหราชอาณาจักรก็มีภาษามือที่ไม่เหมือนกัน

ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปจำนวนภาษามือทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกได้ เนื่องจากแต่ละประเทศนั้นอาจจะมีภาษามือมากกว่า 1 ภาษา โดย Ethnologue: Languages of the World เอกสารอ้างอิงที่รวบรวมภาษาที่ยังมีคนใช้งาน หรือ ภาษาที่ยังมีชีวิต (living languages) จากทั่วโลก ฉบับปี 2564 รายงานว่า พบภาษามือที่มีคนใช้งานอย่างน้อย 150 ภาษา ซึ่งภาษามืออินโดนีเซียเป็นภาษามือที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม มีภาษามือที่เป็นสากลอยู่ เรียกว่า IS (International Sign) หรือ “เกสตูโน” (Gestuno) พัฒนาและคิดค้นโดย WFD และได้ตีพิมพ์หนังสือรวบรวมคำศัพท์ในปี 2516 เพื่อให้คนหูหนวกทั่วโลกสามารถสื่อสารได้อย่างง่ายและสร้างความเข้าใจที่สำคัญ แต่กลับไม่ได้เป็นที่นิยมในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีคำศัพท์ที่น้อยเกินไป เพียงไม่กี่พันคำเท่านั้น ทำให้ส่วนมากใช้อยู่ในการประชุมงานระดับนานาชาติ เช่น งานประชุม World Federation of the Deaf และงานประกวด Miss & Mister Deaf International

เพื่อให้คนหูหนวกสามารถรับรู้ข่าวสารและสามารถเสพสื่อได้อย่างเข้าใจ ทำให้ในปัจจุบันรายการต่าง ๆ ทั้งรายการข่าวและสื่อบันเทิงมักมีล่ามภาษามือคอยบรรยายอยู่มุมล่างขวามือของจอเสมอ

อีกทั้งมีการใช้ภาษามือเป็นท่าเต้นประกอบเพลงหรือใช้ในการแสดงคอนเสิร์ตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพลง “_World” ซิงเกิลล่าสุดของ “Seventeen” วงบอยแบนด์เกาหลีชื่อดัง ที่ใช้ภาษามือของเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของท่าเต้น ตามเนื้อเพลง ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “Joy” (ความสุข) ในท่อนแร็ป “Interview” ในท่อนฮุค และ “World” ที่เป็นชื่อเพลง

 

ขณะที่ วงการเพลงไทยก็มีการใช้ภาษามือประกอบท่าเต้นในหลากหลายเพลงด้วยเช่นกัน โดยหนึ่งในเพลงที่โด่งดังและเป็นตำนานที่สุดคงจะหนีไม่พ้นเพลง “หมอกหรือควัน” ของซูเปอร์สตาร์อันดับ 1 ของประเทศ ที่ใช้ภาษามือเป็นท่าเต้นตลอดทั้งเพลง

 

นอกจากนี้ ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินหลายคนยังได้รับโอกาสในวงการบันเทิงฮอลลีวูด และมีชื่อเสียงอย่างมาก เช่น “ไนล์ ดิมาร์โค” นายแบบผู้ชนะรายการ America's Next Top Model และ Dancing with the Stars 

อีกทั้ง “CODA” ออริจินัลคอนเทนต์ของ Apple TV+ เล่าเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวของคนหูหนวก ที่ลูกสาวอยากจะเป็นนักร้อง และพ่อของเธอก็มีความฝันว่าอยากจะได้ยินเสียงร้องของลูกสักครั้ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญของชุมชนคนหูหนวก ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจถึงวัฒนธรรมของคนหูหนวกมากยิ่งขึ้น

 

CODA ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีประกาศรางวัล “Academy Awards” หรือออสการ์ ครั้งล่าสุด พร้อมด้วยรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ทำให้ “ทรอย คอตเซอร์” กลายเป็นนักแสดงชายหูหนวกคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์มาครองได้สำเร็จ โดยนักแสดงหูหนวกคนแรกที่ชนะรางวัลออสการ์คือ มาร์ลี แมทลิน ตั้งแต่ปี 2530

 

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง สถานการณ์ผู้พิการในประเทศไทยประจำปี 2564 พบว่า ในประเทศไทยมีผู้พิการที่ทำบัตรคนพิการทั้งสิ้น 2,102,384 คน โดยมีผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 393,027 คน คิดเป็น 18.69% ซึ่งสูงสุดเป็นอันเป็นอันดับที่ 2 ขณะที่ส่วนใหญ่แพทย์ไม่สามารถระบุสาเหตุของการพิการได้ถึง 179,131 คน ตามมาด้วยไม่ทราบสาเหตุถึง 177,767 คน

จากการบทความของ ราษฎร์ บุญญา อาจารย์ประจํา วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ภาษามือที่ใช้ในประเทศไทยนั้นมีด้วยกัน 4 รูปแบบ คือ

1. ภาษาท่าทาง (Gesture) เป็นการสื่อสารด้วยการใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายที่ไม่จำเป็นต้องพูดแต่ก็สามารถเข้าใจได้

2. ภาษามือครอบครัว (Home Sign) เป็นภาษามือที่คิดค้นสำหรับใช้สื่อสารกันภายในครอบครัว

3. ภาษามือตามไวยากรณ์ไทย (Signed Thai) เป็นภาษามือที่คัดลอกแบบคำต่อคำตามคำพูดในภาษาไทยที่มีรูปแบบประโยคเป็นประธาน กริยา กรรม เพื่อให้คนหูหนวกสามารถเขียนหนังสือได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์

4. ภาษามือไทย (Thai Sign Language) เป็นภาษาแรกของคนหูหนวก โดยภาษามือไทยนี้ได้รับอิทธิพลมาจากภาษามืออเมริกัน เนื่องจากในสมัยแรกเริ่มครูสอนภาษามือได้สำเร็จการศึกษามาจากสหรัฐจึงได้นำภาษามืออเมริกันมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของไทย ซึ่งภาษามือไทยนั้นมีรูปแบบไวยากรณ์ที่ไม่เหมือนกับภาษาไทย เช่น “ฉันไปโรงเรียน” ในภาษามือจะใช้ โรงเรียน+ไป ส่วนประโยคคำถามจะใช้การเลิกคิ้วเข้ามาช่วย เช่น “คุณกินข้าวหรือยัง” ข้าว + กินแล้ว + เลิกคิ้ว

แม้ว่าคนหูหนวกจะมีภาษามือในการสื่อสารเป็นของตัวเอง แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ทำให้กลุ่มคนหูหนวกส่วนใหญ่ ไม่ได้รับโอกาสในการทำงานเนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสาร กิตติพงษ์ ดีสังข์ รองชนะเลิศอันดับ 1 Misster Deaf Gay Thailand 2021 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า 

บริษัทส่วนมาก ไม่ค่อยรับคนพิการด้านการได้ยินหรือการสื่อสารเข้าทำงาน แต่มักจะเลือกผู้พิการด้านอื่นที่พูดได้มากกว่า นอกจากนี้ยังไม่มีหน่วยงานที่ช่วยในการหางานเท่าไหร่นัก

ขณะที่คนหูหนวกบางส่วนถูกเลือกปฏิบัติจากที่ทำงาน หญิงรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ ThisAble.me ถึงปัญหาในการทำงาน เธอเล่าว่ามักจะถูกมอบหมายงานมาให้ทำมากกว่าคนอื่น อีกทั้งยังถูกโยนความผิดให้เมื่อเวลามีงานผิดพลาด อีกทั้งมักจะถูกห้ามไม่ให้ใช้ TTRS หรือ ศูนย์ล่ามภาษามือออนไลน์ช่วยเหลือในการทำงาน ทั้งที่เป็นสิทธิ์ที่คนหูหนวกควรได้รับ

ด้วยปัญหาเหล่านี้จึงทำให้คนในชุมชนต้องช่วยเหลือกันเอง ณฐกร พูนนาคธนดล ประธานชมรม  I CAN DO IT กล่าวถึงจุดประสงค์การก่อตั้งชมรมว่า ต้องการให้ชมรมนี้เป็นพื้นที่เชื่อมระหว่างคนหูหนวกและคนหูดี อีกทั้งยังมีการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมรายได้ให้กับคนหูหนวกเพื่อใช้ดำรงชีพอีกด้วย

ยิ่งในยุคโควิดที่ทุกคนล้วนใส่หน้ากาก ยิ่งทำให้การสื่อสารระหว่างคนทั่วไปกับคนหูหนวกยากลำบากขึ้นไปอีก เพราะไม่สามารถอ่านปากได้ ทำให้คนหูหนวกโดนเอารัดเอาเปรียบมากยิ่งขึ้น

อีกทั้ง คนหูหนวกยังมักถูกล้อเลียนเวลาใช้ภาษามือ เหมือนไม่เคารพภาษาที่คนหูหนวกใช้จนทำให้คนหูหนวกถูกเข้าใจผิด รวมถึงการเรียกคนหูหนวกว่า “ใบ้” เพราะทำให้คนหูหนวกรู้สึกไร้ศักยภาพและลดคุณค่าอีกด้วย ซึ่งหลายคนถูกล้อเลียนจนเกิดภาวะเก็บกด ซึมเศร้า และอยากฆ่าตัวตาย 

ดังนั้นสิ่งที่คนหูหนวกอยากได้มากที่สุดอาจจะไม่ใช่อะไรที่มากไปกว่าการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เห็นคุณค่าของเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายได้อย่างเท่าเทียม


ที่มา: มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกสำนักข่าวอิศราBBCHealth ServThe MomentumThisAble.meUnited Nation