เลิก Final Tax เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม | บรรยง วิทยวีรศักดิ์

เลิก Final Tax เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม | บรรยง วิทยวีรศักดิ์

ชนกลุ่มใดเขียนกฏหมาย ย่อมกระทำไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มตนและพวกพ้อง นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม ประเทศไทยจึงไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้

เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีบางพรรคการเมืองหาเสียงว่า จะปฏิรูประบบภาษีของไทย โดยการลดภาษีบุคคลธรรมดาลงมาไม่ให้เกิน 25% เมื่อได้เป็นรัฐบาลกลับไม่ได้ลงมือตามที่สัญญาเอาไว้

โดยอ้างว่าจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอในการบริหารประเทศ แต่กลับไปลดภาษีนิติบุคคลที่มีมูลค่าเป็นแสนล้านแทน ประเทศไทยจึงมีปัญหา”รวยกระจุก จนกระจาย”ไม่เปลี่ยนแปลง

ใกล้เทศกาลเลือกตั้งอีกครั้ง พรรคการเมืองเริ่มมองหานโยบายที่สวยหรูออกมาหาเสียง ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องมั่นใจว่าเมื่อประกาศออกไปแล้วต้องทำได้ตามที่สัญญาเอาไว้ 

วันนี้ ผมมีแนวคิดหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ พรรคการเมืองใดที่คิดว่าตนเองมีความกล้าหาญที่จะนำไปปฏิบัติ ก็ยินดีให้นำไปใช้ได้เลย

ประเทศไทยมีวิธีการคิดภาษีบุคคลธรรมดาวิธีหนึ่ง ที่เรียกว่า Final Tax คือถ้าคุณถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากรายได้ที่มาจากเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแล้ว คุณไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเลย 

เลิก Final Tax เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม | บรรยง วิทยวีรศักดิ์

ทำไมจึงบอกว่าไม่เป็นธรรม
เพราะในขณะที่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะชนชั้นกลางทำงานมีรายได้ปีละ 1-5 ล้านบาท ถูกกรมสรรพากรเก็บภาษีบุคคลธรรมดาในระดับ 20-35% แต่สำหรับมหาเศรษฐีรับเงินปันผล 1,000 ล้านบาท กลับเสียภาษีเพียง 10% 

อาจจะมีใครบางคนแย้งว่า ก็บริษัทของเขาเสียภาษีนิติบุคคลไปแล้ว 20% กำไรที่ได้80% ที่เหลือ หากนำไปจ่ายเป็นเงินปันผล ต้องเสียภาษีอีก 10% เท่ากับเขาเสียภาษีเพิ่มอีก 8% รวมเป็น 28% ไม่ว่าจะคำนวณอย่างไร ก็น้อยกว่าอัตราภาษีของคนกินเงินเดือนหรือฟรีแลนซ์ทั่วไป 

อย่าลืมว่า เศรษฐีบางคนกำเงินหมื่นล้านมาเล่นหุ้น รับเงินปันผลเป็นพันล้านบาท สำหรับเขาก็แค่เสียภาษี 10% ของเงินที่ได้รับ ไม่ต้องบริหารบริษัทให้ยุ่งยาก มิหนำซ้ำกำไรที่เกิดจากการซื้อขายหุ้นก็ยังได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีอีกด้วย

กลายเป็นว่า รัฐเน้นเก็บเงินจากชนชั้นกลางมาเลี้ยงดูคนระดับล่าง แล้วไปลดภาษีให้บริษัทของเหล่าเศรษฐีจาก 30% เหลือ 20% แทน

ทำไม ผมจึงกล่าวว่า คนที่มีรายได้ปีละ 5 ล้านบาท คือชนชั้นกลาง เพราะพนักงานบริษัทที่มีรายได้เดือนละ 400,000 บาทนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ทำงานมายาวนาน กว่าจะได้รายได้ระดับนี้ อายุก็ปาเข้าไป 50 ปีแล้ว มีเวลาเก็บเกี่ยวเก็บออมก็เพียง 10 ปีก่อนเกษียณ

ลองดูว่าเงิน 400,000 บาท ของเขาต้องจ่ายอะไรไปบ้าง 

เริ่มจากการโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 100,000 บาท (จากฐานภาษีที่ 35% แต่หักค่าลดหย่อนได้บางส่วน) เหลือเงิน 300,000 บาท หากต้องการซื้อบ้านขนาด 100 ตารางวาในกรุงเทพ ราคา 15 ล้านบาท ต้องผ่อนเดือนละ 100,000 บาท เหลือ 200,000 บาท

หากต้องการมีเงินเกษียณอายุร่วมกับภรรยา คนละ 6 ล้านบาท ต้องเก็บเงินผ่านกองทุนรวมและประกันชีวิตเดือนละ 100,000 บาท 

เหลือเงินใช้ในครอบครัว 100,000 บาท สำหรับผ่อนรถ ค่าเล่าเรียนลูกในโรงเรียนเอกชน ค่าใช้จ่ายในบ้าน และภาษีสังคมตามตำแหน่งที่ได้รับ เงินไม่เหลือแล้วครับ

เลิก Final Tax เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม | บรรยง วิทยวีรศักดิ์

ถ้าคุณเปิดใจกว้างจริงๆ บ้านราคา 15 ล้านบาท เงินเกษียณอายุ 6 ล้านบาทสำหรับใช้25 ปีในตอนเกษียณ ไม่ได้เลิศหรู ถือว่าเป็นชนชั้นสูงเลย แต่กลับต้องถูกบังคับให้เสียภาษีในระดับสูงสุด

