“เป้าหมายของผมคือไม่ทำให้คนอิจฉา” ส่อง 6 บทเรียนชีวิตจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์
ส่อง 6 แนวคิดการใช้ชีวิตจาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนระดับตำนาน จากการใช้ชีวิตอย่างถ่อมตน ไปจนถึงเทคนิคการลงทุนเสริมความมั่งคั่ง
คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงมากนัก หากจะบอกว่า “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก และก็เป็นบุคคลที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก เช่นกัน (แม้จะใช้คำว่าโลกได้อย่างสิ้นเปลืองหากต้องอ้างถึงบัฟเฟตต์ แต่ก็คงต้องยอม)
ทั้งนี้ สำหรับบรรดานักลงทุนและผู้อ่านข้อมูลด้านล่างคือ “บทเรียนชีวิต 6 อย่าง” จากผู้ที่ใช้คำว่า “ที่สุดในโลก” ที่สิ้นเปลืองที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเงิน
1. ใช้ชีวิตแบบไม่หวือหวา
ความมั่งคั่งสุทธิของบัฟเฟตต์อยู่ที่ 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.54 ล้านล้านบาท) แต่เขายังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกับที่เขาซื้อเมื่อ 65 ปีก่อน ในราคาเพียง 31,500 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.039 ล้านบาท) ดังนั้นก็คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าบัฟเฟตต์ใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์มากเมื่อเทียบกับเงินในพอร์ตของเขา
ทั้งนี้ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิต เงินส่วนที่เหลือทั้งหมดของบัฟเฟตต์ มีไว้เพื่อสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น และเมื่อเขาใช้ชีวิตอย่างประหยัด ก็มีเงินเหลือมากพอในการลงทุนเพิ่มและจึงได้ผลตอบแทนที่ขยายตัวตามไปด้วย
ลองนั่งพิจารณาคําพูดนี้ของเขา:
“ผมไม่สนใจรถยนต์ และเป้าหมายของผมคือไม่ทำให้ผู้คนอิจฉา ที่สำคัญขอแนะนำว่า อย่าสับสนระหว่าง ค่าครองชีพ กับ มาตรฐานการใช้ชีวิต”
2. ไม่ต้องเข้าประชุม หรือยกเลิกภารกิจที่ไม่จำเป็นและกินเวลาในชีวิตออกไปให้หมด
แทนที่จะเข้าประชุมสรุปประจำปี (ที่ไม่ค่อยจะจำเป็น) ทีละ 3-4 ชั่วโมงทุกปี ทว่าบัฟเฟตต์ใช้วิธีส่งจดหมายถึงแต่ละบริษัทในเครือ ยกย่องชัยชนะจากปีที่ผ่านมา และไม่พลาดที่จะระบุเป้าหมายสำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน
ที่สำคัญเพื่อนซี้นักลงทุนของบัฟเฟตต์อย่าง “ชาร์ลี มังเกอร์” เล่าเรื่องตลกของปู่ว่า
“บางทีผมมองไปที่ตารางงานของเขา หวังว่าจะนัด แต่ติดที่ว่ามันตรงกับวันตัดผมของเขา”
“วันอังคาร วันไปตัดผม”
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับว่า วิธีการใช้ชีวิตดังกล่าวนั้นก็คือสิ่งที่สร้างหนึ่งใน “บุคคลประวัติศาสตร์ในโลกธุรกิจ” ที่สำคัญและประสบความสําเร็จมากที่สุดในโลก คือเขามีเวลาครุ่นคิดกับตัวเองเยอะมาก"
3.ทักษะการสื่อสารคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
