สานพลังปั้นพื้นที่สุขภาวะวิถีพุทธเขตเมือง หนุน 'วัด' เป็นที่พึ่งทางใจคนรุ่นใหม่
รวมพลังขับเคลื่อน "พื้นที่สุขภาวะวิถีพุทธเขตเมือง" มุ่งสร้างต้นแบบองค์กรสุขภาวะในวัด - สถานศึกษา ตั้งเป้า 15 ชุมชน นำร่องทั่วประเทศ ภายในปี 2567
เมื่อพูดถึง "วัด" ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นศูนย์กลางของทุกกิจกรรมในชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งความรู้วิทยาการต่างๆ ด้วย แม้ในวันนี้ "คน" กับ "วัด" จะห่างหายกันไปบ้าง แต่ในบางชุมชน วัดยังทำหน้าที่เป็นป้อมปราการด้านจิตใจและสติปัญญา ซึ่งจะช่วยให้ฝ่าฟันปัญหาในวันที่ยากจะรับมือกับสถานการณ์รุมเร้าต่างๆ บนโลกใบนี้
จากความตระหนักถึงบทบาทสำคัญของ "วัด" ทางภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สํานักงานเขตสาทร กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อน "พื้นที่สุขภาวะวิถีพุทธเขตเมือง" โดยมุ่งหวังจะสร้างต้นแบบองค์กรสุขภาวะในวัด - สถานศึกษา พร้อมตั้งเป้าหมายสู่ 15 ชุมชน นำร่องทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี
เปลี่ยนวัดสู่พื้นที่ชิดใกล้คนไทยอีกครั้ง
ดร.สายชล ปัญญชิต รองผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบการจัดการพื้นที่และเครือข่ายด้านสุขภาวะทางจิตใจและปัญญาตามแนวทางพระพุทธศาสนา และอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่วัดให้กลายเป็นสถานที่พัฒนาสุขภาวะทางจิตใจและปัญญาสำหรับชุมชนเขตเมือง เป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมระหว่างวัดกับโรงเรียน โดยหวังให้พระสงฆ์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพุทธศาสนิกชน มีทักษะและความรู้ในการให้คำปรึกษากับนักเรียนที่มีจิตอาสาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำหน้าที่รับฟังปัญหา เสวนาพูดคุย ให้แง่คิด และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ลดช่องว่างระหว่างเยาวชนกับพระพุทธศาสนาลงได้
"นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร สนับสนุนระบบจัดการพื้นที่และเครือข่ายองค์กรสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา มุ่งให้พระสงฆ์มีความรู้ในการจัดการพื้นที่และเครือข่ายองค์กรสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา 250 รูป บุคลากรทางสาธารณและจิตอาสา 100 คน สามารถขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจและปัญญาตามแนวพระพุทธศาสนาสู่กลไกของวัด หรือสถานศึกษาในพื้นที่ของตนเองได้ โดยพัฒนาพื้นที่วัดให้เป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ อบรมคณะสงฆ์และจิตอาสา ตามแนวพระพุทธศาสนาให้กับประชาชนที่สนใจ เพื่อเกิดเครือข่ายสาธารณะในการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างองค์กรสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน"
นำร่อง "สาทร" แห่งแรก
พงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงความสำคัญของวัดและองค์กรพระสงฆ์ จึงหนุนเสริมให้มีบทบาทในการให้ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายองค์กรสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดพื้นที่การทำงานด้านการให้คำปรึกษากับนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.
"สำหรับโครงการนี้ จะมุ่งเป้าพัฒนาชุดความรู้สุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา และพัฒนาพื้นที่วัดให้กลายเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาสุขภาวะทางจิตใจและปัญญา และขับเคลื่อนพื้นที่การทํางานด้านการให้คําปรึกษากับนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. และอีก 9 จังหวัดทั่วประเทศ นำร่องพื้นที่เขตสาทร ก่อนขยายผลสู่พื้นที่เขตอื่นๆ ในอนาคต"
พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการนี้จะมุ่งพัฒนาสุขภาวะองค์กรพระสงฆ์ สานพลังภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานเขตสาทร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดยานนาวา โรงเรียนวัดดอน โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กลุ่มพระสงฆ์และเยาวชนพุทธจิตอาสา พร้อมสนับสนุนให้วัดและโรงเรียนในพื้นที่เขตเมือง เป็นต้นแบบศูนย์พัฒนาสุขภาวะวิถีพุทธเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน และสังคมทั่วประเทศ ตั้งเป้า 15 ชุมชน ภายในปี 2567
