วิกฤติเด็กเกิดน้อย : เข้าใจปัญหาและทางออกเชิงนโยบาย

วิกฤติเด็กเกิดน้อย : เข้าใจปัญหาและทางออกเชิงนโยบาย

ช่วงที่ผ่านมากระแสสังคมโฟกัสไปที่การปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่อีกประเด็นทางสังคมอีกด้านที่เชื่อมโยงเรื่องสังคมสูงวัยที่สำคัญพอ ๆ กัน (หรืออาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำหากมองไปที่อนาคตประเทศ) แต่ยังมีการหยิบยกมาพูดน้อยเกินไป คือ “วิกฤติเด็กเกิดน้อย”

ล่าสุดที่กลายเป็นประเด็นคือเมื่อ รมว.สาธารณสุขประกาศผลักดันนโยบายเพิ่มประชากรให้เป็นวาระแห่งชาติ หลังพบอัตราการเกิดต่ำเพราะคนไทยไม่ยอมมีลูก และระบุว่าเป็น “ความบิดเบี้ยว” ในสังคมไทย จนทำให้ ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน แสดงความเห็นแย้งในเรื่องนี้

เพราะมองว่า “การที่คู่รักไม่ต้องการมีลูก ไม่ใช่เรื่องที่บิดเบี้ยว แต่เป็นเรื่องของเขา” ผมเลยอยากชวนพูดคุยเรื่องนี้ในเชิงลึกมากขึ้น ทั้งการสร้างความเข้าใจว่าทำไมคนไทยจึงอยากมีลูกน้อยลงหรือไม่มีเลย รวมทั้งเสนอทางเลือกเชิงนโยบายที่ไม่ก้าวล่วงการตัดสินใจส่วนตัวของผู้ที่จะเป็น (หรือไม่อยากเป็น) พ่อแม่
 

สถิติในปี 2565 พบว่า มีเด็กไทยเกิดใหม่เพียง 5 แสนคนเท่านั้น ซึ่งจำนวนนี้ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี  และนับว่าเป็นปีที่สองติดต่อกันที่อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ประชากรไทยจาก 70 ล้านในขณะนี้จะลดเหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

ปรากฎการณ์เด็กเกิดน้อยนี้ มาจากการวางแผนใช้ชีวิตคู่แบบ “ไม่มีลูก” ของคนหนุ่ม-สาว แต่อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คู่ชีวิตยุคใหม่ถึงตัดสินใจแบบนี้ เชื่อว่ามีหลายสาเหตุที่สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้

ประการแรก น่าจะเป็นเพราะ คนจำนวนไม่น้อยเริ่มมองว่าการมีลูกเท่ากับ “มีภาระ” แต่มิติของภาระนี้ต่างกับในอดีตที่คนยังไม่ค่อยมีรายได้ จึงอาจไม่อยากมีลูกมาเพิ่มค่าใช้จ่าย (ยกเว้นสมัยก่อนมาก ๆ ที่เกษตรกรหรือกลุ่มรากหญ้าจำนวนหนึ่งอยากมีลูกมากเพื่อมาช่วยงานในท้องนาหรือช่วยค้าขาย)

แต่ในปัจจุบันคนจะเป็นพ่อแม่จำนวนไม่น้อยตั้งเป้าหมายว่า ถ้าจะมีลูกก็ต้องเป็นลูกที่มีคุณภาพที่ค่อนข้างสูง เช่น ต้องมีของเล่นดีๆ หรือ เรียนโรงเรียนเอกชนราคาแพง เรียนโรงเรียนอินเตอร์ ซึ่งหมายถึงรายจ่ายที่สูงเกินกว่ากำลังของหนุ่มสาวรายได้ปานกลางมาก 

ดังนั้น คู่สามีภรรยาในปัจจุบันที่ไม่แน่ใจว่า ถ้ามีลูกเขาจะสามารถเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพที่ดีได้หรือไม่ เกิดความไม่แน่ใจเลยตัดสินใจที่จะไม่มีลูก

ประการที่สอง คนในยุคก่อนมักจะคาดหวังให้ลูกเลี้ยงดูตัวเองตอนแก่ แต่ความคาดหวังนี้น่าจะลดน้อยลงมากแล้วในยุคปัจจุบัน ด้วยเพราะคนยุคใหม่เชื่อว่าจะสามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งภาครัฐมีนโยบายดูแลผู้สูงอายุที่มากขึ้น เช่นการมีหลักประกันหลักสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งแนวคิดที่ว่าถ้าไม่มีลูกก็จะทำให้เก็บออมเงินได้มากขึ้นเพื่อไปดูแลตัวเองตอนชราได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งลูกหลานให้เลี้ยง

