เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+ : กลุ่มคนที่ไร้ตัวตนต่อภาครัฐ

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+ : กลุ่มคนที่ไร้ตัวตนต่อภาครัฐ

เนื่องในเดือนมิถุนายนนี้เป็น “Pride Month” เดือนแห่งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความภาคภูมิใจ และการได้แสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงของเหล่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้เขียนได้รวบรวมและศึกษา 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “LGBTQIAN+” ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจหลายประเด็น

ในบางประเด็นยังถูกละเลยจากภาครัฐไทย สมควรที่จะถูกนำขึ้นมาตีแผ่ สร้างความเข้าใจและนำเสนอประเด็นเพื่อถกเถียงกัน เพื่อให้สังคมเกิดความตระหนักรู้และนำไปสู่การลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด

คำถามง่ายๆ สำหรับตั้งต้นคือ กลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมีจำนวนเท่าไรในประเทศไทยและมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรบ้างทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม? แม้คำถามง่ายๆ นี้ก็ตอบไม่ง่ายนัก

เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยมีการสำรวจกันอย่างจริงจังโดยเฉพาะในการเก็บสถิติระดับประเทศ

ในภาพรวม ประเทศไทยมีการจัดทำแบบสำรวจระดับชาติโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยแบบสำรวจมีความหลากหลาย และครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นอยู่และความกินดีอยู่ดีของประชาชนในหลายมิติ

แต่การสำรวจเหล่านั้นยังไม่มีข้อถามเกี่ยวกับเพศสภาพที่หลากหลายทั้งที่กลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสัดส่วนในประชากรไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากทาง สสส. ในปี พ.ศ.2563 ผ่านงานเสวนาและรับฟังความคิดเห็น “ยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรกของประเทศไทย” แต่ก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในแบบสอบถามระดับชาติที่มีการเผยแพร่ออกมาล่าสุด

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+ : กลุ่มคนที่ไร้ตัวตนต่อภาครัฐ

การที่ข้อมูลจากการสำรวจทางสถิติไม่สามารถจำแนกเพศของผู้ตอบแบบสอบถามออกได้มากไปกว่า “เพศชาย” และ “เพศหญิง” ทำให้กลุ่มเพศทางเลือกถูกลบออกไปจากตัวเลขทางสถิติในฐานข้อมูลของไทย

ทั้งที่เป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นแรก ที่จะช่วยให้ทราบสัดส่วนของการเกิดเหตุ หรือสัดส่วนของประชากรที่ประสบปัญหาในประเด็นต่าง ๆ เช่น สุขภาพ การทำงาน เพื่อนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณไปใช้ช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม

ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นการถูกกลั่นแกล้งและคุกคามในรั้วโรงเรียน รายงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ในปีพ.ศ. 2557 พบว่า บุคลากรภายในโรงเรียนยังขาดการรับรู้ถึงตัวตนของนักเรียนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

รวมถึงนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศพบเจอกับการถูกรังแกและอยู่ในข่ายซึมเศร้ามากกว่านักเรียนที่ไม่ได้มีความหลากหลายทางเพศมากถึง 2 และ 3 เท่า

นอกจากนี้ รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเกย์และเลสเบียนระหว่างประเทศ (IGLHRC) พบว่า ระหว่างปีพ.ศ. 2549-2555 มีเลสเบี้ยนในไทยถูกสังหาร 15 คน และข้อมูลจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในปีพ.ศ. 2561 ที่เก็บข้อมูลจากสื่อมวลชน พบว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยถูกสังหารจำนวน 21 คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ คือ ฆ่าเพราะความเกลียดชัง

จากการศึกษาประสบการณ์ต่างประเทศพบว่ามีบางประเทศที่ตื่นตัวและได้เริ่มนำประเด็นเรื่อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” เข้ามาอยู่ในวาระระดับชาติ

อันนำไปสู่ความต้องการชุดข้อมูล ที่จะสามารถสะท้อนจำนวนและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันได้จริง

เช่น อังกฤษ ได้เพิ่มข้อถามเรื่องเพศเข้าไปในการสำรวจระดับชาติในปีพ.ศ. 2560 ทำให้พบว่า บุคคลกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับ “การเลือกปฏิบัติ” ในหลายด้านของชีวิต ตั้งแต่การจ้างงานไปจนถึงการดูแลสุขภาพและการศึกษา จึงนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ

หรือประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่นำข้อถามเกี่ยวกับกลุ่ม Transgender และ Non-binary มารวมไว้ในแบบสำรวจสำมะโนประชากรในปีพ.ศ. 2564

ตัวอย่างข้อถามเรื่องเพศของสองประเทศข้างต้นถูกแบ่งออกเป็น 2 คำถาม ได้แก่ คำถามแรก สอบถามเกี่ยวกับ “เพศโดยกำเนิด” ที่ประกอบไปด้วยเพศชายและหญิง และคำถามที่สอง สอบถามเกี่ยวกับ “เพศสภาพ”

อังกฤษ ถามว่า ‘เพศสภาพของคุณตรงกับเพศกำเนิดของคุณหรือไม่?’ ซึ่งมีตัวเลือกคือ (1) ใช่ และ (2) ไม่ใช่ (โปรดระบุ) โดยเป็นคำถามที่สามารถเลือกตอบได้ตามความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ส่วนแคนาดาจะเป็นการถามว่า ‘เพศสภาพของคุณคือเพศใด?’ โดยมีตัวเลือกให้ตอบว่า (1) ชาย (2) หญิง หรือ (3) อื่นๆ (โปรดระบุ)

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+ : กลุ่มคนที่ไร้ตัวตนต่อภาครัฐ

การเพิ่มคำถามอีกเพียง 1 ข้อดังกล่าวในการสำรวจระดับชาติจะช่วยให้ภาครัฐได้รับทราบข้อมูลและความเป็นไปในมิติต่างๆ ของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ และนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ อย่างเหมาะสมต่อไปได้

ทั้งนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการปิดช่องว่างด้านความปลอดภัยของข้อมูลและมีความชัดเจน เรื่องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในการเปิดเผยข้อมูลให้แก่ภาครัฐ

การเสริมสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นอย่างเท่าถึงคนทุกกลุ่มในสังคม อาจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของภาครัฐ แต่เป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลยและจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น

การเพิ่มตัวเลือกทางเพศที่มีความหลากหลาย จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยสามารถติดตามได้ในบทความชิ้นถัดไปของซีรีส์นี้.

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+ : กลุ่มคนที่ไร้ตัวตนต่อภาครัฐ