น่ารัก หรือทรมานสัตว์ การแสดง วาฬ - โลมา สร้างความทุกข์ให้มันมากกว่าที่คิด
ปัจจุบันหลายประเทศรณรงค์ให้ยกเลิกการแสดงของสัตว์จำพวก วาฬ และโลมา เนื่องจากไม่ต้องการให้สัตว์น้ำต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกกักขัง แต่ในไทยแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์น้ำแต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้
วาฬ และโลมา ถือว่าเป็นสัตว์น้ำลำดับต้นๆ ที่ได้รับความนิยมในการนำไปฝึกฝนเพื่อทำการแสดงทั้งในสวนสัตว์และอควาเรียม เนื่องจากวาฬถือเป็นสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนโลมาก็เป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่ฉลาดที่สุดในโลก จึงไม่แปลกที่พวกมันสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว และทำกำไรได้จำนวนมาก
แม้ว่าในประเทศไทย จะมีการจัดแสดงโลมา และวาฬ ให้เห็นอยู่หลายแห่ง แต่ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์และคุ้มครองโลมา และวาฬ เช่นกัน ได้แก่ พ.ร.บ. การประมง พ.ศ.2490 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ส่งผลให้วาฬ และโลมา ในประเทศไทย จำนวน 22 ชนิด จาก 25 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ยกเว้นได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่เนื่องจากสวนสัตว์ และอควาเรียมเป็นสถานที่ ที่ได้รับอนุญาตพิเศษ ให้มีการครอบครองสัตว์ทั้งสองชนิดดังกล่าวได้อย่างถูกกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 33 ในเรื่องการจัดการสวนสัตว์ (ก่อนหน้านี้ใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ในการจัดตั้งสวนสัตว์) ทำให้ทั้งวาฬ และโลมากลายเป็นสัตว์น้ำที่สร้างชื่อเสียง และอยู่คู่สวนสัตว์ไทยในหลายๆ จังหวัดมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะโลมาที่ไม่ใช่เพียงแค่อยู่ในสถานที่โชว์อย่างเดียว แต่พวกมันยังถูกฝึกให้ทำการแสดงอีกด้วย แต่รู้หรือไม่? การที่สัตว์เฉลียวฉลาดอย่างพวกมันถูกจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในพื้นที่แคบๆ ของสวนสัตว์ทำให้พวกมันยิ่งทุกข์ทรมาน เพราะมันรู้ว่ากำลังถูกกักขัง และมีความคิดที่ซับซ้อนไม่แพ้มนุษย์
- วาฬ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำไมถูกนำมาแสดงโชว์?
แม้ว่า “วาฬ” หรือ Whale จะใช้ชีวิตอยู่ในน้ำแต่วาฬก็ไม่ใช่ปลา พวกมันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเลือดอุ่น ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นนักล่าแห่งท้องทะเล เมื่อโตเต็มวัยมันมีน้ำหนักได้มากถึง 80-180 ตัน แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์
สำหรับวาฬที่สามารถพบได้ในไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 17 ชนิด ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ วาฬบาลีน (Baleen Whale) และวาฬชนิดมีฟัน (Toothed Whale) พบได้ทั้งในอ่าวไทย และทะเลฝั่งอันดามัน มีรูปร่างให้เพรียว และเนื่องจากยังใช้ปอดในการหายใจ จมูกหรือช่องหายใจจึงอยู่บนสุดของส่วนหัว เพื่อสะดวกในการหายใจ ซึ่งท่อหายใจกับช่องปากจะแยกออกจากกันเพื่อสะดวกในการกินอาหารใต้น้ำ และเพื่อลดการสูญเสียความร้อนที่ออกมากับอากาศ อีกทั้งพวกมันสามารถดำน้ำได้นาน โดยเฉพาะวาฬหัวทุย (Physeter macrocephalus) สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 3,000 เมตร และพวกมันสามารถสื่อสารกันด้วยระบบส่งสัญญาณเสียงสะท้อนกลับ (echo) ใช้ในการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวและการหาอาหาร
แม้ว่าวาฬจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน หรือเป็นนักล่าที่เก่งกาจเพียงใด แต่สุดท้ายพวกมันก็พ่ายแพ้ให้กับน้ำมือมนุษย์ ในที่นี้ไม่ใช่แค่เทศกาลล่าวาฬในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มันยังเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่ถูกนำมากักขังในอควาเรียมทั่วโลกมากที่สุด เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม แม้ว่าทางผู้ดูแลจะจัดหาอาหาร และปรับอุณหภูมิน้ำให้ใกล้เคียงกับทะเลมากที่สุด แต่นั่นก็ไม่มีทางเทียบได้กับทะเลธรรมชาติของจริง โดยเฉพาะการเลี้ยงดูวาฬเพชฌฆาต เมื่อมันถูกนำมาเลี้ยงในอควาเรียมทำให้พวกมันสูญเสียสัญชาตญาณการล่าเหยื่อตามธรรมชาติไป
