‘เศรษฐา’ โรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ นำเสนอ ‘เวทีผู้นำ’ มั่นใจต่างชาติสนใจลงทุน
“เศรษฐา” เดินหน้าโรดโชว์แลนด์บริดจ์ เตรียมไปสหรัฐ พ.ย.นี้ โชว์บนเวทีเอเปค “คมนาคม” เตรียมความพร้อมโรดโชว์ต้นปี 67 เล็งเป้าหมายประเทศที่มีสายเดินเรือ จีน-สิงคโปร์-ฝรั่งเศส สศช.แนะทำ SEA เปิดผลศึกษาเส้นทางเดินเรือชี้เป้าหมายเป็นเรือผ่านช่องแคบมะละกาแวะท่า 1 ครั้ง
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 เห็นชอบให้มีการรับฟังความเห็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างด่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดรูปแบบการพัฒนา 3 ส่วน ดังนี้
1.ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยในฝั่งอ่าวไทยตั้งอยู่ที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนองรองรับสินค้า 20 ล้าน TEU มีร่องน้ำลึก 21 เมตร ส่วนฝั่งอันดามันตั้งอยู่ที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้า 20 ล้าน TEU มีร่องน้ำลึก 17 เมตร
2.การเชื่อมการขนส่งระหว่างท่าเรือ ประกอบด้วยมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร ระยะทาง21 กิโลเมตร ,รถไฟคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร และรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร 3.ท่อขนส่งน้ำมันสำหรับน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ
การที่รัฐบาลผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ทำให้บริษัทเอกชนไทยและต่างชาติเริ่มให้ความสนใจติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด โดยรัฐบาลได้เตรียมการโรดโชว์ต่างประเทศ เพื่อดึงบริษัทต่างชาติมาร่วมลงทุนในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้พัฒนาท่าเรือ , ทางรถไฟ 1.435 เมตร , มอเตอร์เวย์และการพัฒนาพื้นที่หลังท่า โดยได้รับสิทธิการพัฒนา 50 ปี
ล่าสุดการเดินทางเยือนต่างประเทศของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พบนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2566 ได้หารือถึงแลนด์บริดจ์ รวมถึงการเยือนซาอุดิอาระเบียวันที่ 21 ต.ค.2566 ได้เสนอแลนด์บริดจ์ให้เอกชนซาอุดิอาระเบียรับทราบ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เริ่มนำโครงการแลนด์บริดจ์ไปโรดโชว์ต่างประเทศในระหว่างพบผู้นำประเทศและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนรายใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจมาก
ทั้งนี้ ในการเดินทางไปเยือนสหรัฐของนายกรัฐมนตรีและคณะ เพื่อประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) กลางเดือน พ.ย.2566 นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้โปรโมทแลนด์บริดจ์ที่เปิดรับการลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อให้ผู้นำประเทศและผู้บริหารระดับสูงบริษัทเอกชนทั่วโลกรับทราบ
“โครงการนี้มีขนาดใหญ่มูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท โดยหลังจาก ครม.เห็นชอบแล้วนยกรัฐมนตรีได้พูดกับผู้นำประเทศต่างๆ เกี่ยวกับโครงการนี้ ผู้นำหลายประเทศสนใจมาก บางคนถึงขนาดจดรายละเอียดของโครงการไว้ด้วยความสนใจ และเมื่อเปิดประมูลร่วมลงทุนเชื่อว่าจะได้ผลตอบรับที่ดี”
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายกรัฐมนตรีเยือนสหรัฐเพื่อร่วมประชุมผู้นำเอเปค 2023 ในวันที่ 12-18 พ.ย.2566 รวมทั้งเยือนญี่ปุ่น เพื่อร่วมประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit ในวันที่ 14-17 ธ.ค.2566 โดยนายกรัฐมนตรีจะนำโครงการแลนด์บริดจ์ไปนำเสนอด้วย
“คมนาคม”เตรียมแผนโรดโชว์
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ได้ศึกษาจุดที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง และฝั่งอ่าวไทยอยู่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร
สำหรับการลงทุน สนข.ประเมินจะใช้วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท
“ครม.เห็นชอบในหลักการแล้วเพื่อเตรียมโรดโชว์ต่างประเทศ ส่วนผลการศึกษายังไม่เสร็จสมบูรณ์เพราะต้องเข้าพื้นที่โครงการเพื่อประเมินอีกครั้ง ก่อนจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)"
เล็งดึง“จีน-สิงคโปร์-ฝรั่งเศส”
นอกจากนี้ จะเริ่มโรดโชว์ได้ในปี 2567 เป็นการทำงานคู่ขนานระหว่างรอการอนุมัติรายงาน EHIA โดยจะเป็นการเริ่มโรดโชว์สอบถามความเห็นนักลงทุนในไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP)"
ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศเชิญชวนนักลงทุนร่วมลงทุนได้ต้นปี 2568 หลังจากนั้นจะลงนามร่วมทุนในไตรมาส 3 ปี 2568 ซึ่งเป้าหมายนักลงทุนต่างชาติที่ สนข.ประเมินไว้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศที่มีสายการเดินเรือ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ฝรั่งเศสและเยอรมัน
