'แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง'กระทบชาวบ้าน-สิ่งแวดล้อม
ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบาย 'โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร-ระนอง' ถือเป็นแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย
Keypoint:
- เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร ได้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอพะโต๊ะ ขอให้ยุติกระบวนการโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ระบุอยากให้ชี้แจงข้อสงสัยก่อน
- โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งด้านที่ดินทำกิน ถูกเวนคืนที่ดิน การเกษตร และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางน้ำ และอากาศ
- ชุมพร เป็นพื้นที่เกษตรกรไม่ใช่เขตนิคมอุตสาหกรรม ประชาชนร้อยละ 97.09 % ทำอาชีพเกษตรกร ทุกคนเป็นนายจ้าง เป็นเจ้าของกิจการ โครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้สร้างประโยชน์แต่สร้างผลกระทบ
ทว่ากลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ได้เรียกร้องให้มีการชี้แจงรายละเอียดโครงการจะสร้างผลกระทบ หรือปัญหาให้แก่ชาวบ้าน คนในพื้นที่อย่างไรบ้าง
ล่าสุด ( 30 ต.ค.66 ) เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ได้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอพะโต๊ะ ณ ที่ว่าการอำเภอพะโต๊ะ เรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่กำลังจัดเวทีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ยุติการจัดเวที หรือการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการเข้ามาชี้แจงข้อสงสัย
โดยหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามข้อเรียกร้องดังกล่าว จะปฏิเสธความร่วมมือและจะร่วมกันคัดค้านการจัดเวทีหรือการทำกิจกรรมอื่นใดของทุกหน่วยงานหลังจากนี้ไปอย่างถึงที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘แลนด์บริดจ์’ มหาโปรเจกต์ 1 ล้านล้าน คุ้มค่าหรือไม่กับสิ่งแวดล้อม?
ปักหมุดท่าเรือชุมพร - ระนอง บิ๊กโปรเจกต์ประตูการค้า 'แลนด์บริดจ์'
หวั่นกระทบต้นน้ำแม่น้ำหลังสวน
'สมโชค จุงจาตุรันต์' แกนนำเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่าตั้งแต่มีการนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ได้ติดตามข้อมูล และเข้าร่วมเวทีต่างๆ ที่มีการนำเสนอ รวมถึงการรับฟังข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งพบว่าข้อมูลที่ทางสนข.นำเสนอนั้นเป็นข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่ได้สะท้อนว่าหากมีการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วจะสร้างผลกระทบ หรือปัญหาให้แก่ชาวบ้าน คนในพื้นที่อย่างไรบ้าง
แกนนำเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ อธิบายว่าพะโต๊ะมีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำหลังสวน และคลองละแม มีเขตอนุรักษ์หลายแห่ง ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้น 1A มีสัตว์หายาก เช่น กระทิง ช้าง วัวแดง กวาง เสือ ค่าง หมูป่า ลิงเสน กระจง นกเงือก
โครงการดังกล่าวจะนำนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามมา มีการผลักดันกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC ที่ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หลายอำเภอในจังหวัดชุมพรเป็นแหล่งปลูกผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ที่มีมูลค่าสูง ปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท พื้นที่ปลูกทุเรียนโดยส่วนใหญ่อยู่ที่พะโต๊ะและหลังสวน ในอนาคตจะมีการแย่งน้ำระหว่างเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม
แลนด์บริดจ์ ชุมพร -ระนอง ฝากถามสร้างงานให้ใคร
'สมโชค' กล่าวต่อว่าสินค้าการเกษตร เป็นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวมาตลอด จะบอกว่า การสร้างโครงการแลนด์บริดจ์จะสร้างรายได้ สร้างงานกว่า 2.8 แสนตำแหน่งนั้น อยากถามว่าสร้างให้ใคร เมื่อคนในพื้นที่เป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของสวน จ้างแรงงานต่างด้าววันละ 500 บาท มีรายได้เป็นของตัวเอง ชาวบ้าน อ.พะโต๊ะ ทำเกษตร 6,178 ครัวเรือน คิดเป็น 97.09 % มีพื้นที่เกษตรรวม 149,578 ไร่ มีรายได้จากเกษตรปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท
โดยที่ดิน 80 % ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถ้าถูกเวนคืนจะได้รับเฉพาะค่าอาสินที่ให้ผลผลิตแล้ว เช่น ทุเรียนต้นละ 18,740 บาท มังคุดต้นละ 5,710 บาท ปาล์มน้ำมัน อายุ 3 ปีขึ้นไป ต้นละ 5,800 บาท ยางพารา ต้นละ 4,370 บาท กรณีสวนทุเรียน เนื้อที่ 8 ไร่ ประมาณ 60 ต้น
ถ้าถูกอพยพเวนคืนจะได้ค่าอาสินแค่ 1.1 ล้านบาท ไม่สามารถซื้อที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ในจำนวนเท่าเดิม เพราะปัจจุบันที่ดินมีราคาสูง แต่หากเรายังคงอยู่ในพื้นที่จะมีรายได้จากทุเรียน ปีละประมาณ 2.5 ล้านบาท สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดชีวิต และเป็นมรดกให้ลูกหลาน
แนะศึกษา SEA ไม่ใช่จัดทำเพียง EHIA
'สมโชค' กล่าวต่อว่าโครงการดังกล่าว ไม่ได้เรียกว่าพัฒนาพื้นที่ หากโครงการเกิดขึ้นจริงสร้างผลกระทบทั้งชาวบ้าน การทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย และด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องน้ำ เพราะจะสร้างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 18,740 ไร่ อยากถามว่าพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะใช้แหล่งน้ำจากไหน ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบ
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาของเสีย น้ำเสีย ขยะพิษ อากาศพิษ จากนิคมอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิต และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงปัญหาสิทธิทำกิน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสาร เป็นผู้บุกเบิก อยู่มาก่อนที่ภาครัฐจะมากำหนดพื้นที่ หรือประกาศว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน หรือเวนคืนที่ดิน
"ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างโครงการ แลนด์บริดจ์ มีเยอะมาก จึงอยากเรียกร้อง ให้นายกฯ ใจเย็น ควรหยุดการไปทำโรดโชว์ที่ต่างประเทศ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) และที่สำคัญควรรับฟังชาวบ้านบ้าง เพราะที่แห่งนี้เป็นที่มั่นสุดท้ายของชาวบ้าน”สมโชค กล่าว
มลพิษ ส่งผลกระทบการเกษตร
'เฉลิมอุษา สีเขียว' ตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร ซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่มากกว่า 30 ปี เล่าว่า ผลกระทบที่เห็นชัด คือ ผู้สูงอายุซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 50% จิตใจย่ำแย่ แม้จะบอกว่า เป็นโครงการที่สร้างความเจริญให้กับคนในพื้นที่ แต่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีรายได้จากเกษตรกรรม หากมีนิคมอุตสหากรรมคิดว่ามีหลายร้อยครอบครัวที่ต้องอพยพ เกิดการแย่งน้ำการเกษตร อีกทั้ง เรื่องควบคุมน้ำเสียที่ปล่อยจากโรงงาน และมลพิษทางอากาศซึ่งควบคุมได้ยาก
