พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า 24 พ.ค.-2 มิ.ย.66 ไทยมีเมฆมาก ฝนตกเพิ่ม
กรมอุตุฯ เผยพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า ช่วง 27 -30 พ.ค.66 ไทยมีฝนต่อเนื่อง และตกหนักบางแห่ง ระยะแรกๆ ของฝนที่เกิดขึ้นยังเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ระวังฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า
"กรมอุตุนิยมวิทยา" พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง ระหว่าง 24 พ.ค.-2 มิ.ย.66 อัพเดท 2023052312 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) :
ฤดูฝน 2566 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังอ่อน ถึงปานกลาง พัดปกคลุมประเทศไทย และคาดว่าจะมีกำลังแรงขึ้น ช่วงวันที่ 27 - 29 พ.ค.66 ทำให้ประเทศไทยมีเมฆมาก มีฝน/ฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น
วิเคราะห์ลมระดับล่างได้เป็นแนวคุ้งหรือแนวโค้งของลมตะวันตกเฉียงใต้ และคาดว่าจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคอีสาน และเคลื่อนตัวปกคลุมบริเวณภาคกลาง (ช่วงวันที่ 27 -30 พ.ค.66) จะทำให้ประเทศไทยมีฝนต่อเนื่อง และตกหนักบางแห่ง ระยะแรกๆ ของฝนที่เกิดขึ้นยังเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากประเทศไทยยังมีอากาศร้อนตอนกลางวัน ต้องระวังฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่าได้
ส่วนการกระจายและปริมาณของฝนอาจจะไม่สม่ำเสมอ ปริมาณฝนส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อย ถึงปานกลาง และมีตกหนักบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ช่วงปลายเดือน ฝนมักจะเกิดขึ้นได้ช่วงบ่าย-ค่ำ พอจะคลายความร้อนได้บ้าง
ระยะนี้หากมีฝนต้องเตรียมรับมือและหาวิธีสำรองน้ำไว้ใช้ทั้งอุปโภค บริโภค และด้านการเกษตร
ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านรับมรสุม คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ห่างฝั่งคลื่นสูง ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวัง
ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ขณะที่ รายงานฝนสะสม 24 ชม.ที่ผ่านมา (23 พ.ค. 2566) เวลา 0700 น. ของวันที่ 23 พ.ค. 2566 ถึง เวลา 07.00 น. ของวันที่ 24 พ.ค. 2566 จากสถานีตรวจวัดของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
- ภาคเหนือ ปริมาณฝนมากที่สุดวัดได้ 52.7 มม ที่ อ.เมือง จ.พิจิตร
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณฝนมากที่สุดวัดได้ 44.4 มม ที่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
- ภาคกลาง ปริมาณฝนมากที่สุดวัดได้ 54.9 มม ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
อุณหภูมิสูงสุดบริเวณประเทศไทย เมื่อวานนี้ (23 พ.ค. 2566)
ภาคกลาง วัดได้ 40.2 องศาเซลเซียส ที่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณภูมิสูงสุด วัดได้ 39.0 องศาเซลเซียส ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ส่วน กทม. รายงานจากสำนักการระบายน้ำ มีรายงานฝนเล็กน้อยบางแห่ง ปริมาณฝนมากสุดวัดได้ที่ ปตร.พระยาสุเรนทร์ เขตสายไหม วัดได้ 1.5 มม.
นอกจากนี้ "กรมอุตุนิยมวิทยา" ยังรายงานสภาพอากาศอีก 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 25 - 30 พ.ค. 66คาดการณ์ว่า
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 27 – 29 พ.ค. 66 มีหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางและทะเลจีนใต้ตอนกลางจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศลาวและกัมพูชา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออก
สำหรับในช่วงวันที่ 24 - 26 พ.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 30 พ.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร
ข้อควรระวัง: ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม และขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมที่จะเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 26 – 30 พ.ค. 66
สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (23 - 24 พ.ค. 66):ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 2.5 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด