บันทึกถึง “เยือนเย็น” วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ให้บริการ “ตายดี” กว่า 4 ปี
การ "ตายดี" เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้อย่างไร ฟังบันทึกของ “เยือนเย็น” ถึงการขับเคลื่อนการดูแลรักษาแบบประคับประคอง ตลอด 4 ปีของการก่อตั้ง และเตรียมดันเป็นโมเดลทางเลือกของผู่ป่วย
“กินได้นะครับ แต่อย่ามาก เดี๋ยวน้ำตาลจะขึ้นไปอีก” คุณหมอพูดโต้ตอบกับคุณตา ท่ามกลางรอยยิ้มของทีมงาน เสียงหัวเราะของญาติ และความสงสัยของผู้สังเกตการณ์ที่ตั้งคำถามว่า การลงตรวจตามบ้านเพื่อรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นอย่างไร
“ก็มันอยากกิน เขาซื้อมาฝาก” คุณตาคนเดิมพูดตอบ และของกินที่ว่านั่นหมายถึงทุเรียนพูเล็กๆ ซึ่งแม้จะไม่ได้มาก แต่ก็ทำให้หัวใจคนที่ลิ้มรสพองโตเพราะได้กินอะไรตามใจอยากเสียที
ไม่ต้องเข้าคิวแต่เช้าที่โรงพยาบาล ไม่ต้องเจรจาพูดคุยด้วยบรรยากาศเคร่งเครียด ไม่ต้องลงชื่อเข้ารับการบำบัดที่ต้องเจ็บตัวอีกต่อไป เพราะนี่คือ แนวทางดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) ที่ “เยือนเย็น” ขับเคลื่อนมากว่า 4 ปี
การรักษาแนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ "เยือนเย็น" ทำให้การเข้าถึงง่ายขึ้น พวกเขาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มีแพทย์และทีมงาน รวมเป็น 3 คน ซึ่งมุ่งขยายความเข้าใจและขับเคลื่อนเรื่องการรักษาดังกล่าวดี เพื่อให้อยู่ในบั้นปลายชีวิตได้ “ตายดี” อันหมายถึง การตายแบบไม่เจ็บปวด ไม่ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนสิ้นลมหายใจ
ทุเรียนพูเล็กๆ ที่ผู้ป่วยอยากรับประทานหลังมื้อเย็น, การรักษาตัวอยู่ที่บ้าน พร้อมหน้าด้วยลูกหลาน บนเตียงที่คุ้นเคย
นั่นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบ "เยือนเย็น"
การดูแลแบบประคับประคองเป็นธุรกิจได้อย่างไร?
พวกเขาทำให้เรื่อง "การตายดี" ถูกยอมรับจากญาติพี่น้องผู้ป่วยได้อย่างไร?
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการของเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม บอกว่า “เยือนเย็น” คือหน่วยแพทย์ที่เน้นการดูแลเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ
“ผมมองว่า Demand (ความต้องการ) ในบริการเช่นนี้มีจริงๆ สำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่เข้าผ่านการรักษามายาวนาน ผ่านการรักษาที่เสี่ยงต่อการเจ็บตัวก็ไม่ได้การันตีว่าจะหายขาด เมื่อทำความเข้าใจกับญาติ ผมเชื่อว่าเจ้าของชีวิตเขายินยอม และวันที่เขาเรียกเรามา ผู้ป่วยก็จะได้อธิบายความต้องการของเขา"
"สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะลุกลาม หรือเสี่ยงต่อการเป็นสโตรก (Stroke) หลายท่านบอกว่า ตายไม่กลัว แต่ไม่อยากอยู่แบบทรมาน เขาอยากมีชีวิตที่ดีในบั้นปลาย จะตายก็ตายนะ ไม่ต้องยื้อให้ทรมาน”
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.อิศรางค์ นุชประยูร
เยือนเย็นจึงเริ่มขึ้นเมื่อปี 2561 โดยทำหน้าที่ดูแลแบบประคับประคอง หรือชีวาภิบาล ที่บ้าน ให้กับผู้ป่วยทั้งโรคมะเร็งและกลุ่มผู้สูงอายุ และเลือก ดำเนินธุรกิจแบบ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งคือ หากได้กำไรที่ได้มาจะไม่เข้ากระเป๋าใคร แต่จะใช้เพื่อดำเนินธุรกิจต่อเพียงอย่างเดียว
“เราอยากให้แนวคิดนี้มันไปต่อได้ เลี้ยงดูตัวเองได้ การเยี่ยมแต่ละเคส เราจึงวางมาตรฐานไว้ที่ 5,000 บาท แต่ถึงเช่นนั้นหากผู้ป่วยไม่มีกำลังที่จ่ายได้ เราก็ไปเหมือนเดิม เราอยากไป เราอยากดูแล ซึ่งเมื่อเป็นไปในลักษณะนี้ การจ่ายเงินก็เป็นในลักษณะการ Donation (บริจาค) มากกว่า ซึ่งสำหรับครอบครัวที่มีกำลัง เขาอาจจะจ่ายมากกว่า 5,000 บาทก็ได้”
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้โมเดลธุรกิจ เยือนเย็นอยู่ได้ มีบุคลากรสนใจเข้าร่วมงาน ให้แนวคิดเช่นนี้อยู่ต่อ แม้ว่าวันเวลาและบุคลากรจะเปลี่ยนหน้าค่าตาไป