สำหรับรูปแบบการลงทุนที่ สนข.ศึกษาไว้เปิดกว้างเอกชนต่างชาติถือหุ้นเกิน 50% เพราะมีมูลค่าการลงทุนสูง โดยเอกชนที่เข้ามาลงทุนจะได้รับสัมปทาน 50 ปี ซึ่งเป็นช่วงสัญญาสัมปทานที่จะจูงใจเอกชนและมีความคุ้มค่าทางการลงทุนน
สศช.แนะทำรายงาน SEA โครงการ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากมีการศึกษาโครงการรอบด้านแล้ว ยังต้องเน้นที่การประชาสัมพันธ์โครงการ และสร้างการมีส่วนรวมของคนในพื้นที่
ทั้งนี้ การเดินหน้าโครงการลักษณะนี้ต้องทำการจัดทำการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ (SEA) ควบคู่กับการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้การเดินหน้าโครงการในระยะต่อไปไม่ถูกคัดค้านจากคนในพื้นที่
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ สศช.และศูนย์บริการวิชาการแห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้การเชื่อมเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยรายงานดังกล่าวให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยกับอันดามันของไทย รวมทั้งวิเคราะห์การเดินทางผ่านของเรือ
เปิดผลศึกษาเส้นทางเดินเรือ3กลุ่ม
ทั้งนี้ ข้อมูลการเดินเรือในช่องแคบมะละกาปี ค.ศ.2019 มีเรือผ่าน 83,724 ลำ มีเรือบรรทุกสินค้า 5 กลุ่มหลัก และมีเรือผ่านช่องแคบมะละกาสูงถึง 78,029 ลำ คิดเป็น 93.2% ของจำนวนเรือผ่านทั้งหมด ได้แก่ เรือบรรทุกสินค้าตู้ (Container Ship) เรือบรรทุกสินค้าเทกอง (Bulk Cargo Ship) เรือบรรทุกสินค้าทั่วไป (General Cargo) และเรือบรรทุกสินค้าเหลว (Tanker Ship และ LNG & LPG)
รวมทั้งเมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลบริษัท Llyod จำแนกรูปแบบการเทียบท่าของเรือที่เข้าช่องแคบมะละกาได้ 3 รูปแบบหลัก คือ 1.เรือที่แล่นผ่านช่องแคบโดยไม่เทียบท่าใดๆ 2.เรือที่เข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือเพียง 1 แห่ง และ 3.เรือที่เทียบท่าที่ท่าเรือตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป
ทั้งนี้ การวิเคราะห์พบว่าเส้นทางการเดินเรือ West-West เป็นการเดินเรือที่เทียบท่าเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน ไม่ข้ามไปฝั่งทะเลจีนใต้ ซึ่งกรณีการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์เส้นทางประเภทนี้ ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางเดินเรือรองเพื่อป้อนสินค้าให้เส้นทางเดินเรือหลัก
ส่วนเส้นทาง East-East เป็นการเดินเรือเทียบท่าเฉพาะฝั่งทะเลจีนใต้ ไม่ข้ามไปฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเส้นทางเดินเรือรองรับส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ให้เส้นทางเดินเรือหลัก เช่นเดียวกับเรือบนเส้นทาง West-West
เส้นทางเดินเรือข้ามจากฝั่งทะเลด้านหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งของช่องแคบ เช่น เส้นทาง East-West จากทะเลจีนใต้ไปทะเลอันดามัน หรือเส้นทาง West-East จากทะเลอันดามันไปทะเลจีนใต้ ซึ่งกรณีการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางเดินเรือหลัก
ชี้เป้าหมายเรือที่ผ่านช่องแคบมะละกา
รวมทั้งผลการศึกษาระบุว่า กลุ่มเรือเป้าหมายที่จะใช้บริการแลนด์บริดจ์ คือ เรือที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกาหรือสิงคโปร์ โดยเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือเพียง 1 แห่ง แต่หากเป็นเรือที่มีภารกิจต้องเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกามากกว่า 1 แห่งขึ้นไปนั้น โอกาสที่เรือจะย้ายฐานการปฏิบัติการถ่ายลำบางส่วนมายังท่าเรือในแลนด์บริดจ์นั้นอาจจะยาก เพราะจะมีความซับซ้อนและคาดว่าสายเรือจะไม่เสียเวลาแวะท่าเรือที่สร้างใหม่ในไทย
ส่วนเรือที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกา โดยไม่เทียบท่าเลยจะไม่ใช้บริการแลนด์บริดจ์เพราะเกิดการขนถ่ายซ้ำซ้อน (Double Handling) จากการที่ต้องนำสินค้าทั้งหมดบนเรือถ่ายลงจากเรือที่ท่าเรือฝั่งหนึ่งแล้วขนส่งทางบกข้ามไปถ่ายขึ้นเรือที่ท่าเรืออีกฝั่งหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้เรือกลุ่มเป้าหมายของการสร้างแลนด์บริดจ์ส่วนใหญ่จะมีเฉพาะเรือบรรทุกสินค้าตู้ เพราะเป็นเรือที่มีการเดินเรือในรูปแบบที่มีการถ่ายลำระหว่างเรือในเส้นทางเดินเรือหลักกับเรือในเส้นทางเดินเรือรอง ส่วนเรือประเภทอื่นจะให้บริการในรูปแบบวิ่งตรงจากต้นทางไปยังปลายทางโดยไม่มีการถ่ายลำเป็นหลักก็จะใช้การเดินเรือในเส้นทางเดิมต่อไป