ไทยประกาศพร้อม ยื่นสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัด'เมืองสร้างสรรค์'ครั้งที่ 17
ไทยประกาศเตรียมพร้อม 'การยื่นประมูลสิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมประจำปีของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ครั้งที่17 พ.ศ.2568 (UCCN Annual Conference 2025)จังหวัดเชียงใหม่'
Keypoint:
- TCEB เผยอุตสาหกรรมไมซ์ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 จำนวนนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 7,934,099 คน สร้างรายได้ 28,528 ล้านบาท
- ไทยประกาศความพร้อม เชียงใหม่'ยื่นสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ UCCN ครั้งที่ 17 เมืองสร้างสรรค์ ปี 2568'ภายใต้แนวคิด'Enhancing Multicultural Transformation'
- ชู soft power เมืองสร้างสรรค์ในไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ คาดหากเชียงใหม่ได้คัดเลือกจัดงาน กระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 125.86 ล้านบาท
‘อุตสาหกรรมไมซ์’ หรือ MICE ย่อมาจาก Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions ซึ่งเป็นการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมนานาชาติ การจัดงานแสดงสินค้าหรือบริการ ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการจัดแสดงสินค้า และการประชุมสำคัญระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่าแสนล้าน
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ให้ข้อมูลว่าภาพรวม อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2565) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 7,934,099 คน สร้างรายได้ 28,528 ล้านบาท
โดยเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 183,618 คน สร้างรายได้ 12,028 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มงานแสดงสินค้าจำนวน 97,015 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำรายได้สูงสุด 6,876 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มประชุมองค์กรจำนวน 55,687 คน รายได้ 3,238 ล้านบาท กลุ่มประชุมวิชาชีพจำนวน 17,653 คน รายได้ 1,063 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลจำนวน 13,263 คน รายได้ 851 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เชียงใหม่-ลำปาง ต่อคิวพะเยา สู่เมืองเรียนรู้ระดับโลกปี 2566
'ทีเส็บ' ดันไทยสู่ 'ผู้นำไมซ์' เวทีโลก! ชู 5 พันธกิจหลักฟื้นตลาด 2 แสนล้าน
ชูโมเดล 5 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาสู่พื้นที่ใหม่ 33 แห่ง
เตรียมยื่นเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงานเมืองสร้างสรรค์นานาชาติ
ด้าน นักเดินทางไมซ์ในประเทศมีจำนวนรวม 7,750,481 คน สร้างรายได้ 16,500 ล้านบาท มีกลุ่มงานแสดงสินค้าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดจำนวน 7,308,525 คน สร้างรายได้ 14,815 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มประชุมวิชาชีพจำนวน 304,826 คน รายได้ 1,109 ล้านบาท กลุ่มประชุมองค์กรจำนวน 129,054 คน รายได้ 537 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลจำนวน 8,076 คน รายได้ 39 ล้านบาท
ในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 - ก.ย. 62 ประเทศไทยมีรายได้จากนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ 93,971 ล้านบาท และจากนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 107,046 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ประเทศไทยยื่นประมูลสิทธิ์เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 17 ในปี 2568 (UCCN Annual Conference 2025) ณ จังหวัดเชียงใหม่
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการจัดทำข้อมูลตามเกณฑ์ที่องค์การยูเนสโกกำหนด และเสนอไปยังองค์การยูเนสโกภายในวันที่ 31 ก.ค.66 จากนั้นจะมีกระบวนการคัดเลือกโดยพิจารณาเอกสาร การนำเสนอ การลงคะแนนเสียงผ่านช่องทางออนไลน์ และประกาศผลเมืองที่ได้รับพิจารณาเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือน ต.ค.66 ต่อไป
ทั้งนี้ การจัดการประชุมประจำปี UCCN ครั้งที่ 17 จะดำเนินการในช่วงเดือน ก.ค. 2568 ระยะเวลา 7 วัน ภายใต้แนวคิด 'Enhancing Multicultural Transformation' เชื่อมอดีตสู่ปัจจุบัน สร้างนวัตกรรมเพื่อการต่อยอด
การประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีนานาชาติสำหรับการหารือและแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์ในการนำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มาเป็นนโยบายเพื่อดำเนินการพัฒนาเมือง ตามเป้าหมายวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 ขององค์การสหประชาติ (ยูเอ็น) และปฏิญญา Mondiacult 2022
ไทยแถลงประกาศความพร้อมจัดการประชุมประจำปี UCCN ครั้งที่ 17
