ช่องทาง ‘ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ’ ตามนโยบายล่าสุดของรัฐ
ช่องทางประชาชน ‘ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ’ เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล ขณะที่บุคลากรสาธารณสุข มีมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมที่จะช่วยเหลือ
Key points :
- ช่องทาง ‘ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ’ ตามนโยบายรัฐบาล เริ่ม 1 ธ.ค.2566 ภูมิภาคทำได้ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ส่วนกทม.แจ้งที่สำนักงานเขต
- มาตรการของรัฐบาลในการแก้หนี้นอกระบบ กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง ใช้ทั้งการไกล่เกลี่ย และมาตรการทางการเงินการคลัง
- บุคลากรสาธารณสุข นอกจากเข้าร่วมในโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลแล้ว ยังมีสินเชื่อเฉพาะจากธนาคารออมสินที่จะสามารถนำมาใช้หนี้ได้ด้วย
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 ระบุว่า ครัวเรือนที่มีหนี้สิน มี 51.5% ครัวเรือนที่ไม่มีหนี้สิน มี 48.5%
ครัวเรือนที่มีหนี้ พบว่า 91.6% มีหนี้ในระบบอย่างเดียว 4.9% มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว 3.5% มีทั้งหนี้ทั้งนอกระบบและในระบบ
จำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน ในปี 2564 มียอดนี้ 205,679 บาท/ต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบเฉลี่ย 202,075 บาท หนี้นอกระบบเฉลี่ย 3,604 บาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)มีผลการจับกุมผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ จำนวน 134 ราย หยุดรถยนต์ของกลาง 22 คัน รถจักรยานยนต์ 19 คัน รวมมูลค่าของกลาง 8 ล้านบาทเศษ
มีการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบรายใหญ่ เช่น จับกุมเครือข่ายรับจำนำรถยนต์พื้นที่จังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 จับกุมเครือข่าย รับจำนำรถยนต์พื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จับกลุ่มแก๊งปล่อยเงินกู้ ทวงหนี้โหด พื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566
มาตรการรัฐบาลแก้หนี้นอกระบบ
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 เวลา 11.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวเรื่อง วาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ”
การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทยจะใช้กลไกการทำงานดังกล่าวร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำงานด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ โดยจะมีการศึกษาการปฏิบัติตามมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ให้เข้าใจกระบวนการของทั้งสองหน่วยงาน ตั้งแต่การช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะในมิติด้านการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท การเฝ้าระวังและป้องกัน รวมถึงการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ จะมีการประสานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไม่ซ้ำซ้อนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งจะร่วมกันดำเนินการในทุกภาคส่วนอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ โดยจะกำหนดแผนการดำเนินการ เป้าหมาย และ KPI ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน
ช่องทางเข้าร่วมแก้หนี้นอกระบบ
ประชาชนที่ประสบปัญหา หนี้นอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกดูหมิ่น ในการทวงถามหนี้ ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม หรือท่านที่มีความประสงค์จะปรับเปลี่ยนแก้ไขหนี้จากนอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ เพื่อที่ท่านจะได้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลง โดยสามารถลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบได้ตั้งแต่ 1ธ.ค. 2566 ที่
- ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง
- ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง
- ในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง
เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นราย ๆ ไป โดยพี่น้องประชาชนจะได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ตรงจุด ตรงประเด็น และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อตัวชี้วัดของการแก้ไขปัญหาในระดับชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปด้วย
มาตรการทางการเงินการคลัง
ในส่วนกระทรวงการคลัง หลังจากที่มีการปรับโครงสร้าง และไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะมาดูแลโดยธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ขณะนี้มีโครงการอยู่แล้ว ในเรื่องของการแก้หนี้นอกระบบ
- จะให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี
- โครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระ เพื่อรายย่อย เป็นการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย เป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังมีโครงการมารองรับ ในเรื่องของการที่นำที่ดินไปขายฝาก หรือติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบและได้มีการแก้ไขแล้ว ธ.ก.ส. ก็มีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ในเรื่องของการแก้ไขที่ทำกิน
แก้หนี้นอกระบบ บุคลากรสธ.2เด้ง
จากข้อมูลพบว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 40% เป็นหนี้เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 16% เฉลี่ย 2,666 บาทต่อเดือน
คณะทำงานเจรจาหาทางออกระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและธนาคารออมสิน ทำให้ได้ทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรสาธารณสุขครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างไม่เฉพาะข้าราชการเท่านั้น เพื่อช่วยแบ่งเบาความทุกข์ในกลุ่มที่มีหนี้สิน ด้วยการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการสร้างวินัยทางการเงิน โดยจัดให้มี "คลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน" และจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน (Money Safety MOPH+) เริ่มได้ 8 ธ.ค.2566
โดย 1 ใน 2 โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ 4 รูปแบบ คือ
- สินเชื่อสวัสดิการ อุปโภคบริโภค ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ถ้ามีความจำเป็นอเนกประสงค์ จะใช้ซื้อรถ หรืออื่นๆ วงเงินจะอยู่ที่ ไม่เกิน 40 เท่าของเงินเดือน ไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่ถ้าใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันจะได้ 5 ล้านบาท ระยะผ่อน 15 ปี
- สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ หากมีการเปิดบัญชีไว้ จะมีสินเชื่อที่เป็นเหมือนวงเงินหมุนเวียนเอาไว้ใช้เมื่อมีความจำเป็นให้ 15 เท่าของเงินเดือน ไม่เกิน 1ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทั่วไป ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ทบทวนทุปี
- สินเชื่อสวัสดิการโดยใช้บำเหน็จตกทอด ไม่เกินร้อยละ 100ของเงินบำเหน็จตกทอด สูงสุดไม่เกิน 30 ปี
- สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ สามารถกู้ได้ไม่เกิน 2 แสนบาท ดอกเบี้ย 0.70-0.75 %ต่อเดือน จะเป็นตัวที่ช่วยชั่วคราว เพราะตอนนี้หนี้นอกระบบดอกเบี้ยค่อนข้างสูงมาก