"แสนสิริ"กับการดูแลคุณภาพชีวิตเด็กและแรงงานหญิงข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้าง
ปัญหาของกลุ่มภาคอสังหาริมทรัพย์ และผู้รับเหมาะที่เผชิญมาอย่างยาวนาน คือ การขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง เพราะแรงงานไทยไม่นิยมทำงานหนักหรืองานก่อสร้าง อีกทั้งประชากรวัยแรงงานลดลง มาดู"แสนสิริ"ดูแลคุณภาพชีวิตเด็กและแรงงานหญิงข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้างอย่างไร
Keypoint:
- แรงงานไทย ไม่นิยมทำงานก่อสร้าง ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทน เดือนเม.ย.2565 มีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ 2,003,390 คน
- ภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม ระดมเพิ่มคุณภาพชีวิต สิทธิพื้นฐานที่เด็ก-แรงงานหญิงข้ามชาติควรได้รับ แต่ในทางปฎิบัติจริงทำได้ยาก
- นำร่อง 10 แคมป์ก่อสร้างแสนสิริ ร่วมมือศุภนิมิต สร้างความเข้าใจ ตระหนักดูแลสิทธิแรงงานหญิงข้ามชาติ
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประมาณการว่าประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน หรือ 65 % ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคน หรือ 56 %ในปี 2583 อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุในปี 2563 เท่ากับ วัยแรงงาน 3.6 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน
นอกจากนั้นคาดว่าในปี 2583 จะลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ขณะที่ข้อมูลแรงงานในระบบประกันสังคม พบว่า พนักงานลูกจ้างในระบบประกันสังคม (มาตรา 33) เมื่อเม.ย. 2563 มีจำนวนกว่า 11.73 ล้านคน ข้อมูล ณ เม.ย. 2565 มีจำนวน 11.23 ล้านคน หายไปกว่า 5 แสนคน ที่ยังไม่สามารถกลับสู่ระบบได้ ส่งผลให้ประเทศไทยมีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาจำนวนมาก เพื่อทำงานรับจ้าง และงานก่อสร้างต่างๆ
ประชากรแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามระบบถึงเดือนเม.ย.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,003,390 คน แบ่งเป็นแรงงานประเภททั่วไป 1,778,776 คน เป็นแรงงานจากเมียนมามากที่สุด 1.26 ล้านคน กัมพูชา 3.46 แสนคน ลาว 1.68 แสนคน ประเภทแรงงานฝีมือ 1.69 แสนคน และประเภทชนกลุ่มน้อยและแรงงานข้ามชาติที่จ้างตลอดชีพ อีก 8.5 หมื่นกว่าคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เรื่องเล่า"ครูจิ๋ว-ทองศรี"ครูข้างถนนสะท้อนเด็กตกขอบ เรียนฟรีไม่มีจริง
ครม.ไฟเขียวมาตรการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 66 ขยายเวลาลงทะเบียนเพิ่ม
ปลัด มท.สั่งอำนวยความสะดวกทำ “บัตรชมพู” สำหรับ “แรงงานต่างด้าว” ประมง
โรงแรมรับมือวิกฤติคนขาดแคลน! จี้รัฐ MOU นำเข้ากำลังเสริม "แรงงานต่างด้าว"
ริเริ่มคุณภาพเด็กข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้าง
การเข้ามาของแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงวัยแรงงานที่เข้ามาเท่านั้น แต่ได้มีการโยกย้ายครอบครัวเข้ามาอยู่ มาครบทั้งพ่อ แม่ ลูก โดยเข้ามาทั้งในรูปแบบถูกต้องตามกฎหมาย และผิดกฎหมาย ดังนั้น การดูแลให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิ หรือสวัสดิการตามที่รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดจึงเป็นไปได้ยาก รวมถึงความรู้สึกของแรงงานต่างด้าวต่อหน่วยงานข้าราชการไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ หรือการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การศึกษาของเด็กๆ เป็นเรื่องยาก
หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันแก้ปัญหาให้แก่แรงงานต่างด้าว อย่าง โครงการเข้าถึงแรงงานหญิงข้ามชาติ และครอบครัวและครอบครัวในบ้านพักแรงงานก่อสร้าง ด้วยการสนับสนุนจากองค์การแรรงงานระหว่างประเทศ ผ่านโครงการความปลอดภัยและยุติธรรม
โครงการ REACH สามารถช่วยแรงงานหญิงข้ามชาติและครอบครัวที่อาศัยและทำงานในสถานที่ก่อสร้าง 10 แห่ง ซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี
ทั้งนี้ แรงงานหญิงข้ามชาติมีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบผ่านกิจกรรมลงพื้นที่และการส่งต่อเคสเพื่อเข้ารับบริการของภาครัฐ และส่งเสริมให้เกิดการ บูรณาการ การคุ้มครองเด็กและสตรีทั่วทั้งกลุ่มธุรกิจของแสนสิริ
'แสนสิริ' ระบุดูแลเด็กข้ามชาติเชิงปฎิบัติจริงเป็นเรื่องยาก
นายสมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff ฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) เล่าว่าก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการกับทางมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย แสนสิริได้มีโอกาสดำเนินการในเรื่องสิทธิเด็กกับทางยูนิเชฟ โดยเป็นการดูแลเรื่องการศึกษา และสิทธิ สวัสดิการที่เด็กต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้างควรจะได้รับ ซึ่งพบว่าจะสามารถกำหนดในเชิงนโยบายได้ แต่ในเชิงปฎิบัติจริงนั้นเป็นเรื่องยาก
โดยเฉพาะเรื่องการให้เด็กได้เข้าเรียนหนังสือ เพราะต้องยอมรับว่าพ่อแม่แรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งเมื่อเข้ามาต้องมาการย้ายแคมป์ก่อสร้างไปหลายๆ จุด บางที่อยู่ได้เพียง 3-4 เดือน ก็ต้องย้าย ทำให้เขาไม่ได้ต้องการให้ลูกหลานไปเรียนหนังสือ ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษา โรงเรียนที่อยู่บริเวณแคมป์ก่อสร้างก็ไม่สามารถรับเด็กเข้าทำงาน เนื่องด้วยภาษา และความแตกต่างบางอย่างที่ถูกสังคมมอง
“ในการดูแลเด็กข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้าง สิ่งที่ทำได้ คือ ให้เด็กมีพื้นที่ปลอดภัย เพราะการจะให้เด็กได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่เหมาะสม หรือสภาพแวดล้อมที่จะเอาครูเข้ามาสอนเด็กในแคมป์ก่อสร้างนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะเด็กต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้างมีหลายระดับ ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุหลายปี ดังนั้น การจะดูแลเด็กต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้าง ส่วนหนึ่งต้องทำความเข้าใจกับผู้รับเหมา และขอความร่วมมือไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองต่างด้าวที่ต้องดูแลเด็ก”นายสมัชชากล่าว
ข้อจำกัดสิทธิเด็กข้ามชาติ
‘แสนสิริ’ เป็นผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ไม่มีแรงงานต่างด้าว แต่ต้องทำงานร่วมกับผู้รับเหมา ซึ่งแรงงานของผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าว เนื่องจากแรงงานไทยไม่นิยมทำงานก่อสร้าง ดังนั้น สิ่งที่แสนสิริเคยทำในการดูแลเด็ก คือ สิทธิพื้นฐาน เช่น ฉีดวัคซีนให้เด็ก นำครูมาดูแลเด็ก และพยายามประสานกับทางโรงเรียน จัดพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ในแคมป์ก่อสร้าง แต่ทั้งหมดนั้น ทำได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะมีข้อจำกัดมากมาย