วันนี้(3 ส.ค.2566) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน)หรือ CEA ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ TCEB และกลุ่มเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกในประเทศไทยจัดงานแถลงข่าว 'การยื่นประมูลสิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมประจำปีของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ครั้งที่17 พ.ศ.2568 (UCCN Annual Conference 2025)จังหวัดเชียงใหม่'
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่ารัฐบาลและวธ.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยมิติทางวัฒนธรรม และการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมให้มีความพร้อมต่อการแข่งขันในตลาดโลก รวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และการสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ
กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมบูรณาการกับเมืองหรือหน่วยงานระดับท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เช่นเดียวกับ ที่ได้มีความร่วมมือระหว่าง TCEB, CEA และหน่วยงานส่วนภูมิภาคของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นประมูลการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประจำปีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก
ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้มีการจัดประชุมระดับนานาชาติหลายครั้ง และการที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งภาคีขององค์การยูเนสโก ซึ่งได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก และมีสำนักงานยูเนสโกในประเทศไทย รวมถึงการจัดงานเมืองสร้างสรรค์ โดยไทยได้รับประกาศจากยูเนสโก ใน 5 จังหวัดที่ยกว่าเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ได้แก่ เพชรบุรี สุโขทัย กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และมีแนวทางในการยื่นประกาศในจังหวัดอื่นๆ ถือเป็นการส่งเสริม soft power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของโอกาสและศักยภาพทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณี สถาปัตยกรรม ศิลปหัตถกรรม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งยังได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมระดับนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงาน Chiang Mai Crafts Forum ในปี 2562 และ Chiang Mai Creative Cities Network Forum ในปี 2564
ที่สำคัญ นอกจากสถานะของการเป็นเมืองสร้างสรรค์สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านที่เราได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2560 เชียงใหม่ยังถือเป็นเมืองที่ได้รับการยกย่องในระดับสากลอีกมากมาย ทั้งการเป็นเมืองหัตถกรรมโลก WWC World Craft Cities และเมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO Learning Cities ในปี 2564 รวมถึงเมืองแห่งเทศกาลโลก World Festival and Event City ในปี 2565
เมื่อพิจารณาถึงการที่เมืองเป็นศูนย์กลางการเดินทาง และมาตรฐานของโรงแรมที่พักที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกได้ เชียงใหม่จึงมีความพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งนี้
นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า อบจ. เชียงใหม่ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการเมืองสร้างสรรค์เชียงใหม่ โดยล่าสุดยังได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ประเทศไทยเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จึงเห็นว่าหากเชียงใหม่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมฯ จะเป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้คนในเมืองอย่างมาก
"งานประชุมนี้จะเปิดโอกาสให้เมืองของเราได้นำเสนอศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในการต่อยอดคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมและงานหัตถกรรมสู่เวทีโลก”
ทั้งนี้ นายก อบจ. เชียงใหม่ยังย้ำอีกว่า ในฐานะที่เชียงใหม่เป็น ‘นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม’ จึงได้มีการวางกรอบแนวคิดในการจัดงานประชุมฯ ด้วยการนำเสนอวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมถึงการต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน และที่สำคัญคือการนำเสนอสิ่งดีงามของไทยให้ต่างชาติได้รับรู้ด้วยความภาคภูมิใจ
ชูแนวคิด Enhancing Multicultural Transformation
สำหรับการเสนอของประเทศไทยในนามจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมฯ ถือเป็นโอกาสพิเศษในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกจากทุกสาขาทั่วโลก และการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของเมืองสร้างสรรค์ต่าง ๆ ร่วมกัน ภายใต้จุดประสงค์ในการนำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรมมาเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงการสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ โดยปัจจุบันมีเมืองสร้างสรรค์ในเครือข่ายยูเนสโก จำนวน 7 สาขา รวมทั้งสิ้น 295 เมือง
