‘ฟินแลนด์’ ครองแชมป์ ‘ประเทศพัฒนายั่งยืน’ 2023 ไทยรั้งที่ 43 จาก 193 ประเทศ
การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ “SDGs” ของ UN มีเป้าหมายให้ 193 ประเทศทั่วโลกร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นภายในปี 2030 โดยปีนี้ “ฟินแลนด์” ทำผลงานได้เป็นอันดับหนึ่ง
Key Points:
- “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “SDGs” เป็นเป้าหมายที่ UN กำหนดขึ้นเพื่อให้ ประเทศสมาชิกทั่วโลก เข้ามามีส่วนร่วมในแนวทางพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
- จุดประสงค์ของ SDGs เน้นให้แต่ละประเทศสร้างแผนพัฒนาที่จะช่วยให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030 โดยครอบคลุมครบทุกมิติ รวมถึงมีการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- “ฟินแลนด์” คว้าอันดับ 1 ประเทศที่บรรลุเป้าหมาย SDGs มากที่สุดในปี 2023 ได้คะแนนรวม 86.76 คะแนน จาก 100 คะแนน ส่วนหนึ่งมาจากการออกนโยบายที่เน้นการพัฒนาประเทศในทุกมิติ
ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นตามมา แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการพัฒนาในเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอื่นๆ นั้น อาจนำมาซึ่ง ผลเสียได้หลายด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเท่าเทียมหรือสิทธิมนุษยชน
ดังนั้นสหประชาชาติ (UN) จึงได้ตั้ง “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “SDGs” ขึ้นมาเพื่อช่วยให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030 ด้วยความร่วมมือจากสมาชิก 193 ประเทศทั่วโลก และเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันไปจนถึงคนรุ่นหลัง ที่เรียกว่าเป็นการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ล่าสุดรายงานจาก Sustainable Development Report 2023 ระบุว่าประเทศที่มี “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดีที่สุดในปีนี้คือ ฟินแลนด์ โดยได้รับการประเมินคะแนนสูงถึง 86.76 คะแนน จากทั้งหมด 100 คะแนน ด้านประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 มีคะแนนรวมทั้งหมด 74.74 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ใน “ระดับดี” ส่วนประเทศที่อยู่ในอันดับสุดท้ายได้แก่ ซูดานใต้ ได้ 38.68 คะแนน
หลายคนอาจสงสัยว่าเพราะอะไรฟินแลนด์จึงได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง กรุงเทพธุรกิจได้สรุปความสำเร็จเบื้องต้นจากการพัฒนาประเทศในภาพรวมของ “ฟินแลนด์” มารวมไว้แล้ว ทั้งนี้ชวนทำความเข้าใจถึงความหมายของ SDGs กันก่อน
- “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “SDGs” มีความสำคัญอย่างไร
สำหรับนิยามของ การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development หมายถึง แนวทางการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในทุกรุ่น โดยไม่ลิดรอนสิทธิของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แบ่งเป็น 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth), ความครอบคลุมทางสังคม (Social Inclusion) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection) หลอมรวมกันจนกลายเป็น “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่ประเทศสมาชิก UN ร่วมกันลงนาม
โดยกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกันเรียกว่า Sustainable Development Goals หรือ SDGs เพื่อให้มีการพัฒนาโดยคำนึงถึงองค์รวมของทุกด้านอย่างสมดุลบนพื้นฐานทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ภายในปี 2030
นอกจากเป้าหมายหลัก 3 ด้านที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว SDGs ยังมีอีก 5 มิติที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนี้
1. การพัฒนาคน (People) การขจัดปัญหาความยากจน ความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม
2. สิ่งแวดล้อม (Planet) การปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเพื่อคนรุ่นหลัง
3. เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) ส่งเสริมประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีโดยสอดคล้องกับธรรมชาติ
4. สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข โดยไม่แบ่งแยก
5. ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน
ไม่เพียงเท่านั้น หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียด พบว่า “SDGs”ยังกำหนดอีก 17 เป้าหมายย่อย มาเป็นตัวชี้วัดเพื่อติดตามและประเมินความก้าวหน้าในการพัฒนาอย่างเป็นสากล ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่
- ขจัดความยากจน
- สร้างความมั่นคงทางอาหาร
- มีหลักประกันด้านสุขภาพ
- เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
- ลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ
- ทุกคนเข้าถึงน้ำสะอาด
- มีพลังงานทางเลือกราคาจับต้องได้
- สร้างงานที่มีคุณค่าเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
- ลดความเหลื่อมล้ำ
- เมืองและชุมชนยั่งยืน
- การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
- ทรัพยากรทางทะเล
- ระบบนิเวศทางบก
- ความสงบสุข ยุติธรรม สถาบันเข้มแข็ง
- ความร่วมมือเพื่อการพัฒนายั่งยืน
โดยผลการดำเนินงานโดยรวมของประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศปรากฏว่าปีนี้ “ฟินแลนด์” คว้าอันดับหนึ่งไปครองจากการวัดระดับความก้าวหน้า 17 ข้อตามเป้าหมาย SDGs
- “ฟินแลนด์” ครองแชมป์ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน
หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อเสียงของ “ฟินแลนด์” ในฐานะประเทศที่ประชากรมีความสุขมากที่สุดในโลก ขณะที่ในแง่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ฟินแลนด์เองก็เป็นที่หนึ่งเช่นเดียวกัน โดยได้คะแนนถึง 86.76 คะแนน จาก 100 คะแนน
ส่วนประเทศอื่นๆ รองลงมา 9 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน 85.98, เดนมาร์ก 85.68, เยอรมนี 83.36, ออสเตรีย 82.28, ฝรั่งเศส 82.05, นอร์เวย์ 82.00, สาธารณรัฐเช็ก 81.87, โปแลนด์ 81.80 และ เอสโตเนีย 81.68 สำหรับประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 43 มีคะแนนรวม 74.74 คะแนน
ทั้งนี้ การจัดอันดับจะวัดผลจากคะแนนภาพรวม 17 เป้าหมายย่อย แบ่งการให้คะแนนออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 50% หมายถึง อยู่ในขั้นวิกฤติ, 51-75% หมายถึง อยู่ในระดับเสี่ยง, 76-99% หมายถึง ต่ำกว่าเป้าหมาย และ 100% หมายถึง บรรลุเป้าหมาย
สำหรับเป้าหมายที่ฟินแลนด์สามารถทำได้ถึง 100% มี 3 เป้าหมายด้วยกันคือ ขจัดความยากจน การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และการเข้าถึงพลังงานทางเลือก
สิ่งที่ทำให้ฟินแลนด์สามารถทำคะแนนได้มากกว่าประเทศอื่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากที่มีนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย SDGs เน้นการขจัดความยากจนอย่างยั่งยืน และการตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งนโยบายดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายต่างประเทศ และความมั่นคง ที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎระเบียบของฟินแลนด์ ไปจนถึงความร่วมมือและการดำเนินการระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
นอกจากนี้รัฐบาลฟินแลนด์ยังส่งเสริมนโยบายทางสังคมอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ การไม่เลือกปฏิบัติ การพัฒนาที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศและการปล่อยมลพิษในระดับต่ำ ตลอดจนการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
ไม่ใช่แค่การพัฒนาภายในประเทศเท่านั้น แต่กระทรวงการต่างประเทศของฟินแลนด์ยังมีนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน และกฎหมายผู้ลี้ภัย ตลอดจนหลักการด้านมนุษยธรรมที่ UN กำหนดขึ้น ได้แก่ ความเป็นมนุษย์ ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระ
ข้อมูลจากรายงานของรัฐบาลฟินแลนด์เกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย SDGs ระบุว่ารัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลในระยะยาว โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่การแสดงความคิดเห็นไปจนถึงการให้ความร่วมมือเท่าที่จะทำได้
อาจสรุปได้ว่าการที่ “ฟินแลนด์” ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งในรายงาน “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “SDGs” นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานและผลักดันให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด และมีส่วนร่วมกับกระบวนการของภาครัฐและเอกชน
ดังนั้นหากประเทศอื่นๆ ต้องการนำฟินแลนด์ไปใช้เป็นต้นแบบ อาจเริ่มจากการนำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ของฟินแลนด์มาศึกษาและปรับใช้ให้เข้ากับบริบทประเทศของตัวเอง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการรับฟังเสียงของประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูล : Sustainable Development Report 2023, SDGs, NESDC และ Foreign Ministry of Finland
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์