โครงการเข้าถึงแรงงานหญิงข้ามชาติ และครอบครัวและครอบครัวในบ้านพักแรงงานก่อสร้าง ที่ทางแสนสิริ ได้เข้าร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิต เป็นการดูแลเรื่องสิทธิสตรี ที่ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยการนำร่องใน 10 โครงการนี้ หากประสบความสำเร็จ มีผู้นำไปต่อยอดทางแสนสิริก็ยินดี
นายสมัชชา กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่าผู้รับเหมาส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการแรงงานต่างด้วยโดยตรง เนื่องจากแรงงานบางส่วนอาจจะไม่ได้เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากกว่าจะขออนุญาตเรื่องแรงงานต่างด้าวจากหน่วยงานรัฐได้ต้องใช้เวลานาน แต่การทำงานต้องทำโดยทันที
อีกทั้ง แรงงานต่างด้าวเองมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีกับหน่วยงานรัฐ หลายคนมักจะไม่ให้ความร่วมมือ แสนสิริได้เข้าไปพูดคุย เกลี่ยกล่อม ทำความเข้าใจ และให้ความรู้แก่ผู้รับเหมา ถึงสิทธิประโยชน์ ประกันสังคมต่างๆ โดยมีทีมงานทางศุภนิมิต ได้เข้าทำงานร่วมกับเรา
“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีเรื่องระยะเวลาการก่อสร้าง แรงงานยังเป็นปัญหา สภาพแวดล้อมในไทย บางครั้ง เราใช้แรงงานถูกกฎหมาย แต่บางครั้งก็อยู่ในขั้นตอนการยื่นขออนุญาต มีความคลุมเครือว่าถูกหรือไม่ อีกทั้งผู้รับเหมาไม่ค่อยอยากเอาแรงงานต่างด้าวมาฝึกอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ และมีผู้รับเหมาะ 4-5 ราย ที่มองว่าไม่ใช่หน้าที่พวกเขาควรจะทำ”นายสมัชชา กล่าว
เพิ่มความเข้าใจเรื่องสิทธิพื้นฐานแก่แรงงานหญิงข้ามชาติ
ใน 10 โครงการที่ได้ดำเนินการ จะส่งเสริมให้แรงงานหญิงข้ามชาติมีความเข้าใจมากขึ้น เข้าใจสิทธิพื้นฐาน อนามัยเจริญพันธุ์ เรื่องความรุนแรงในแคมป์คนงานก่อสร้าง พวกเขาต้องไปปรึกษาใคร ไปแจ้งใคร ซึ่งแรงงานที่เป็นสตรีให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้
“ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า โครงการดังกล่าว ทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวหญิงอันส่งไปถึงแรงงานทุกกลุ่มวัยจะดีขึ้น หรือไม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจให้แก่องค์กร เพราะแรงงานเป็นกลุ่มที่เปราะบาง หากองค์กร ภาคเอกชนมีความสามารถเพียงพอในการดูแลการบริหารจัดการได้จะส่งผลไปถึงคุณภาพของงาน และเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องดูแลแรงงานต่างด้าว”นายสมัชชา กล่าว
ด้าน ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ถือเป็นภาคสังคม องค์กรการกุศลที่จัดตั้งมามาแล้ว 70 ปี กว่า และได้มีการช่วยเหลือในกลุ่มเปราบางเรื่องทุนเปราะบางในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยจะแบ่งงานออกเป็น 2 ภาคส่วนใหญ่ๆ นั้นคือ ดูแลเด็กในพื้นที่ชายแดนต่างๆ และเด็กและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งในช่วงโควิด-19 ต้องยอมรับว่า การเข้าไปดูแลทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นไปได้ยากมากขึ้น เนื่องจากถูกข้อจำกัดตามการควบคุมโรค แต่เมื่อโควิด-19 ชะลอตัว ก็ได้มีการดำเนินการโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