“ผลกระทบครั้งใหญ่ คือ นิคมอุตสาหกรรมที่ตามมา 18,740 กว่าไร่ เฉพาะ อ.พะโต๊ะ ส่วนที่แหลมริ่ว 47,800 ไร่ และยังมีอ่าวอ่าง จ.ระนอง 3,369 ไร่ ความยาวทั้งหมดของโครงการ 89.350 กิโลเมตร ผ่าน อ.พะโต๊ะ ราว 40 กิโลเมตร อยากให้ศึกษาผลกระทบใหม่ทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อคน และอาจจะลามไปถึงการท่องเที่ยว เป็นความหายนะของภาคใต้ เพราะเมื่อไรที่มีท่าเรือ ก็จะมีน้ำมันรั่ว การประมงก็ทำไม่ได้”เฉลิมอุษา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงาน ไม่ให้ข้อมูลผลกระทบ ไม่ให้ข้อมูลภาพรวม แยกส่วนโครงการรถไฟ มอเตอร์เวย์ และอื่นๆ พื้นที่พะโต๊ะ ส่วนใหญ่ทำเกษตร เชิญเข้าร่วมเวทีเฉพาะเจ้าของที่ดินที่มีโฉนด นส.3 ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เลยได้เข้าร่วมเวทีน้อย การเข้ามารังวัดที่ดินไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่แจ้งเจ้าของที่ดิน การรับฟังในช่วงแรกๆ เขาถามความเห็นเฉพาะผู้นำชุมชน โครงการยังไม่ได้สร้างก็มีผลกระทบต่อจิตใจ เกิดความวิตกกังวลว่าจะถูกอพยพโยกย้าย ไม่มีบ้านที่ทำกิน โดยเฉพาะคนที่มีที่ดินแปลงเดียว
ชุมพร-ระนอง พื้นที่เกษตรกรรม ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม
'หาญณรงค์ เยาวเลิศ' ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการฯ (ประเทศไทย)กล่าวว่าโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยอย่างแรก คือ เรื่องที่ทำกินชาวบ้านที่จะถูกเวนคืน อ.หลังสวน และ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและเป็นภูเขา ขณะเดียวกัน จ.ระนอง ยังเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และบางจุดเป็นพื้นที่ทำประมงพื้นบ้าน นอกจากนี้ การถมทะเลทั้งฝั่งระนองราว 6,900 ไร่ และ ฝั่งชุมพรราว 5,800 ไร่ วัสดุที่ถม คือ ทรัพยากร ทั้งระเบิดหิน ภูเขา
“ภูมิประเทศ อ.พะโต๊ะ ฝั่งหนึ่งเป็นภูเขา อีกฝั่งเป็นแม่น้ำ ใน 4 ตำบลของ อ.พะโต๊ะ สิ่งที่เป็นห่วงมาก คือ นิคมอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อนิคมอุตสาหกรรมเกิดแบบภาคตะวันออก สุดท้ายการแย่งชิงน้ำจากเกษตรกรก็จะเพิ่มมากขึ้น ชุมพรเป็นเมืองเกษตรกรรม ไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม” หาญณรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ อ.หลังสวน ระหว่างเดือน ส.ค. – ต.ค. ถือเป็นศูนย์รวมของล้งที่ทำการส่งผลไม้ไปต่างประเทศ ราว 400 – 600 ล้ง ผลไม้ที่มาขึ้นที่นี่ มาจากสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา
'หาญณรงค์' กล่าวต่อว่า แม้จะมีท่าเรือก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเรือเข้าเพื่อส่งไปจีน เพราะทุกวันนี้ ที่ส่งไปประเทศจีน มีหลายทาง คือ ขึ้นไปทางเชียงของ ไปคุนหมิง มีระบบ แต่ตอนนี้สิ่งที่คนใต้อยากได้ คือ ถนนจาก 2 เลน เป็น 6 เลน เพื่อให้รถบรรทุกสามารถทำเวลาได้ เพราะส่วนใหญ่ผลไม้ขนส่งทางบก
ขณะเดียวกัน จ.ระนอง จุดรอยต่อบ้านราชกรูด และ อ.กะเปอร์ ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ทำประมงพื้นบ้าน มีอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว และ ป่าเลนชายระนอง ถูกขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่เขตสงวนชีวมณฑลระนอง (Biosphere Reserve) รวมถึงมีพื้นที่แรมซาไซต์ และบางส่วนที่ได้รับผลกระทบอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ฉะนั้น พื้นที่เกษตรกรรม ไม่ควรส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรม