เงื่อนไขการหักค่าลดหย่อนบุตร | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง
ประมวลรัษฎากร อันเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดเก็บภาษีอากร กำหนดให้บุคคลทุกคนที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามจำนวนที่กำหนด มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โดยนำเงินได้พึงประเมินทั้งหมดที่ได้รับมาหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งหักค่าลดหย่อนที่พึงได้รับตามกฎหมาย หากคงเหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิ ต้องเสียภาษีในอัตราที่กฎหมายกำหนดตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้
จากหลักการดังกล่าวข้างต้น “ค่าลดหย่อน” จึงเป็นรายการที่มีความสำคัญต่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยค่าลดหย่อนเป็นรายการที่ต้องนำมาหักออกจากเงินได้พึงประเมิน และเป็นรายการที่มีขึ้นเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้เสียภาษีอากร
ปัจจุบัน ประมวลรัษฎากรกำหนดค่าลดหย่อนไว้หลากหลายรายการตามมาตรา 47 ซึ่งสามารถจำแนกออกได้หลายกลุ่ม ได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนครอบครัว ค่าลดหย่อนส่งเสริมการออมและการลงทุน และค่าลดหย่อนทรัพย์สินและการบริจาค
สำหรับรายการค่าลดหย่อนบุตรนั้น ประมวลรัษฎากรกำหนดเงื่อนไขการหักค่าลดหย่อนบุตรสามารถสรุปได้ดังนี้คือ
- บุตรที่จะนำมาหักค่าลดหย่อนต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
- บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปีและยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา
- บุตรยังไม่มีเงินได้พึงประเมินหรือมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วไม่เกิน 30,000 บาท
- จำนวนค่าลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท ส่วนบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้สามารถหักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
หากพิจารณาแล้วจะพบว่า ประมวลรัษฎากรกำหนดให้นำหลักเกณฑ์ประเภทของบุตร จำนวนบุตร อายุของบุตร และการศึกษาของบุตรมาเป็นเงื่อนไขของการหักค่าลดหย่อนบุตร
ทั้งนี้ หากพิจารณากฎหมายการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศต่างๆ แล้ว มีการกำหนดให้มีหลักการหักค่าลดหย่อนบุตรเหมือนกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีการนำหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้มากำหนดเป็นเงื่อนไขของการหักค่าลดหย่อนบุตร
1. อายุของบุตร เช่น ของประเทศไทยกำหนดให้บุตรมีอายุไม่เกิน 25 ปีในวันสิ้นปีภาษี 2565 เป็นต้น ประเทศอื่นๆ อาจกำหนดอายุของบุตรแตกต่างกันไป เช่น อายุไม่เกิน 17 ปีในวันสิ้นปีภาษี เป็นต้น
2. ความสัมพันธ์ระหว่างบุตรกับผู้เสียภาษีอากร โดยทั่วไปแล้วบุตรที่ผู้เสียภาษีอากรจะนำมาหักค่าลดหย่อนบุตรได้นั้น จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้เสียภาษีอากร
3. การอยู่ในความอุปการะ กล่าวคือ บุตรดังกล่าวจะต้องอยู่ในความอุปการะของผู้เสียภาษีอากร โดยผู้เสียภาษีอากรมีหน้าที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดูบุตรคนดังกล่าว หรือบุตรคนดังกล่าวเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถที่ต้องได้รับการดูแล
4. ถิ่นที่อยู่ของบุตร โดยบุตรจะต้องอาศัยอยู่กับผู้เสียภาษีอากรในห้วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1 ปี เป็นต้น หรือบุตรต้องมีถิ่นที่อยู่ภายในประเทศเดียวกับผู้เสียภาษีอากร
5. การไม่มีเงินได้ของบุตร บุตรที่นำมาหักค่าลดหย่อนบุตรนั้นจะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกินกว่าจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากหากบุตรเป็นผู้มีรายได้แล้ว บุตรคนดังกล่าวจะถือเป็นผู้เสียภาษีอากรอีกรายหนึ่งแยกต่างหากจากผู้เสียภาษีอากรที่เป็นบิดาหรือมารดา
4. สัญชาติของบุตร โดยทั่วไปแล้วบุตรจะต้องมีสัญชาติเดียวกับผู้เสียภาษีอากร หรืออาจมีสัญชาติที่แตกต่างกับผู้เสียภาษีอากรได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกฎหมาย
5. จำนวนค่าลดหย่อน มีการกำหนดจำนวนค่าลดหย่อนมากน้อยแตกต่างกันไป เช่น บุตรคนละ 30,000 บาท เป็นต้น
6. รายได้ของผู้เสียภาษีอากร ในบางประเทศมีการกำหนดว่า ผู้เสียภาษีอากรมีสิทธินำบุตรมาหักค่าลดหย่อนเมื่อตนเองมีจำนวนรายได้ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากมีจำนวนรายได้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว ก็ไม่สามารถนำบุตรมาหักค่าลดหย่อนได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดรายการและเงื่อนไขการหักค่าลดหย่อนบุตรดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ผู้เสียภาษีอากรอาจใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรหรือไม่ก็ได้
หากผู้เสียภาษีอากรประสงค์จะใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนบุตร ก็ต้องใช้สิทธิตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด แต่หากผู้เสียภาษีอากรไม่ประสงค์จะใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรแล้ว ก็มิได้เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด
เนื่องจากการหักค่าลดหย่อนบุตรเป็นเพียงการบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้เสียภาษีอากรเท่านั้น โดยสรุปแล้ว กฎหมายกำหนดให้มีการหักค่าลดหย่อนได้หลากหลายรายการ ค่าลดหย่อนบุตรเป็นเพียงรายการหนึ่งในบรรดารายการค่าลดหย่อนที่ผู้เสียภาษีอากรพึงได้รับสิทธิการบรรเทาภาระการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อันมีผลทำให้เงินได้สุทธิของผู้เสียภาษีอากรมีจำนวนลดลง เมื่อเงินได้สุทธิมีจำนวนลดลงแล้วก็จะส่งผลทำให้เสียภาษีในอัตราภาษีแบบขั้นบันไดที่ลดลงตามไปแล้ว ซึ่งจะทำให้มีจำนวนภาษีที่ต้องชำระน้อยกว่า
ทั้งนี้ หากผู้เสียภาษีอากรมีสิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรแล้ว ก็ควรใช้สิทธิดังกล่าวตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด