ข้อมูลสถิติระดับชาติและรัฐสวัสดิการ | ภาคภูมิ แสงกนกกุล
รัฐสวัสดิการ เป็นรูปแบบรัฐชนิดหนึ่งที่รัฐเพิ่มบทบาทเชิงรุกในการจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชน รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงภัยสังคมต่างๆ ที่ถาโถมปะทะประชาชน
ดังนั้น การแทรกแซงของรัฐต้องมีวิธีการแน่นอน สามารถคาดการณ์ได้ เพื่อไม่ให้เพิ่มความเสี่ยงแก่สังคม วิธีที่ช่วยจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ คือนโยบายสาธารณะที่วางแผนจากส่วนกลาง และอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์และข้อมูล แต่การได้มาซึ่งข้อมูลจำเป็นต้องมีบทบาทของภาคประชาสังคมด้วย
ความจำเป็นของข้อมูลสถิติในการวางแผนจากส่วนกลาง
การดำเนินนโยบายสาธารณะอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่ม เสรีภาพบางกลุ่ม ทั้งทางด้านดีและไม่ดี การผลิตนโยบายสาธารณะขึ้นมาจึงต้องอาศัยการวางแผนออกแบบอย่างรัดกุมเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว และบรรลุเป้าหมายสร้างเสริมสวัสดิการสังคมโดยรวมให้ดีขึ้น
การออกแบบนโยบายสาธารณะจะไม่สำเร็จลุล่วงได้เลย ถ้าภาครัฐขาดข้อมูลสถิติระดับชาติ การเก็บข้อมูลสถิติอย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้ออกแบบนโยบายและนักวิจัยดึงข้อมูลที่เก็บไว้ใช้ในปัจจุบันและต่อเนื่องในอนาคต
ข้อมูลสถิติช่วยบอกให้เรารู้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ความเสี่ยงสังคม ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นนั้น มีลักษณะอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด และจะนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาได้อย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาความยากจน ถ้ารัฐต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวก็ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ความยากจนคืออะไร? ใครคือคนจน? นาย ก.ที่ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะมีทรัพย์สินร้อยล้าน แต่ปัจจุบันเขามีทรัพย์สินเพียงสิบล้านและรู้สึกว่าตนเองยากจน เมื่อเทียบกับนาย ข.ที่เป้าหมายชีวิตต้องการมีชีวิตสมถะมีทรัพย์สินเท่าที่เป็นอยู่ก็รู้สึกไม่ยากจนแล้ว
กรณีดังกล่าวตกลงแล้วสังคมจะมองว่าใครเป็นคนจน? ถ้าการเก็บสถิติไม่ดีพอ ก็อาจจะสร้างมโนทัศน์ให้รัฐเข้าใจว่า นาย ก.เป็นคนจน และต้องได้รับการช่วยเหลือก็เป็นได้
นอกจากนี้ ภาษีเป็นแหล่งเงินสำคัญให้รัฐทำนโยบายสาธารณะได้ ข้อมูลสถิติจึงมีบทบาทสำคัญด้านภาษีเช่นกัน เพื่อรัฐได้คาดการณ์ว่าในปีงบประมาณนั้นๆ จะมีประมาณการรายได้เข้าคลังเท่าไร? และสามารถนำไปใช้จ่ายสาธารณะในเรื่องใดได้บ้าง?
แน่นอนว่าในมุมมองของประชาชน ภาษีคือภาระทางการเงินที่ต้องสูญเสียไปในแต่ละปี เงินในกระเป๋าของเราส่วนหนึ่งจะหายไปเพื่อให้รัฐใช้จ่าย และไม่ค่อยอยากจะจ่ายเท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าภาษีที่เสียไปไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิต คุณภาพสังคมและบริการสาธารณะดีขึ้น
เมื่อความเต็มใจจ่ายภาษีประชาชนมีน้อย รัฐก็ต้องใช้วิธีการบังคับใช้ทางกฎหมายเพื่อเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งการที่รัฐจะทำได้นั้นก็ต้องอาศัยข้อมูลสถิติว่าครัวเรือนใด บริษัทห้างร้านใด มีรายได้เท่าไร มีการแจ้งข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ เพื่อมิให้เกิดการหลบเลี่ยงภาษีเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย
ข้อมูลสถิติช่วยฉายภาพในระดับครัวเรือนและมวลชน เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งการเปรียบเทียบกับตัวเองและประเทศอื่นๆ การเก็บข้อมูล
เช่น รายได้ประชาชาติ ช่วยให้เราได้รู้ว่าผลิตภาพการผลิตของแรงงานทั้งประเทศเป็นอย่างไร ระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเปรียบเทียบเป็นอย่างไร
