"สิทธิการตายดี” มาตรา12 สุขสุดท้ายที่ "ปลายทาง" (ชีวิต)

"สิทธิการตายดี” มาตรา12 สุขสุดท้ายที่ "ปลายทาง" (ชีวิต)

การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในระยะท้ายข­องชีวิต (Palliative care) WHO ให้คำจำกัดความว่า การดูแลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย(ท­ั้งผู้ใหญ่และเด็ก) และครอบครัว ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่คุกคาม­ชีวิต รวมถึงการป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมาน

ทั้งนี้ วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมของทุกปี กำหนดให้เป็น วันการดูแลแบบประคับประคองสากล (World Hospice and Palliative Care Day)เป็นวันที่ทั่วโลกเฉลิมฉลองการเกิดขึ้นของการดูแลแบบประคับประคอง รวมถึงการมีอยู่ของสถานพยาบาลกึ่งบ้าน เพื่อให้ผู้คนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลแบบประคับประคองที่เน้นการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองได้

 

ทว่ายังมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง และผู้คนส่วนใหญ่มักเห็นว่าการดูแลแบบประคับประคองเป็นเรื่องไกลตัว มักจะนึกถึงเมื่อมีอาการเจ็บป่วยทรุดหนัก หรืออยู่ในระยะท้าย ๆ ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบประคองเข้าถึงการรักษาไม่ถึงร้อยละ 10 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้พบว่า การดูแลแบบประคับประคองเป็นเรื่องสำคัญ และควรมีการพูดคุยสื่อสารกันแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างที่ผู้ป่วยต้องการจริงๆ 

 

สังคมไทยก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัย อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ในอีก 4 ปีข้างหน้า ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็นำมาสู่การรักษาหรือช่วยชีวิตผู้ป่วยให้สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นทำให้เกิดการรักษาที่ยาวนานยืดเยื้อ ทำให้คาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตได้ว่าจะมี ผู้ป่วยระยะสุดท้าย มากขึ้นเรื่อยๆ ระบบบริการสุขภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับ   

 

ระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) การวางแผนการรักษาล่วงหน้า (Advance care plan) และหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพียงเพื่อยืดการตายในระยะท้าย (Living will) ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จึงมีส่วนสำคัญต่อการรับมือความท้าทาย

“นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ”  เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า  ระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ข้อเท็จจริงที่พบคือ ร้อยละ 86 ของผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคองกลับไม่ได้รับการดูแล ขณะที่ในกลุ่มเด็กตัวเลขดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 98 Palliative care จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะผู้สูงอายุหรือเฉพาะโรค แต่ต้องเป็นบริการที่จัดให้แก่ทุกช่วงวัยและทุกโรค และต้องทำให้เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการปฐมภูมิ 

 

ล่าสุด มีการเปิดตัว “ศูนย์เกล้าการุณย์” รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่เลือกจบชีวิตใน รพ.อย่างมีคุณภาพ เป็น 1 ใน 2 จังหวัดของประเทศไทย ที่จะศึกษา วิจัย และพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือสุขสุดท้ายที่ปลายทางของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถทำได้  

 

โดยเฉพาะการได้วางแผนดูแลตัวเองล่วงหน้า (Advance Care Plan) หรือการทำหนังสือ Living will ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นการแสดงความต้องการที่แท้จริงของตัวเราเองได้ ในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

 

“พญ.ปริยชาต์ สธนเสาวภาคย์”  ประธานงานการดูแลแบบประคับประคอง โรงพยาบาลพระจอมเกล้า กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชากรที่ต้องการดูแลแบบประคับประคองจาก รพ.พระจอมเกล้า ประมาณเกือบ 400 คน โดยครึ่งหนึ่งต้องการกลับไปดูแลรักษาในช่วงระยะท้ายที่บ้านพัก ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งจะขอเข้ารับการดูแลจากศูนย์เกล้าการุณย์แห่งนี้ ส่วนใหญ่จะป่วยมะเร็ง หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาได้แล้ว แต่ต้องการได้รับการดูแลจากโรงพยาบาล และเลือกจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ก็จะเข้ารับการดูแลผ่านศูนย์เกล้าการุณย์

 

ตัวอย่าง ประเทศที่มีระบบดูแลระยะท้าย

ต้นแบบระบบการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายและการดูแลแบบประคับประคองของประเทศ ในทวีปเอเชีย อาทิ

- รัฐเกรละ ประเทศอินเดีย

ระบบการดูแลแบบประคับประคองของรัฐเกรละ ประเทศอินเดีย เป็นแม่แบบของระบบการดูแลแบบ ประคับประคองในอินเดีย ได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกให้ เป็นตัวอย่างของการพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองในชุมชนด้วย แม้ว่าได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเพียง เล็กน้อยและไม่มีการสนับสนุนในเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ

 

แต่เนื่องจากการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชนใน การจัดระบบบริการทางการแพทย์จึงทำให้การดูแลแบบประคับประคองในรัฐนี้เข้มแข็ง ปัจจุบันระบบการดูแลแบบประคับประคองในชุมชนมีอาสาสมัครในชุมชน (Community Volunteer) ประกอบด้วย กลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพที่ทำงานจิตอาสาช่วยดูแลโดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นจำนวนมากในแต่ละปีจะมี

 

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่เอื้อให้เกิด ระบบการดูแลแบบประคับประคองในชุมชนด้วย คือ ลักษณะเฉพาะของสังคมอินเดียที่เป็นครอบครัวขยาย ทำให้ในบ้านมีคน หลายรุ่นร่วมอยู่ด้วยกัน ดังนั้นจึงมีผู้ดูแลหลายคนซึ่งสามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาดูแลผู้ป่วยได้ 

 

- ไต้หวัน

ระบบกฎหมายของไต้หวันเอื้อต่อการพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคอง ทำให้ไต้หวันได้รับการประเมินให้ได้รับอันดับ 6 ของ โลกในรายงาน The 2015 Quality of Death Index Ranking palliative care across the world  เนื่องจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวันเอื้ออำนวยและส่งเสริมการ พัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองโดยมีชุดสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคอง

นอกจากนั้น ไต้หวันยังมีกฎหมาย Natural Death Act ซึ่งมีสาระสำคัญในเรื่องการพัฒนาระบบการดูแลแบบ ประคับประคองและรับรองสิทธิของประชาชนในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการ สาธารณสุข(Living will or Advance directive) โดยปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไขแล้ว 3 ครั้ง โดย เป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มเติมเรื่องการยุติการรักษาพยาบาล

 

รูปแบบการดูแลแบบประคับประคองในไต้หวันมีความหลากหลายทั้ง การดูแลในหอผู้ป่วยใน Hospice การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การดูแลในหอผู้ป่วยระยะพักฟื้น และทีมดูแลสุขภาพแบบประคับประคองในโรงพยาบาล

 

ปี 2560 มีโรงพยาบาล 62 แห่งในไต้หวันที่มีหอผู้ป่วยพักฟื้น 101 โรงพยาบาลที่มีโปรแกรมการดูแลที่บ้านแบบ Hospice มีโรงพยาบาลในชุมชน 200 แห่ง และมีโรงพยาบาล 142 แห่งที่ดำเนินการดูแลแบบ ประคับประคองแบบรวม สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ MOHW ได้บันทึกคำขอรับการดูแลแบบ ประคับประคองจากประชาชน 423,956 ราย

 

- สิงคโปร์ 

ดัชนีคุณภาพการเสียชีวิตปี ค.ศ. 2015 สิงคโปร์สามารถเลื่อนสู่อันดับที่ 12 จากอันดับที่ 18 โดยได้ทำการปรับปรุงระดับการดูแลแบบประคับประคองต่างๆ เช่น การสร้างความ ตระหนักในการบริการแบบประคับประคองแก่ประชาชน การปรับปรุงการดูแล การสร้างระบบประสานงาน และเพิ่มขีดความสามารถที่เพียงพอต่อความต้องการการดูแลในประชากรสูงอายุที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

 

แม้จะเจออุปสรรคเนื่องจากสังคมสิงคโปร์ ก็เหมือนกับสังคมเอเชียทั่วไปที่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการสนทนา เรื่องความตายในที่สาธารณะ ยังมีความเชื่อเรื่องโชคราง อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีในการปรับปรุงมาตรฐานการดูแลแบบประคับประคอง การออกแบบระบบการดูแล ระบบ การศึกษาใหม่ การสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชน และปรับปรุงระบบงบประมาณ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะยังคงปรับปรุงและทำงานเพื่อบรรลุตัวเลขหลักเดียวในการจัดอันดับดัชนีคุณภาพการตายต่อไป

 

การพัฒนาการดูแลแบบประคับประคองในสิงคโปร์ เริ่มในปี พ.ศ. 2528 สิงคโปร์ได้เริ่มเปิดดำเนินการ Hospice โดยกลุ่มแม่ชีคาทอลิกที่บ้านเซนต์โจเซฟ โดยมีจำนวนเตียงที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วย 16 เตียง 

 

กระทั่งมีการปรับปรุงและผลักดันจน ก้าวสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1995 เมื่อมีการก่อตั้งสภา Hospice แห่งสิงคโปร์ (SHC) ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมผู้แทนของทุกองค์กรที่ ให้การดูแลแบบประคับประคองในสิงคโปร์ ตั้งแต่ก่อตั้ง SHC ได้ทำหน้าที่ปรับปรุงรูปแบบการทำงาน ประสานงานหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมการดูแลแบบประคับประคองแก่ประชาชนสิงคโปร์

 

นอกจากนั้น ยังสนับสนุนการฝึกอบรมของแพทย์ พยาบาล Care giver และอาสาสมัคร และช่วยเหลือในการจัดทำมาตรฐาน และแนวทางการปฏิบัติของเรื่องการดูแลแบบประคับประคองในสิงคโปร์ บริการการดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาลเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ในแผนกผู้สูงอายุของ โรงพยาบาลตันต็อกเส็ง

 

อีกทั้งยัง พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบ ประคับประคองระยะสุดท้าย ทั้งในหลักสูตรของบุคลากร แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ทาง การแพทย์ และเภสัชกร และกลายเป็นหลักสูตรภาคบังคับของหลักสูตรปริญญาตรีทั้งหมด เนื่องจากความ ต้องการแพทย์และพยาบาล แบบประคับประคองเพิ่มขึ้น

 

การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของการดูแลแบบประคับประคองในชุมชน อีกทั้ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณการดูแลแบบ ประคับประคองทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล

 

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกระทรวง สาธารณสุข 6 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีบริการบ้านพักคนชราสำหรับผู้สูงอายุที่ดำเนินการโดยคลินิก เคลื่อนที่ เป็นบริการดูแลบ้านให้กับผู้ป่วยจนวาระสุดท้ายของชีวิตด้วย มีการจัดการดูแลทางสังคมอื่นๆ เช่น ศิลปะหรือดนตรีบำบัด สัตว์เลี้ยง พร้อมด้วย บริการ Nursing home ทั้งประเภท day care และดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการ อุดหนุนงบประมาณเพื่อการจัดบริการและการพัฒนามาตรฐานในการดำเนินการด้วย

 

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ของไทย  

มาตรา 12 บุคคล มีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียง เพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

 

การดำเนินการตามหนังสือแสดง เจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่ง แล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

 

ผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต สามารถแสดงความประสงค์ที่จะไม่รับบริการทางการแพทย์ เช่น การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อยืดความเจ็บป่วยทรมานโดยไม่จำ เป็น หากแต่ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาลตามความเหมาะสมเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและอาการต่าง ๆ

 

บุคคล ทั่วไปหรือผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะดี สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาตามมาตรา 12 ได้ด้วยตนเอง (ตัวอย่างแบบฟอร์มประกอบ) แต่ควรปรึกษาหารือกับแพทย์ พยาบาลที่มีความเข้าใจเรื่องนี้ ในกรณีผู้ป่วยเด็กนั้น ควรให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองหรือญาติที่ให้การดูแลมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือกับแพทย์ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาควรแจ้งให้คนในครอบครัว ญาติมิตร คนใกล้ชิดรับทราบเรื่องการทำหนังสือดังกล่าว

 

แพทย์ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย เพราะทำด้วยเจตนาดี ตามความประสงค์ของผู้ป่วย และกฎหมายสุขภาพแห่งชาติให้ความคุ้มครองไว้แพทย์ พยาบาลควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคหรือสภาพของผู้ป่วยแก่ผู้ป่วยหรือญาติตาม ความเป็นจริง ไม่ควรปิดบังข้อมูลใดๆ 

 

ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงช่วงเวลาและจังหวะที่เหมาะสมสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลควรจัดทำแบบฟอร์มหนังสือแสดงเจตนา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการทำหนังสือแสดงเจตนาแพทย์ พยาบาลควรอธิบายขั้นตอนการทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวให้ผู้ป่วยหรือญาติทราบ

 

ตัวอย่างหนังสือแสดงเจตจำนงค์บุคคลต่างๆ ในสังคมไทย คลิก