วิกฤติเด็กเกิดน้อย : เข้าใจปัญหาและทางออกเชิงนโยบาย

ประการที่สาม  คู่ชีวิตหลายคู่มีความต้องการอิสระในการใช้ชีวิตสูง อยากเที่ยวและทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ รวมทั้งการเปลี่ยนอาชีพไปเรื่อย ๆ การมีลูกจะทำให้ทางเลือกเหล่านั้นน้อยลง หรือต้องระวังตัวมากขึ้นในการทดลองสิ่งใหม่ 

ประการที่สี่ “สังคมไม่น่าอยู่” ทำให้ไม่อยากมีลูก เพราะลูกจะต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี สิ่งแวดล้อมไม่ดี รวมไปถึงเรื่องของการเมืองที่ไม่ดี แม้เรื่องนี้จะได้ยินไม่มากนัก แต่ก็มีหลายคนที่ให้เหตุผลนี้ในการเลือกไม่มีลูก

เมื่ออัตราการเกิดน้อย ประชากรย่อมน้อยลง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายมิติ 

ที่เด่นชัดที่สุด คือ ประเทศไทยจะมีแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลง  ไม่สามารถสร้างรายได้ หรือ สร้าง GDP ได้ 
นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยจะ “โตน้อย-โตช้า” จากในอดีต 20 กว่าปีก่อนที่เคยเห็นเศรษฐกิจเติบโต 5 -7 เปอร์เซ็นต์  ต่อมาในระยะหลังเติบโต 3-4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสัดส่วนนี้ถือเป็นการเติบโตที่น้อยแล้ว

 แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าอาจได้เห็น GDPของไทยอาจโตไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ หากยังไม่สามารถเพิ่มคุณภาพหรือผลิตภาพ (productivity) ของคนที่มีอยู่หรือจะมีในอนาคต

ความล้มเหลวในเรื่องคุณภาพคนนี้ถือเป็นการ “ซ้ำเติม” ปัญหา และไม่ใช่เพียงเรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลต่อในเรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาสังคมอื่นด้วย

วิกฤติเด็กเกิดน้อย : เข้าใจปัญหาและทางออกเชิงนโยบาย

เพราะจากสถิติเด็กที่ยังเกิดอยู่ในปัจจุบันจำนวนมากเกิดในครอบครัวที่ไม่พร้อมจะเลี้ยงดูเขาให้เติบโตมาอย่างเต็มศักยภาพได้ (เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มากกว่าครึ่ง (57%) อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะเศรษฐกิจระดับล่าง (bottom 40)) ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเด็กเหล่านี้หลายคนมีศักยภาพสูงมาก สามารถเป็นกำลังสำคัญในการดูแลครอบครัวของเขาและทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศและสังคมโดยรวม

การที่พวกเขาเสียโอกาสนี้ไปเท่ากับสังคมเสียโอกาสนี้เช่นกัน ปัญหานี้ในทางวิชาการมีชื่อเรียกว่า Lost Einstein ซึ่งอาจแปลได้ว่า ‘อัจฉริยะผู้สาบสูญ’ ผมเชื่อว่าสังคมไทยสูญเสียโอกาสในลักษณะนี้จำนวนมหาศาลในช่วงหลายสิบปีที่เราไม่ได้ให้โอกาสเด็กคุณภาพสูงเหล่านี้

    สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือบริษัทใหญ่อาจเลิกจ้างแรงงาน และหันไปพึ่งพาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเครื่องจักรมากขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะคนที่จะถูกเลิกจ้างจะเป็นกลุ่มแรงงานทักษะต่ำ รวมถึงโอกาสในอนาคตของเด็กยากจนที่เกิดในครอบครัวไม่พร้อมที่กล่าวไว้แล้ว

พัฒนาการลักษณะนี้จะทำให้เจ้าของบริษัทรวยขึ้นแต่แรงงานจนลง  และเมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำสูงอาจเป็นชนวนเหตุให้ความขัดแย้งทางสังคมและทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ทวีความรุนแรงขึ้นจากปัจจุบันไปอีก

    ผลกระทบต่อมาเมื่อแรงงานรายได้น้อยลงจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้ลดลง ย่อมส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอในการดูแลผู้สูงอายุและเด็กเกิดใหม่ให้มีคุณภาพได้ กลายเป็นวังวนอันเลวร้ายสืบไป