ลองจินตนาการภาพดู สำหรับชีวิตของคนๆหนึ่ง ที่ดิ้นรนต่อสู้หนีความยากจน มานะบากบั่นจนขึ้นมาเป็นผู้บริหารบริษัท สิ่งที่เขาทำได้ก็คือใช้เวลาหนึ่งชั่วอายุคน เพื่อยกระดับครอบครัว วงศ์ตระกูลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ขึ้นไปอยู่ระดับปานกลางค่อนไปทางบน แต่ไม่ถึงกับขึ้นไปเป็นชนชั้นสูง ต้องรอรุ่นลูกมาสานต่อ ดูว่าการศึกษาที่พ่อแม่วางรากฐานให้นั้นจะขยับฐานรายได้ขึ้นบนให้เร็วกว่ารุ่นพ่อหรือไม่

ผมไม่เถียงว่า คนเหล่านี้ต้องเสียภาษีบ้าง แต่ขนาดให้เสียภาษีถึงระดับสูงสุด ในขณะที่เศรษฐีนักลงทุนรับเงินปันผลเป็น 100 ล้านบาท กลับเสียภาษีแค่ 10%

ใครจะมองว่า รายได้เดือนละ 400,000 บาทในบั้นปลายของชีวิตถือว่าดีเลิศแล้ว สมควรเก็บภาษีในระดับสูงสุด เพื่อเอามาพัฒนาประเทศ ผู้เขียนก็ไม่ว่ากระไร แต่ใคร่บอกพวกเราว่า บุคคลเหล่านี้เป็นเพียงเป้าหลอก ที่มากลบเกลื่อนคนที่มีรายได้สูงจริงๆ ระดับเศรษฐีที่มีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล ปีละ 100 ล้านบาทขึ้นไป แต่เสียภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 10%

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีคนอีกกลุ่มที่น่าเห็นใจยิ่งกว่า คือคนที่ทำธุรกิจอยู่ในกลุ่มภาษีบุคคลธรรมดา 40(2) ที่ต้องเสียภาษีระดับสูงสุด ทั้งที่รายได้ที่ได้รับยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายเลย

เลิก Final Tax เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม | บรรยง วิทยวีรศักดิ์

บรรยง วิทยวีรศักดิ์

เขาเหล่านั้นทำธุรกิจในรูปแบบ freelance ซื้อรถเอง ซื้อโน้ตบุ๊คเอง ออกค่ารับรองลูกค้าเอง แต่หักค่าใช้จ่ายไม่ได้ ในขณะที่ในต่างประเทศยินยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้แล้ว ไม่ว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ หรือฮ่องกง

ถ้าเราต้องการสร้างความเป็นธรรม เราต้องให้อัตราภาษีสูงสุดของบุคคลธรรมดามีไม่เกินกว่าของนิติบุคคล พร้อมทั้งให้หักค่าใช้จ่ายตามจริง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ใช้ในการคำนวณภาษีในรูปบริษัท ที่หักค่าใช้จ่ายได้สารพัด แต่สำหรับของบุคคลธรรมดาหักค่าใช้จ่ายได้จำกัด

ทั้งยังต้องปรับแก้ให้ยกเลิก Final tax ที่เคยยกเว้นภาษีให้ หลังหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเปลี่ยนเป็นว่าใครที่มีรายได้ 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาปกติเหมือนกันทุกคน โดยขยับฐานภาษีสูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดาไปที่คนมีรายได้ 10 ล้านบาทขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังต้องเริ่มพิจารณานำภาษีความมั่งคั่ง (Wealth tax) อย่างที่อังกฤษและสวิสเซอร์แลนด์นำมาใช้  โดยการเก็บภาษีจากสินทรัพย์สุทธิ ส่วนเกินจากทรัพย์สิน 5 แสนปอนด์หรือ 22 ล้านบาท คล้ายๆ ภาษีที่ดิน แต่นับเฉพาะสินทรัพย์สุทธิส่วนที่เกินจากหนี้สิน

โดยของไทยเราอาจจะเริ่มที่มูลค่าสุทธิส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทก็ได้  แล้วนำรายได้เหล่านี้มาดูแลคนระดับล่างที่เดือดร้อนจะดีกว่า

ตอนนี้ ในหลายประเทศเริ่มมีการตระหนักถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยการพยายามเก็บเงินจากคนรวยมากยิ่งขึ้น อย่างในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีไบเดน ได้พูดถึง Billionaire minimum income tax เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีของเศรษฐี ด้วยวิธีวางแผนภาษีต่างๆ จนแทบไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเลย

ถ้านักการเมืองไทยอยากจะเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองจริง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ท่านต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้ก่อน เรื่องที่รัฐเน้นเก็บเงินจากชนชั้นกลาง แต่ละเลยการเก็บภาษีจากชนชั้นสูง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าท่านเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ของประเทศจริง

สำหรับพวกเรา ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ เราต้องรู้จักจำ ใครหาเสียงแล้ว ตระบัดสัตย์ อย่าได้เลือกเข้ามาอีก ทำให้เขารู้ว่า เสียงของเรามีค่า อย่าให้พวกเขามาตราหน้าว่า คนไทยไร้การศึกษา ลืมง่าย ขายฝันแป๊บเดียว ก็เลือกเขาเข้ามาอีก
ขอให้อำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชนจริงๆเถอะครับ
*เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับองค์กรที่สังกัด