โลกป่วน สังคมเปลี่ยน ถึงเวลารวมพลัง 'ผู้ก่อการดี'
อิมเมจิน ไทยแลนด์ ร่วมกับ สสส. จัดเวทีสาธารณะ สรุปผลขับเคลื่อน 8 พื้นที่สุขภาวะต้นแบบ ชื้โลกป่วน สังคมเปลี่ยน ถึงเวลารวมพลัง 'ผู้ก่อการดี' สู้ภัยปัจจัยเสี่ยง แนะเรียนรู้จากต้นแบบ และลงมือทำทันที เริ่มจากตนเองและในครอบครัว
Imagine Thailand Movement ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสาธารณะรวมพลังผู้ก่อการดี 8 พื้นที่สุขภาวะต้นแบบ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ภายใต้แนวคิด 'ร่วมกัน...เราทำได้ Co-creating Wellbeing Society' เพื่อสรุปผลการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะในพื้นที่ต่างๆ พร้อมจัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆ ได้นำไปขยายผลสู่การสร้างพื้นที่สุขภาวะในประเทศไทยให้มากขึ้น
โดยในงานได้รับเกียรติ ศ.ภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สสส. มาให้ข้อคิด ให้กำลังใจ กับผู้ก่อการดี จาก 8 พื้นที่สุขภาวะ อาทิ ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ พ่อเสริม คำแปง ป้าแจ๋ว จงดี เศรษฐอำนวย ดร. วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล กำนันอิทธิฤทธิ์ ยะแสง กำนันตำบลเจดีย์ชัย จ.น่าน และ กำนันสมิทธิ สุภาพพรชัย กำนันตำบลเจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ผู้ก่อการดี' ระดมสมอง พัฒนาชุมชน ต.เจ็ดเสมียน สู่พื้นที่สุขภาวะต้นแบบ
เครือข่าย 'เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม' สร้างวัฒนธรรม ความปลอดภัยทางถนน
รวมพลัง 'ผู้ก่อการดี' ลดปัจจัยเสี่ยง
ดร. อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และริเริ่มการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วของโลกยุคใหม่ ที่มาพร้อมกับปัจจัยเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ มากมาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนทุกวัยในสังคม จนยากเกินกว่าใครคนใดคนหนึ่งจะแก้ไข ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพและพลังความร่วมมือ
ตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมานี้ การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยการสนับสนุนของสสส. ทำให้เห็นถึงความรักความปรารถนาดีของผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำทางความคิด ปราชญ์ ศิลปิน ศิลปินแห่งชาติ อสม. ผู้สูงอายุ จิตอาสา ผู้ประกอบการ รวมถึงเยาวชน ที่รวมเรียกว่า 'ผู้ก่อการดี' ซึ่งเมื่อได้รับรู้ถึงสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาปัจจัยเสี่ยง ที่มีต่อเยาวชนและชุมชน ต่างยินดีมาร่วมก่อการดี ด้วยเป้าหมายที่มีคุณค่า สร้างตำบล ชุมชน และสังคมที่มีสุขภาวะทุกมิติ คือทั้ง กายดี ใจดี สังคมดี และสิ่งแวดล้อมดี
ขับเคลื่อนชุมชน สร้างพื้นที่สุขภาวะ
ศ.ภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สสส. กล่าวว่า การรวมพลังของเครือข่ายผู้ก่อการดีขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะ นับเป็นตัวอย่างของพลังความร่วมมือที่มีศักยภาพในหลายพื้นที่ นำโดยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา และศิลปินแห่งชาติ ได้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้เรื่องการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนชุมชน
โดยได้มีการสร้างพื้นที่สุขภาวะ กำหนดกติกา/ข้อตกลงร่วมในการอยู่ร่วมกัน และบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในธรรมนูญของชุมชนเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เยาวชนได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้ห่างใกล้จากปัจจัยเสี่ยง อาทิ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และแอลกอฮอล์ เป็นต้น อันเป็นเป้าหมายสำคัญของสสส. ในการดูแลสภาพแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ และป้องกันเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ในอนาคต