จากผลกระทบหลายด้านที่กล่าวถึง เราจึงควรมีนโยบายเชิงรุกสำหรับปัญหานี้ ประการแรกคือรัฐบาลควรกำหนดให้การพัฒนาเด็กเยาวชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ให้เป็นวาระแห่งชาติ และระดมทุกภาคส่วนทั้งหน่วยราชการที่มีความเกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มาร่วมกันผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โดยแนวทางหลักที่ควรจะเป็นคือการเร่งพัฒนาคุณภาพของเด็กและเยาวชนทั้งที่เกิดแล้วและที่จะเกิดใหม่ ซึ่งบางเรื่องอาจช่วยทำให้อยากมีลูกมากขึ้นโดยสมัครใจ หัวใจสำคัญ คือต้องแน่ใจว่าจะไม่มีเด็กแม้แต่คนเดียวที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในแง่ของการพัฒนาศักภาพของเขา

วิกฤติเด็กเกิดน้อย : เข้าใจปัญหาและทางออกเชิงนโยบาย

รัฐบาลจำเป็นมากที่จะต้องเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เด็กเกิดใหม่ทุกคน เช่น การให้เงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้าด้วยจำนวนเงินที่สูงกว่าปัจจุบัน การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทุกแห่งให้มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสที่พ่อแม่จำเป็นต้องนำลูกไปฝากดูแลระหว่างที่ไปทำงานได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ การมีนโยบายเฉพาะด้านสำหรับเด็กในครอบครัวแหว่งกลางที่ผู้ดูแลคือปู่ย่าตายายที่อาจไม่เท่าทันความคิดใหม่ ๆ ในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

และอยากชวนคิดว่า ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยควรมีนโยบายเรื่องการรับผู้อพยพ (migrants) ที่มีคุณภาพให้เข้ามาอยู่ถาวรในประเทศไทยและอาจได้สัญชาติไทยในที่สุด เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในภาวะที่แรงงานเริ่มขาดแคลนทั้งในเรื่องปริมาณและคุณภาพ

เหมือนเช่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าสร้างประเทศจากผู้อพยพที่สุดท้ายได้สัญชาติอเมริกัน ในกรณีของไทยอาจเพิ่มมิติการให้สัญชาติกับเด็กต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในไทยตั้งแต่เด็กเล็กหรือกระทั่งเกิดในไทย

เด็กเหล่านี้จำนวนมากมีความรู้สึกว่าเป็นคนไทยมากกว่าสัญชาติของพ่อแม่ พูดภาษาไทยเป็นหลัก (หรือกระทั่งพูดไทยอย่างเดียว พูดภาษาพ่อแม่ไม่ได้เลย) ซึมซับวัฒนธรรมไทย หากเรามีแผนพัฒนาคุณภาพของเด็กเหล่านี้แบบเดียวกับที่จะให้กับเด็กไทย เชื่อว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาจะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทย และช่วยบรรเทาผลกระทบของการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของเราได้

วิกฤติเด็กเกิดน้อย : เข้าใจปัญหาและทางออกเชิงนโยบาย

    ส่วนมาตรการนโยบายส่งเสริมให้มีลูกมากขึ้นแบบตรงไปตรงมา ก็มีการทำในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ถ้ามีลูกรัฐบาลจะสนับสนุนเงินให้ ขณะที่ในบางประเทศเพิ่มสิทธิวันลาคลอดให้กับแม่ และมีบางประเทศให้สิทธิการลาคลอดกับพ่อเพื่อดูแลลูก ซึ่งสามารถช่วยผ่อนคลายปัญหาการดูแลเด็กแรกเกิดได้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น เช่น ในเกาหลีใต้ ทำราคาบ้านให้ถูกลง เพื่อเอื้อต่อการสร้างครอบครัว  แต่มาตรการเหล่านี้แม้อาจได้ผลค่อนข้างจำกัดแต่ก็ควรได้รับการพิจารณาด้วยเช่นกัน

สุดท้าย เราต้องไม่ละเลยสิ่งที่สำคัญอีกประการในการจูงใจให้คนอยากมีลูก คือ การร่วมมือสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ เพื่อ “ตอบโจทย์” ของพ่อแม่บางคู่ที่รู้สึกว่าไม่อยากให้ลูกเกิดมาอยู่ในสังคมที่ไม่ดี แต่ถ้าร่วมกันทำให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียง มีความเท่าเทียม มีการเคารพกันและกันและเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็อาจทำให้บางคู่ตัดสินใจที่จะมีลูกได้

 และเมื่อสามารถชะลอปัญหาที่จะเจอในอนาคต ทำให้ประเทศมีเวลาในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้ดีขึ้น