“โครงการดังกล่าวที่ทำร่วมกับ แสนสิริ เป็นการดำเนินงานเพื่อให้แรงงานหญิงได้รับรู้ และตระหนักสิทธิประโยชน์พึ่งรับตามกฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องให้แรงงานมีความเสี่ยงน้อย ความรุนแรงต้องไม่เกิดขึ้น การให้บริการภาครัฐ หรือถ้าเกิดละเมิดจะต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือ และป้องกันเรื่องต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น รวมถึงให้แรงงานข้ามชาติ และครอบครัวตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ แรงงาน การปกป้องคุ้มครองสิทธิ การรักษาพยาบาลเป็นต้น”ดร.สราวุธ กล่าว
ผลการดำเนินงาน10 โครงการเบื้องต้น
ทั้งนี้ ระยะเวลาในการดำเนินโครงการดังกล่าว มีทั้งหมด 15 เดือน (เมษายน พ.ศ. 2565 - มิถุนายน พ.ศ. 2566) โดยจะมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 คน เป็นหญิง 35 คน ชาย 15 คน ซึ่งได้รับการสรรหา แรงงานและฝึกอบรมโครงการนี้ และจะขยายต่อไปยังแรงงานข้ามชาติจำนวน 600 คน แบ่งเป็น แรงงานชาย 400 คนและเด็กข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในสถานที่ก่อสร้างจำนวน 200 คน และผู้รับเหมาก่อสร้างจําานวน 125 ราย ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ก่อสร้างของบริษัท แสนสิริ ท้ัง 10 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล จาก 10 แคมป์ก่อสร้างในโครงการของแสนสิริ พบว่าเกิน 50% ของแรงงานที่ค้นพบ 85.7% จะพูดไทยไม่ได้ 15% ไม่เคยเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐไทย 95% ไม่ได้มีการลงนามกับสัญญาว่าจ้างกับนายจ้าง และ 58% ของกลุ่มแรงงานที่เป็นผู้หญิงขาดความรู้เรื่องการคุมกำเนิดและไม่มีการป้องกัน และ87%แรงงานที่เป็นผู้หญิง ถูกละเมิด ขณะที่ เด็กๆ หรือลูกหลานแรงงานข้ามชาติ 72% ไม่ได้รับการศึกษา
จากข้อค้นพบนำมาสู่สิ่งที่ศุภนิมิต ดำเนินการ คือ ได้มีการคัดเลือกอาสาสมัครเข้ามาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย และสิทธิที่แรงงานข้ามชาติควรได้รับ ก่อนจะลงไปในพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงมีการสอนเรื่องภาษา เพื่อลดอุปสรรคในการสื่อสาร
"นอกเหนือจากกลุ่มแรงงานแล้ว ศุภนิมิตได้ให้ความรู้แก่กลุ่มผู้รับเหมาร่วมด้วย ซึ่งเบื้องต้น ผู้รับเหมาจะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และมีแนวคิดที่จะไปดูแลแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อแสนสิริได้เปิดโอกาสให้ศุภนิมิตลงไปในพื้นที่แคมป์ก่อสร้าง เกิดการทำงานร่วมกันที่เห็นผลเป็นรูปแบบ และมีการขยายเครือข่ายภาคีต่างๆ ร่วมด้วย" ดร.สราวุธ กล่าว
'ศุภนิมิต'ได้มีการส่งเสริมทักษะอาชีพให้แก่แรงงานหญิงข้ามชาติ รวมถึงทักษะด้านที่แรงงานหญิงต้องการ อาทิ ทักษะการแต่งหน้า เพื่อเสริมบุคลิก และเป็นการเสริมพลังให้แก่ผู้หญิง ภูมิใจในสิทธิ และจะได้สานต่อในระยะยาว
ดร.สราวุธ กล่าวด้วยว่า แม้ตอนนี้จะไม่ได้มีโครงการดูแลคุณภาพชีวิต หรือการศึกษาเด็กข้ามชาติด้วยข้อจำกัดต่างๆ แต่การดำเนินงานในโครงการดูแลแรงงานหญิงข้ามชาติ ทำให้เขามีความสุขมากขึ้น เป็นแรงบวก ซึ่งจริงๆ แสนสิริ มีความพยายามที่จะให้ผู้รับเหมาดูแลแรงงานข้ามชาติที่มีความชัดเจนมากขึ้น บางข้อกำหนดเป็นแนวคิดแต่มีการกำหนดอยู่ในสัญญาว่าจ้าง เกิดกลไกดูแลเข้าถึงสิทธิ ถ้าแสนสิริทำสำเร็จอย่างแท้จริง ก็จะสามารถขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้
"ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประชาชนทุกคนควรมองแรงงานข้ามชาติเป็นเสมือนพี่น้องแรงงายไทย อยากให้ทุกคนเปิดใจมากขึ้น เพราะบ้านเราจะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งในภาคบริการเกือบทั้งหมดต้องมีพี่น้องกลุ่มนี้"ดร.สราวุธ กล่าว