เปิดอาการ ‘ภาวะด้านชาทางความรู้สึก’ กลไกปิดกั้นใจเมื่อเรื่องร้ายถาโถม
หากพบว่าตนเองมีอาการ ไม่ทุกข์ ไม่สุข หรือไม่รู้สึกอะไรเลย รู้ไว้! อาจเข้าข่าย “ภาวะด้านชาทางความรู้สึก” ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้แปลว่าไม่รู้สึกอะไรแล้ว แต่เป็นกลไกป้องกันจิตใจเมื่อเจอเรื่องร้ายถาโถม
Key Points:
- ภาวะด้านชาทางความรู้สึก (Emotional numbness) ส่งผลให้ไม่มีความรู้สึกใดๆ แม้ว่าจะเจอกับสถานการณ์ที่รุนแรง ทั้งความสุขและความทุกข์
- ภาวะทางจิตเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะด้านชาทางความรู้สึกเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย
- การสำรวจความรู้สึกตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากเริ่มเข้าสู่ภาวะด้านชาทางความรู้สึกแล้วจะได้หาทางแก้ไขได้ทัน
“..ไม่มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ รวมถึงไม่มีความรู้สึกใดๆ ไม่ว่าจะเจอกับสถานการณ์เลวร้ายย่ำแย่หรือดีแค่ไหน..” ผู้ที่มีอาการหรือสภาวะเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไร้หัวใจหรือไร้ความรู้สึก แต่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเพราะเคยเจอเรื่องราวกระทบกระเทือนจิตใจขั้นรุนแรง หรือเกิดขึ้นจากความเครียดและฮอร์โมนแปรปรวน
“ภาวะด้านชาทางความรู้สึก” มีชื่อเรียกทางจิตวิทยาว่า Emotional numbness ซึ่งคำว่า Numbness นั้นมาจากคำว่า Numb ที่แปลว่า “ชา” เพราะเวลาที่มนุษย์เกิดความรู้สึกชาตามร่างกาย เช่น แขน หรือ ขา จะไม่มีความรู้สึกบริเวณนั้น แต่สำหรับภาวะด้านชาทางความรู้สึกมีการนิยามเอาไว้ว่า หมายถึงกลไกป้องกันทางจิตใจอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกรุนแรงหรือสถานการณ์เลวร้าย
- ทำความเข้าใจ ภาวะด้านชาทางความรู้สึก
สำหรับ “ภาวะด้านชาทางความรู้สึก” นั้น ไม่ได้แปลว่าเป็นคนไร้ความรู้สึกเสียทีเดียว แต่คล้ายกับเป็นความรู้สึกชาทางความรู้สึก ทำให้ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะนี้ไม่มีความรู้สึกทั้งเศร้าหรือสุข ภาวะนี้จะเกิดขึ้นโดยการแช่แข็งความรู้สึกทุกอย่างเอาไว้ระยะหนึ่ง คล้ายกับเป็นความรู้สึกที่ว่างเปล่า เฉยชา กับประสบการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต เพื่อปกป้องความรู้สึกของตัวเอง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีปัญหากับภาวะทางจิตเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด (ภาวะทางจิตเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยย่อยเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง) ซึ่งมีความแตกต่างจาก “ภาวะสิ้นยินดี” ที่ถือเป็นเป็นโรคทางจิตเวชและมีสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างออกไป
อ่านเพิ่ม : รู้จัก “ภาวะสิ้นยินดี” ไม่เศร้าแต่ก็ไม่สุข กระทบชีวิต “วัยทำงาน” แค่ไหน?
โดยจุดแตกต่างของผู้ที่มีภาวะนี้ที่เด่นชัด คือ มักเคยผ่านเรื่องราวที่สะเทือนใจมากในอดีต หรือ PTSD, การใช้เสพเสพติด, มีความเครียดและความกังวลอย่างหนักในการใช้ชีวิตประจำวัน, ฮอร์โมน, การสูญเสียคนรัก, ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ, หรือ การถูกล่วงละเมิดทางจิตใจหรืออารมณ์
- เช็กตัวเองอาการแบบไหนเข้าข่าย Emotional numbness
ข้อมูลจาก Phychcentral ระบุว่า ผู้ที่อาจจะเข้าข่ายภาวะด้านชาทางความรู้สึก สามารถแบ่งอาการ หรือสัญญาณบ่งบอกได้ดังนี้
1. ไม่มีการเชื่อมต่อตัวเองกับผู้อื่น หรืออาจหมายถึงไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างในชีวิตประจำวันทั่วไป
2. เชื่อมโยงอารมณ์ ความสัมพันธ์ กับคนรอบข้างไม่ได้
3. หมดความสนใจในสิ่งที่ตัวเองเคยชอบ เช่น งานอดิเรก
4. ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์รุนแรงแค่ไหน ก็จะไม่มีอารมณ์ร่วมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ
5. เกิดความเชื่อที่ว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์หรือความรู้สึก เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือจำเป็นต้องมี
6. เริ่มไม่มีความความห่วงใยดูแลกับผู้อื่นรอบตัว รวมไปถึงเหตุการณ์ในชีวิตของตัวเอง
7. เริ่มไม่มีสมาธิ และไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้เหมือนเมื่อก่อน
8. เกิดความเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่อง
9. เริ่มขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป
10. ไม่มีความกังวลว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิต
11. เริ่มค้นหาความรู้สึกบางอย่างด้วยวิธีที่ผิด หรืออาจทำร้ายตัวเอง
12. ไม่สามารถรู้สึก หรือแสดงอารมณ์ต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวัน
- วิธีจัดการตัวเองง่ายๆ เมื่อเริ่มรู้สึกว่าเข้าข่ายไร้ความรู้สึก
1. ยอมรับความรู้สึก
เนื่องจากความรู้สึกหรืออารมณ์ที่คนเราต้องเผชิญในแต่ละวันนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นการพยายามยอมรับความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้สามารถยอมรับความจริงและหาวิธีแก้ไขปัญหาต่อไปได้
2. เขียนบันทึกประจำวัน
การจดบันทึกไม่ว่าจะเป็นบันทึกประจำวันหรือประจำสัปดาห์ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการรับมือกับความรู้สึกต่างๆ ที่ต้องเผชิญ สำหรับใครที่ไม่ถนัดในการวิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึกตัวเอง การเขียนออกมานั้นสามารถช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเผชิญได้ง่ายขึ้น
3. ออกกำลังกาย
สำหรับการออกกำลังกายนั้นไม่เพียงแค่ช่วยให้มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถใช้ระบายความอัดอั้นภายในใจได้ด้วย
4. เข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
สุดท้ายแล้วหากภาวะด้านชาทางความรู้สึกนั้นเริ่มส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว การเข้าพบผู้เชี่ยวชาญอย่าง นักจิตบำบัด หรือ จิตแพทย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อจะได้ค้นหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้ตรงจุด
โดยสรุปแล้วแม้ว่า ภาวะด้านชาทางความรู้สึก จะไม่ได้เกิดขึ้นจากสภาวะทางจิตโดยตรง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สามารถส่งผลเสียต่อ “สุขภาพจิต” ได้ ดังนั้นการสังเกตความรู้สึกของตัวเองและคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตตามมาในอนาคต
อ้างอิงข้อมูล : verywell mind, Phychcentral, Stylist และ Alljit