บรรยากาศการรักษาแบบประคับประคอง ของเยือนเย็น (หมายเหตุ: ได้รับการอนุญาติจากเจ้าของภาพแล้ว)
- 4 ปีของธุรกิจตายดี
แต่ละเคสมีการดูแลยาวนานต่างกัน ผู้ป่วยบางท่านอยู่ในการดูแลแบบประคับร่วม 1-2 ปี บางรายสั้นกว่านั้น เช่น 6 เดือน 3 เดือน ซึ่งนั่นเชื่อมโยงกับการรับเป็นคนไข้ในการดูแลของ “เยือนเย็น”
“แน่นอนครับว่า ถ้าเราพิจารณาจากอาการแล้ว การรักษาตามมามาตรฐานมีโอกาสดีกว่า เราก็บอกอย่าเพิ่งมาทางนี้ ผมเป็นแพทย์ เป็นหมอมะเร็ง หากเขาไม่อยากรักษาเพราะกลัวเจ็บตัวจากการทำคีโม (เคมีบำบัด) ผมก็จะชวนคนไข้ที่เคยทำคีโมรักษาแล้วหายมาพูดคุย ปรับทัศนคติ เป็นการทนเจ็บเพื่อให้หายขาด"
"แต่สำหรับคนไข้ที่เยือนเย็น เช่น ที่ป่วยเป็นมะเร็ง ผมไม่อยากใช้คำว่าระยะสุดท้ายนะ แต่เอาเป็นว่าคือระยะลุกลาม ซึ่งระยะนี้โอกาสหายน้อยมากกว่าไม่หาย หากเจ้าของชีวิตมีทัศนคติที่เข้าใจในวิธีแบบนี้ เราก็พร้อมจะดูแล”
4 ปี ของธุรกิจการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อนำไปสู่การ “ตายดี” ได้รับความสนใจจากผู้ป่วยเจ้าของชีวิตและญาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้เคสการดูแลของเยือนเย็นเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากปีแรก (2561) จำนวน 50 เคส เขยิบขึ้นมาเป็น 75,120, 210 เคสตามลำดับ และปัจจุบันนี้ในปี 2565 เยือนเย็นมีคนไข้เข้ารับการดูแลลประคับประคอง ราว 300 เคส / ปี
ภาพจากเฟสบุ๊ค เยือนเย็น
ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ ทีมงานเยือนเย็นจะลงคิวตรวจตามบ้าน ด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเพียง 3 คน ซึ่ง 2 ใน 3 คนจะทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเดินทาง นัดหมาย รับโทรศัพท์ บริหารจัดการเพื่อให้เป็นองค์กร พร้อมอุปกรณ์บนรถที่เปรียบเสมือนหน่วยแพทย์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ที่วัดความดัน และใบสั่งยาในกรณีที่คนไข้ต้องการ
“ตายไม่กลัว กลัวทรมาน ขอใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งอย่างสันติ เราก็จะเลือกดูแลผู้ป่วยที่คิดแบบนี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันสุดท้ายที่จะมาถึง โดยผู้ป่วยและครอบครัวสามารถวางใจได้ว่าแม้จะเป็นโรคมะเร็งก็ไม่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่สามารถรักษาที่บ้านได้”
- ลดความเครียด ลดภาระ
สิ่งสำคัญที่ นพ.อิศรางค์ อยากย้ำกับแนวคิดของดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน คือ วิธีนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับทั้งตัวผู้ป่วย และโรงพยาบาล ซึ่งแม้ว่าในการรักษาแต่ละครั้งว่าอาจจะเป็นรักษาฟรีตามสวัสดิการรัฐ แต่สุดท้ายแล้วระบบสุขภาพของรัฐก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายนี้อยู่ดี
“คิดถึงความเครียดของผู้ป่วยที่ต้องไปนั่งรอที่โรงพยาบาล ไหนจะเป็นการเดินทางแต่เช้า เราเชื่อว่าการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่บ้านจะลดค่าใช้จ่ายให้กับระบบสุขภาพ และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น เพราะคนไข้ไม่ต้องเจ็บตัวเหมือนตอนอยู่ที่โรงพยาบาล ที่ต้องมีการเจาะเลือด เอ็กซเรย์ ฉีดยา ซึ่งทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ดังนั้นเราก็แค่เปลี่ยนจากการรักษาที่โรงพยาบาลมาเป็นการรักษาที่บ้านแทน”
“ผมอยากให้ทุกคนทราบว่า นี่คือทางเลือกที่ทุกคนเลือกได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งหลายคนเข้าใจสัจธรรม ไม่อยากยื้อชีวิตตัวเอง แต่ไม่มีใครกล้าชวนคุย ซึ่งถ้าเราชวนคุยได้ ผู้สูงอายุก็อยากจะบอกว่าเขาไม่อยากทรมานแล้ว อยากรักษาตามอาการ แล้วขอตายแบบสงบ ไม่เจ็บปวด หรือเป็นภาระของใคร”
หากเขาตัดสินใจได้ บริการของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ชื่อ “เยือนเย็น” ก็จะเริ่มขึ้น และพร้อมดูแลคนไข้ทุกรายด้วยหัวใจ