สำหรับ 8 พื้นที่สุขภาวะต้นแบบเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ประกอบด้วย
1.โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์
2.แหล่งเรียนรู้ลำตัดและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ -แม่ศรีนวล อ.บางเลน จ. นครปฐม
3.ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว อ.คลองท่อม จ. กระบี่
4.ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ. นครปฐม
5.ตลาดในสวนบ้านหัวอ่าว อ.สามพราน จ.นครปฐม
6.ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
7.ตำบลเจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
8.ตำบลเจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน
จากการขับเคลื่อน ก่อเกิดตัวอย่างกิจกรรมสร้างพื้นที่สุขภาวะหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ เช่น ที่โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน คุณครูเล็ก ภัทราวดี ศิลปินแห่งชาติ ได้นำแนวคิดเรื่องการสร้างสุขภาวะไปใช้ในการเรียนการสอน เกิดเป็น Hub of Education / แม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ ใช้ศาสตร์เพลงพื้นบ้านถ่ายทอดแนวคิดเรื่องการสร้างสุขภาวะ
การเปิดตลาดในสวน ตลาดชุมชนที่เป็นจุดเชื่อมต่อสุขภาวะของคนทุกวัย ของชุมชนบ้านหัวอ่าว / การเปลี่ยนจุดเสี่ยงให้เป็นจุด Check in ที่ ต.เจดีย์ชัย / การเปลี่ยนแหล่งมั่วสุมห้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ใช้สอนมวยไทยให้เยาวชน ที่บ้านท่ามะพร้าว / การปรับปรุงพื้นที่อาคารเอนกประสงค์ ศาลปู่ยอง เป็นลานฝึกตระกร้อ ให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยง ที่เจ็ดเสมียน เหล่านี้เป็นต้น
ในเวทีสาธารณะได้มีการสรุปผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ 6 เรื่องหลักๆ ดังนี้
1. เกิดพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ ทั้งในระดับแหล่งเรียนรู้ ระดับหมู่บ้าน และระดับตำบล
2.เกิดการนำเรื่องการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ บรรจุในแผนงานของเทศบาล แผนของชุมชน และมีการ บูรณาการเข้าไปในกิจกรรม
3.เกิดตัวอย่างกิจกรรมสร้างพื้นที่สุขภาวะหลากหลาย ที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ
4. เกิดแกนนำขับเคลื่อนสุขภาวะรุ่นใหม่ ที่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมนำการเปลี่ยนแปลงชุมชนในมิติต่างๆ
5.ได้ผลวิจัยพฤติกรรมการบริโภคปัจจัยเสี่ยง จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่เจ็ดเสมียน พบว่าในช่วงที่มีการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะ จำนวนผู้สูบบุหรี่ และผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ลดลงอย่างมีนัย
6.เกิดนักสื่อสารพื้นที่สุขภาวะ ที่สามารถให้คำแนะนำ เชื่อมต่อการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ
“เชื่อมั่นว่า ผลจากการขับเคลื่อน 8 พื้นที่สุขภาวะต้นแบบนี้ จะจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆ ได้เห็นว่า การสร้างพื้นที่สุขภาวะสามารถเริ่มได้ทันที โดยเริ่มจากสิ่งที่มี คือ เริ่มจากตัวเราเอง จากคนดี ของดีที่มีอยู่ในพื้นที่ และการเป็นพื้นที่สุขภาวะ ไม่ได้เป็นเพียงเป้าหมายปลายทาง หากแต่สุขภาวะเป็นความงดงามระหว่างทาง กับความจริงที่ว่า การดูแลและการสร้างสุขภาวะนั้นเป็นงานที่ไม่มีวันจบ แต่ต้องมีการพัฒนาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือทุกคนสามารถเป็นผู้ก่อการดีได้ ” ดร.อุดม กล่าว