คนใกล้ชิดหลายคนเล่าว่าตอนที่บัฟเฟตต์ยังเด็ก เขาเกลียดการพูดในที่สาธารณะ แต่ขณะเดียวกันเขาก็รู้ว่าสิ่งที่เกลียดนั้นจะทำให้เขาประสบความสำเร็จ
ดังนั้นเขาจึงลงเรียนหลักสูตรการพูดในที่สาธารณะ ซึ่งในที่สุดก็ทําลายความกลัวนั้นของเขา รวมทั้งช่วยให้กลายเป็นนักพูดที่ประสบความสําเร็จอย่างมาก
ทุกครั้งที่เขาไปบรรยายที่ใดก็มักจะกล่าวเสมอว่า “การสื่อสารคือหนทางสู่การประสบความสำเร็จ”
4. หาข้อมูล ทำความเข้าใจสินทรัพย์ต่างๆ ก่อนลงทุน
“หาข้อมูลก่อนลงทุนเสมอ” คือสิ่งที่บัฟเฟตต์มักพูดเสมอ เพราะเขามักค้นคว้าข้อมูลแต่ละบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนอย่างละเอียดให้มั่นใจว่าเงินที่เขาใส่ลงไปจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
โดยเมื่อใดก็ตามที่เขามั่นใจว่าหุ้นที่เขาเข้าไปลงทุนนั้นแข็งแกร่ง เขาจะทุ่มเงินลงไป “อย่างไม่ตระหนี่” รวมทั้งบัฟเฟตต์ยังชอบบริษัทที่ดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่นด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ดี จนกระทั้งแม้แต่ “คนโง่” บริหารก็ยังสามารถเติบโตได้ดี
ที่น่าสนใจคือบัฟเฟตต์ไม่เคยปิดวิธีการหาข้อมูลบริษัทที่พื้นฐานดีเป็นความลับ และบรรดานักลงทุนก็สามารถรับรู้เทคนิคเหล่านั้นได้ทั่วกัน:
“ผมมักเลือกลงทุนในระยะยาว และพิจารณาดูทุกปัจจัยเหมือนกับว่าผมจะทำธุรกิจนั้นเอง 100%”
(1) มีคุณสมบัติทางเศรษฐกิจที่ดีในระยะยาว
(2) มีการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดและซื่อสัตย์
(3) มีราคาที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับปัจจัยข้างเคียง
(4) ลงทุนในอุตสาหกรรมที่คุ้นเคย และมีความรู้ความเข้าใจ
5. ไม่ตาม “เทรนด์”
ทุกวันนี้หลายคนมักซื้อหุ้นตามเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก แอปเปิล สแนปแชต หรือแม้กระทั่งทวิตเตอร์ แต่บัฟเฟตต์ไม่สมาทานแนวคิดนี้มาใช้ (ยกเว้น Apple ในตอนนี้) โดยเขามักลงทุนในหุ้นที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีพื้นฐานดีเท่านั้น
6. ใช้ชีวิตให้มีความสุข
คนใกล้ชิดบัฟเฟตต์บอกเสมอว่าเขาไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงยอมทำสิ่งที่ไม่ชอบเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต เพราะส่วนตัวเขาเชื่อในเรื่องการทำสิ่งที่รักเนื่องจากเชื่อว่าชีวิตคนเราสั้นมาก
โดยหากพูดถึงบุคลิกส่วนตัวของบัฟเฟตต์ เขารักงานของเขา รวมทั้งบริษัทที่เขาเข้าไปลงทุนอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดทำให้เขาไม่เหนื่อยที่จะอ่านข้อมูลครั้งละมหาศาล
บัฟเฟตต์เคยเปรียบเทียบการตั้งหน้าตั้งตาทำงานที่คุณไม่ชอบ แล้ว “สัญญาว่าจะให้รางวัลตัวเองในอนาคต” ว่าเหมือนกับ “การไม่มีเซ็กซ์ไปจนกว่าจะอายุจะถึงเกณฑ์ที่สังคมอ้างว่าเหมาะสม”
โดยเขาเคยกล่าวว่า “การไม่ทําในสิ่งที่เรารัก โดยอ้างว่าจะนำเงินไปทำให้ชีวิตที่ดีในอนาคต เป็นการจัดการชีวิตที่แย่มาก”
อย่างไรก็ตามผู้อ่านอาจจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละบุคคลในปัจจุบัน
อ้างอิง