อะไรที่เป็นจุดอ่อนและเป็นจุดแข็งที่ขัดขวางหรือส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวกระโดดได้ เพื่อให้การวางแผนส่วนกลางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจมีความแน่นอนแม่นยำมากขึ้น และวางแผนพัฒนาประเทศระยะยาวให้เหมาะสมกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน
การร่วมมือของภาคประชาสังคมในการเก็บสถิติก็สำคัญ
รัฐไทยเล็งเห็นความสำคัญของฐานข้อมูลระดับชาติ และพยายามพัฒนาการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติมีบทบาทสำคัญมายาวนาน (ตั้งแต่เริ่มเป็นสถาบันสถิติแห่งชาติในปี 2493) การเก็บสถิติของสถาบันดังกล่าวครอบคลุมข้อมูลหลากหลายมิติ เช่น ข้อมูลสถิติประชากร ข้อมูลสถิติแรงงาน ข้อมูลบัญชีประชาชาติ สถิติสวัสดิการสังคม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเก็บสถิติให้ได้สมบูรณ์ก็มิใช่อาศัยภาครัฐฝ่ายเดียว แต่ความร่วมมือจากประชาชน ภาคประชาสังคมก็ขาดมิได้เช่นกัน รัฐสวัสดิการตะวันตกมีสมรรถนะในการเก็บข้อมูลสถิติที่ดีมาก
เนื่องจากค่านิยมของประชาสังคมนิยมการเก็บข้อมูลและการบันทึกไว้ในรูปแบบข้อเขียนเอกสารมาอย่างช้านานแล้ว ก่อนที่รูปแบบรัฐสวัสดิการจะค่อยๆ ก่อร่างขึ้นมาซะอีก
ยกตัวอย่างเช่น สมาคมช่วยเหลือกันเอง (Mutual associations) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของบรรดาแรงงานอาชีพเดียวกันที่ถูกกดขี่แรงงานจากนายจ้างในศตวรรษที่ 19 มีสภาพความเป็นอยู่ที่สกปรก เสี่ยงภัยในโรงงาน พิการบาดเจ็บจากการทำงานจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อหาทางออกแรงงานจึงต่างลงขันรายได้ไว้ที่กองกลาง เพื่อนำไปใช้ด้านสวัสดิการของตัวแรงงานเองและสมาชิกครอบครัวของแรงงานเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ
ตัวสมาคมจึงต้องเก็บสถิติอย่างเป็นระบบ กองทุนมีรายได้เท่าไร ใช้ไปเท่าไร มีจำนวนสมาชิกเท่าไร เป็นต้น ซึ่งฐานข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากภาคประชาสังคมก็ได้ถูกต่อยอดรัฐนำมาใช้ เพื่อให้รัฐขยายความรับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมไปยังมิติอื่น และกลุ่มประชากรอื่น
ตัวอย่างเช่น นโยบายสาธารณะที่เล็งกลุ่มเป้าหมาย เช่น นโยบายสวัสดิการคนจน เงินช่วยเหลือคนจนเป็นเครื่องมือทางนโยบายที่รัฐสวัสดิการตะวันตกทุกประเทศนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน
บางประเทศก็ใช้เครื่องมือนี้มากบางประเทศก็ใช้เครื่องมือนี้น้อย ข้อมูลที่ละเอียดแม่นยำระดับครัวเรือนก็ช่วยให้ เงินโอน หรือความช่วยเหลือจากรัฐส่วนกลางให้กลุ่มประชากรยากจน กลุ่มประชากรที่ยากลำบาก ได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น ลดความผิดพลาดของการให้กลุ่มประชากรผิดกลุ่มลง
สำหรับประเทศไทยยังมีช่องว่างของข้อมูลที่รอการถมอยู่เช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อตัวเลือกเครื่องมือนโยบายสาธารณะมีจำนวนน้อยลงด้วย ความพยายามของนโยบายบัตรสวัสดิการในด้านหนึ่ง
คือ รัฐต้องการเก็บข้อมูลประชากรยากจนให้แม่นยำมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลด้านนี้ของประเทศไทยยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ประสิทธิภาพของเงินโอนและความช่วยเหลือจากรัฐไม่สามารถช่วยเหลือกลุ่มคนได้ตรงเป้าหมายมากนัก
บางคนไม่ได้จนจริงก็ได้ความช่วยเหลือ บางคนจนจริงกลับไม่ได้ความช่วยเหลือ เป็นต้น สุดท้ายรัฐไทยจึงต้องหันมาใช้นโยบายแบบถ้วนหน้ามากขึ้นเพื่อมิให้กลุ่มประชากรที่ลำบากจริงหลุดรอดตาข่ายปกป้องสังคม แล้วเผชิญความลำบากด้วยตัวคนเดียว
ดังนั้น รัฐสวัสดิการจึงมิใช่ให้ความสำคัญของภาครัฐอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยภาคประชาสังคมด้วยเช่นกัน รัฐสวัสดิการต้องกระตุ้นให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งขึ้น สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนมากขึ้น
ส่วนการแจ้งรายได้ แจ้งภาษี และการแจ้งความยากจน ก็มิใช่เรื่องการไปตอกย้ำว่าใครคือคนจน แต่ต้องทำในโจทย์ที่อยากสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชนและภาครัฐ เพื่อแจ้งข้อมูล สภาพที่เป็นจริง เป็นฐานข้อมูลประกอบการออกแบบนโยบายสาธารณะให้มีความแน่นอนมากขึ้น