ทั้งนี้ เชียงใหม่ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) และ 1 ใน 5 เมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย (กรุงเทพฯ ภูเก็ต สุโขทัย และเพชรบุรี) ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกได้ทำการยื่นประมูลสิทธิ์จัดการประชุมภายใต้หัวข้อ Enhancing Multicultural Transformation
การยกระดับคุณค่าจากต้นทุนด้านศิลปวัฒนธรรมบนพื้นฐานของเมืองพหุวัฒนธรรมดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีความร่วมสมัยในปัจจุบัน เพื่อนำเสนอความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรมที่เติบโตและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยพลวัตดังกล่าวยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นจุดหมายสำคัญที่ได้รับการยอมรับจากทั้งนักท่องเที่ยวและ Digital Nomad จากทั่วโลกอีกด้วย
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่าเชียงใหม่ถือเป็น MICE City หรือเมืองศูนย์กลางแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ ซึ่งครบพร้อมด้วยสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการจัดประชุม โรงแรมที่พักมาตรฐานสากล และแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ ทุกฝ่ายจึงเล็งเห็นว่าเชียงใหม่มีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมฯ
"การจัดประชุมครั้งนี้ยังช่วยกระตุ้นการพัฒนาเมืองและพัฒนาประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความยั่งยืนจากสินทรัพย์เชิงสร้างสรรค์ที่เมืองแห่งนี้มีอยู่อย่างเต็มที่” ดร. อรรชกา กล่าว
คาดจัดงานครั้งนี้ เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 125.86 ล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เน้นย้ำถึงพันธกิจของ TCEB ในการประมูลสิทธิ์ให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพงาน MICE ระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านอุตสาหกรรมการจัดประชุมและนิทรรศการของรัฐบาล โดยการประมูลเพื่อขอเป็นเจ้าภาพการประชุม UCCN Annual Conference 2025 นี้ยังอยู่ภายใต้โครงการ ‘One Ministry, One Convention’ หรือการให้กระทรวงต่างๆ และพันธมิตรเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมนานาชาติอีกด้วย
"เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มีการยื่นเอกสารขอประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมฯ เสนอแก่สำนักเลขาธิการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโกไปแล้ว ภารกิจที่สำคัญต่อจากนี้คือ การเตรียมการนำเสนอประเทศไทยต่อคณะกรรมการที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้"นายจิรุตถ์ กล่าว
ด้าน ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวปิดท้ายว่า CEA ในฐานะผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยสู่เวทีโลก ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและต่อยอดเมืองสร้างสรรค์ของไทยที่อยู่ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ผ่านการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ
“เราได้ยื่นขอประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภายใต้หัวข้อ Enhancing Multicultural Transformation โดยมุ่งเน้นการนำเสนอแนวคิด 3 B อันประกอบด้วย BRIDGE หรือสะพานที่เชื่อมคุณค่าจากรากเหง้าดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ยุคใหม่ BLEND การผสมผสานคุณค่าทางพหุวัฒนธรรมเข้ากับเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติ และ BUILD การสร้างเครื่องมือและความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ สร้างความพร้อมต่อการแข่งขัน และการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคตแก่ผู้คนในเมืองเชียงใหม่” ดร. ชาคริต กล่าว
ทั้งนี้ นอกเหนือการขับเคลื่อนการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกของประเทศไทย และการประชาสัมพันธ์ศักยภาพของประเทศไทยสู่เวทีโลก ยังมีการคาดการณ์ว่าหากเชียงใหม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้กว่า 125.86 ล้านบาท
พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้าถึงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อันเกิดจากการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก รวมถึงยังสอดคล้องกับพันธกิจของกระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องการเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรมของไทย พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์กับต่างประเทศผ่านมิติทางวัฒนธรรมอีกด้วย