ศักดิ์ศรีการตายที่ดี คืออะไร เป็นอย่างไร?
การจากไปอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นความปรารถนาอันสูงสุด หากไม่ใช่ทั้งหมดทุกคนบนโลกใบนี้ ถ้าการตายดีคือเป้าหมายของคนส่วนใหญ่ คำถามสำคัญคือสังคมจะมีส่วนช่วยให้คนทั้งหลายเดินเข้าสู่เส้นทางนี้ได้อย่างไร
ผู้เขียนได้รับมอบหมายจากแผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ศึกษาโครงการแกะรอยนิเวศการเรียนรู้และปฏิบัติการการสร้างความเข้าใจและมุมมองเกี่ยวกับความตายในพื้นที่กายภาพและพื้นที่เสมือนจริง
ผลการศึกษาพบว่า ในสภาวะที่ความตายปรากฏในสังคมสมัยใหม่ ความตายก็ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม แน่นอนว่าการตายไม่ใช่สถานการณ์ที่มนุษย์สามารถจะล่วงรู้และจัดการควบคุมได้ทั้งหมด ทั้งอำนาจการควบคุมนั้นยังผันแปรตามปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละกาลเทศะ
แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามนุษย์พยายามที่จะจัดการเกี่ยวกับความตายด้วยวิธีต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การพยายามทำให้ความตายแยกส่วนออกจากการมีชีวิต ความพยายามยืดชีวิตหรือยืดความตายให้ไกลออกไปที่สุด
สังคมร่วมสมัยที่เราดำรงชีวิตอยู่นี้ ได้ทำให้วิถีการตายและความหมายของมันผันแปรไปไม่น้อยจากอดีต สมมติฐานว่าด้วยการเป็นสังคมปฏิเสธความตาย ที่ฉายภาพของสังคมและปัจเจกที่เน้นให้คุณค่ากับการมีชีวิต และตัดความตายออกจากการรับรู้ ไป กระทั่งถึงการพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ความตายห่างไกลออกไปทั้งในเชิงเวลาและพื้นที่
ทว่าในความเป็นจริงนั้น ความตายอาจถูกปฏิเสธหรือต่อรองได้ในสถานการณ์การตายบางลักษณะ เช่น การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่คุกคามชีวิต หรือการตายที่เกิดจากทางเลือก
สภาวะของสังคมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยช่องว่างทางสังคม และความเปราะบางที่เกิดจากความแตกต่างหลากหลาย จึงถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการตายที่ดี และยังสร้างเงื่อนไขให้การตายเกิดขึ้นอย่างหดหู่ น่าสะเทือนใจ สั่นคลอนคุณธรรม จริยธรรม และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม
เช่น คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายอย่างทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุ ถูกฆาตกรรม หรือต้องมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงทางสุขภาพ บ้างก็ตายจากไปอย่างโดดเดี่ยว รวมทั้งอีกหลายชีวิตที่ได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเองจากปัญหาความขัดแย้ง การขาดทางเลือกในการมีชีวิต
ด้วยเหตุนี้ ชีวิตกับความตายจึงเป็นกระบวนการทางชีวภาพเท่าๆ กับเป็นกระบวนการทางสังคมที่แยกกันไม่ออก ทั้งยังมีความเป็นเหตุและผลระหว่างกันอย่างลึกซึ้ง
แต่ถึงอย่างไร การ "ตายดี" ยังคงเป็นความหวังของการมีชีวิต ซึ่งอาจถูกให้ความหมายในฐานะของการเป็นอุดมการณ์ทางสังคมลักษณะหนึ่ง เป็นการประกอบสร้างขึ้นผ่านการให้ความหมายที่สอดคล้องกับคุณค่าที่ปัจเจกในแต่ละกาลเทศะยึดถือ
การตายที่ดีจึงยากจะมีคำจำกัดความ แต่มีความหมายเชิงสัมพัทธ์ เราจึงพบว่า ความหมายและความสำคัญของการตายดีนั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย แตกต่างกันออกไปเป็นอย่างมาก ทว่าโดยทั่วไป นิยามของการตายดีที่สอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานของทุกชุมชนความเชื่อ (faith community) ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ไม่มีศาสนา หรือจะให้คุณค่ากับชีวิตอย่างไรนั้น
นิยามของการตายดีดังกล่าว คือ การได้จากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งหากมองให้มีรูปธรรมชัดขึ้นการได้จากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการยอมรับความตาย - การทำความเข้าใจได้ว่าความตายนั้นเป็นสัจธรรมของชีวิต