ยกตัวอย่างชีวิตอันน่าเศร้าของ “วาฬเพชฌฆาต” ตัวหนึ่งที่ชื่อ ทิลิคุม ในสวนสัตว์น้ำ SeaWorld รัฐแซนดีเอโก สหรัฐอเมริกา ชีวิตของมันถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Blackfish ระบุว่า นอกจากอาการเจ็บปวดทางร่างกายแล้ว มันยังได้รับความบอบช้ำทางจิตใจจากการถูกกักขังในที่แคบเป็นเวลานาน ทำให้หลังจากภาพยนตร์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ส่งผลกระทบให้ความนิยมในการชมแสดงโชว์ของวาฬ และโลมาของผู้คนลดลงไปบางส่วน แต่กระนั้น ก็ไม่ได้ทำให้การเพาะพันธุ์วาฬเพชฌฆาตตามสวนสัตว์ต่างๆ ลดลง แม้ว่าในปี 2559 SeaWorld ประกาศยุติการเพาะพันธุ์วาฬเพชฌฆาต แต่ยังมีการบังคับใช้งานวาฬสายพันธุ์อื่น และโลมาต่อไปในการแสดงโชว์ให้แก่นักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ “วาฬสีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ เนื่องจากเป็นที่ต้องการของนักล่ามาตั้งแต่ช่วงปี 1960 เมื่อน้ำมันของวาฬเป็นที่ต้องการของมนุษย์ ไปจนถึงการล่าเพื่อมาเป็นอาหาร และพวกมันให้กำเนิดลูกเพียง 1 ตัวในระยะเวลา 2-3 ปี แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเข้มงวดเรื่องห้ามล่าวาฬมากขึ้นแต่จำนวนประชากรวาฬยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาขยะในท้องทะเล
- โลมาเองก็เครียด! เมื่อถูกกักขังในที่แคบเป็นเวลานาน
“โลมา” หรือ Dolphin เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำเช่นเดียวกับวาฬ พวกมันมีอวัยวะทุกส่วนเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป แต่มีการปรับเปลี่ยนอวัยวะบางส่วนเพื่อให้ใช้ชีวิตในน้ำได้สะดวกขึ้น เช่น มีจมูกอยู่กลางกระหม่อม เป็นต้น
มีข้อมูลหลายแหล่งระบุตรงกันว่า “โลมา” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหนึ่งชนิดที่ถูกจับมาเลี้ยงในสวนสัตว์และอควาเรียมมากที่สุด โดยสายพันธุ์ที่สวนสัตว์นิยมนำมาจัดแสดงกันมาก ก็คือ “โลมาปากขวด” (พบมากถึง 80% ของโลมาทั้งหมด) และเนื่องจากโลมาเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ฉลาดที่สุดในโลกทำให้พวกมันมีความคิดซับซ้อนไม่แพ้มนุษย์ ดังนั้นเมื่อมันถูกกักขังไว้ในสถานที่เลี้ยงดูแคบๆ พวกมันก็รู้ตัวได้ว่าถูกกักขัง และส่งผลให้มันมีความเครียดมากขึ้น
นอกจากนี้จากงานวิจัยของ เพอร์นิล เมเยอร์ โซเรนเซน นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยบริสทอล ร่วมกับศูนย์วิจัยโลมาและมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ เผยว่า พวกเขาทราบจากผลวิจัยก่อนหน้านี้แล้วว่า “มลพิษทางเสียง” ส่งผลกระทบต่อสัตว์ต่างๆ แต่การวิจัยครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาต่อเนื่องไปอีกว่า เสียงส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันของสัตว์อย่างไร และจากการศึกษาพบว่า เมื่อโลมาเจอกับระดับเสียงที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมมนุษย์ โลมาจะผิวปากนานเป็นสองเท่า และทำเสียงให้ดังขึ้นเพื่อเอาชนะเสียงรบกวนต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ เมื่อเสียงจากกิจกรรมของมนุษย์ดังมากเกินไป ทำให้โอกาสที่พวกมันจะเจอโลมาตัวอื่นๆ ลดลง เพราะไม่สามารถสื่อสารกันได้ ส่งผลให้จำนวนโลมาเกิดใหม่ลดน้อยลงไปด้วย
ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำเท่านั้น แต่กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนบกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง “ช้าง” ก็พบกับปัญหาเดียวกัน ทั้งการถูกบังคับให้แสดง ถูกจับขังไว้ในสถานที่แคบๆ และอาจจะถูกขังไว้ในกรงหากเป็นสวนสัตว์ที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก รวมถึงถูกบังคับให้พานักท่องเที่ยวขี่หลังเดินเล่นเป็นเวลานาน และหนักที่สุดก็คือ การที่ลูกช้างที่ถูกจับแยกจากแม่ และนำมาขอทานตามถนนในเมือง กรณีเหล่านี้ก็เป็นอีกพฤติการณ์ที่ทำให้ช้างไทยในธรรมชาติลดจำนวนลงไปมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า วาฬ และโลมา จะเป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ในท้องทะเล แต่หากมนุษย์ยังหาความบันเทิงจากการดูพวกมันแสดงในพื้นที่แคบๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งที่ทำให้พวกมันสูญพันธุ์ไปในที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก, ด่านตรวจสัตว์น้ำ ภูเก็ต, ป่าสาละ, ข้อมูลกลางด้านทรัพยากรทะเล และชายฝั่ง, Plook Friends, Thaiwhales และ Postposmo
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์