ความตายคือสิ่งเดียวที่มนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้กฎของความเท่าเทียมและเสมอภาค และแม้กระทั่งยอมรับได้เมื่อตนเองกำลังเผชิญความตายนั้นด้วยตัวเอง
การยอมรับความตาย หรือ death acceptance นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การยอมรับความตายสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับบุคคล/ ปัจเจก และระดับสังคม ในระดับปัจเจก การยอมรับความตายเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝนเพื่อขัดเกลาจิต ซึ่งโดยทัศนะหมายถึงการที่ปัจเจกมีและใช้อำนาจภายในตน (agency)
ในการแสดงเจตนาและความตั้งใจที่ชัดเจนที่จะฝึกและควบคุมธรรมชาติที่วุ่นวายของจิตให้สงบขึ้น อาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงวิธีการฝึกตามแนวทางคำสอนทางศาสนาเสมอไป แต่เป็นการฝึกฝนจิตให้น้อมนำจิตเข้าสู่ความคิดเรื่องความตาย เพื่อค่อยๆ ยอมรับและมองความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น
ซึ่งการฝึกฝนให้จิตขจัดความกลัวตายและมองความตายนี้สามารถกระทำได้ด้วยตนเอง ในทางโลกอาจมองว่าการระลึกถึงความตายเป็นความพยายามในการฝืนจริตของจิต เสมือนคนที่ปลดปล่อยตัวเองออกจากกรอบทางความคิด กรอบความคิดเกี่ยวกับความตายในสังคมเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกับธรรมชาติของความตาย
ดังนั้น การมีกรอบความคิดครอบงำอยู่ จึงเป็นเหมือนอำนาจที่กดทับปัจเจกไว้ในระดับที่ลึกที่สุดของจิตใต้สำนึก ที่ต้องหลีกหนีความตาย และเมื่อใดที่พ่ายแพ้ต่อความตายจะมีผลกระทบอย่างรุนแรง หากการตายเกิดขึ้นกับตนเอง จิตที่ถูกครอบนี้จะทำให้ไม่อาจยอมรับความตายได้ ความกลัว ความรู้สึกเจ็บปวดจะเป็นอารมณ์หลักของช่วงชีวิตที่เหลือ
แต่หากความตายนั้นเป็นของผู้อื่น กรอบความคิดดังกล่าวจะทำให้กระบวนการทางจิตของการปลดปล่อยความทุกข์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ก็จะบังเกิดความโศกเศร้าที่ซับซ้อน ส่งผลกระทบกับชีวิตที่ไม่อาจกลับมาดำเนินต่อไปอย่างปกติได้อีก
การคิดถึงความจบสิ้นและการจากลาไม่ใช่เรื่องง่าย การฝึกฝนจิตให้ยอมรับความตายจึงเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาและการอุทิศตนเองเป็นอย่างสูง
ในปัจจุบัน ยุคที่สังคมโลกมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้คนในสังคมในฐานะ mortal being เกิดความตระหนักและหันมาพูดคุย ตลอดจนหาวิธีที่จะปลดพันธนาการทางความคิดที่ถูกครอบด้วยโลกทัศน์ของการปฏิเสธความตาย แนวความคิดนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า positive death movement/ death positive movement
สำหรับในประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่สาธารณะในสังคมไทยเปิดรับเรื่องความตายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เสมือนจริงแห่งโลกโซเชียลมีเดีย (social media) มีสื่อแนวใหม่ ตลอดจนกลุ่มทางสังคมจำนวนไม่น้อยเปิดตัวขึ้นมา แสดงเจตนาและทำงานต่อเนื่องในการทำให้ความตายเป็นเรื่องที่พูดคุยได้ ลดข้อจำกัดของกาลเทศะเรื่องความตาย
เช่น พูดถึงและเตรียมตัวตายได้ทุกเมื่อ ไม่จำเป็นต้องรอให้เข้าสู่วัยชรา นอกจากนี้มีการเปิดคอร์สฝึกอบรมเพื่อรับมือกับความกลัวตายและความตายจำนวนไม่น้อย สิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อการฝึกพินิจและเรียนรู้จะทำให้ความตายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้น
ในทางกลับกัน ชีวิตก็มีความแปลกแยกกับความตายน้อยลง โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการตายที่ดีเมื่อวันนั้นมาถึง
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์แผนงานคนไทย 4.0