พระธรรมวชิราจารย์ รศ.ดร. รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และเจ้าอาวาสวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะสงฆ์มีการช่วยเหลือดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ และพัฒนาสู่การสานพลังกับภาคีเครือข่าย สสส. กรมอนามัย และจิตอาสา เพื่อต่อยอดองค์กรสุขภาวะพระสงฆ์ มีการฝึกอบรมด้านจิตวิทยา พัฒนาพื้นที่สุขภาวะในเขตเมือง มุ่งเน้นให้พระสงฆ์ขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาวะ ทางจิตใจและปัญญา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับประชากรในพื้นที่เขตเมือง สร้างพื้นที่สุขภาวะวิถีพุทธในเขตเมืองให้เป็นรูปธรรม พร้อมผลักดันให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เขตสาทรให้กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบ ทั้งวัดยานนาวา วัดบรมสถล (วัดดอน) และวัดสุทธิวราราม โดยให้คำปรึกษาแก่กลุ่มนักเรียน จิตอาสา เพื่อยกระดับสุขภาวะแก่ชุมชนและสังคม พัฒนาให้เกิดองค์กรสุขภาวะต้นแบบ พร้อมสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเยาวชนในการลดและป้องกันปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพบนพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา โดยการวางรากฐานให้กับคณะสงฆ์และจิตอาสารุ่นใหม่ ได้สานต่อการส่งเสริมสุขภาวะทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม
เด็กไทยต้องเสริมแกร่งใจด้วยธรรมะ
ณิชชา ขออาพัด ผู้อํานวยการโรงเรียนวัดยานนาวา กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนประเด็น "ทิศทางและความคาดหวังต่อการดําเนินงานของกลุ่มพระสงฆ์ และเยาวชนพุทธจิตอาสาเพื่อการพัฒนาสถานศึกษากับพื้นที่สุขภาวะ" โดยยอมรับว่า เด็กในโรงเรียนมีปัญหาด้านสุขภาพด้านจิตใจ อาทิ การถูกบุลลี กลั่นแกล้ง ความรุนแรง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยังรวมไปถึงปัญหาด้านพัฒนาการคือ สุขภาพกายไม่พร้อมและจิตใจไม่พร้อมการเรียนรู้ เนื่องจากพบว่าเด็กนักเรียนมีภาวะสมาธิสั้น
วีรยุทธ เสาแก้ว รองผู้อํานวยการโรงเรียนวัดดอน กล่าวเสริมว่า ปัญหาเด็กในโรงเรียนใกล้เคียงกับที่โรงเรียนยานนาวา นอกจากนั้นนักเรียนในโรงเรียนวัดดอนกว่า 30% คือเด็กต่างด้าว ต่างถิ่น ไม่ใช่เด็กในพื้นที่ พ่อแม่เน้นทำมาหากิน ไม่มีเวลาในการดูแลบุตรหลาน ส่วนอีกปัญหาที่เราเจอคือ เรื่องอารมณ์ความรุนแรง การกลั่นแกล้ง เมื่อเด็กเสพสื่อต่างๆ ทำให้โรงเรียนพยายามส่งเสริมให้เด็กรู้จักเรื่องการให้อภัย นอกจากนี้โรงเรียนเรายังเป็นโรงเรียนเปิดรับเด็กพิเศษที่บกพร่องทางสติปัญญา สมาธิสั้น ประมาณ 20 คน แต่เรากลับพบว่า กลุ่มนี้ไม่ได้สร้างปัญหาให้เราเลย
"ผมมองว่าประเด็นสำคัญคือ การมีผู้ปกครองมาช่วยโรงเรียนดูแลบุตรหลานน้อย ขณะที่กำลังครูในโรงเรียนเรามีเพียง 18 คนต่อเด็กกว่าสามร้อยคน ซึ่งโรงเรียนต้องคอยดูแลความประพฤติและความปลอดภัยของเด็ก"
วีรยุทธ กล่าวต่อไปด้วยว่า โรงเรียนยังได้รับความร่วมมือจากวัดในชุมชนในการจัดกิจกรรม รวมถึงการใช้สถานที่ของวัดเพื่อเชื่อมโรงเรียนกับชุมชน อาทิ การอบรมให้ความรู้ธรรมะ การจัดค่ายธรรมะหรือค่ายคุณธรรม การบวชเณรฤดูร้อน เป็นต้น
"ครูสอนบางทีเขาก็ไม่เชื่อหรอก พอพระอาจารย์มาสอนเขาก็รับฟังในเรื่องคำสั่งสอน เพราะมีความเคารพและเชื่อถือ นอกจากนี้การสอนธรรมะสนุกทำให้เขาสนใจเนื้อหาไปด้วย"
รุ่นใหม่เพิ่มพลังบวก กล่อมเกลาด้วยธรรมะ
เอกรักษ์ สะอาดถิ่น หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนักเรียนจากโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กล่าวว่า เป็นเรื่องจริงที่สังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทำให้นักเรียนมีความหลากหลายทั้งด้านอารมณ์และพฤติกรรมรวมถึงการแสดงออก ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทางโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาด้านสุขภาพจิตผ่านเครือข่าย "ค่ายธรรมธิดา" โดยโครงการนี้มีการเชิญพระอาจารย์จากวัดยานนาวา วัดดอน และยังดำเนินโครงการพลังบวรร่วมกับทางวัด นอกจากนี้ยังให้เด็กติดตามพระอาจารย์ลงไปเยี่ยมผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยไร้ญาติ ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงคนพิการหรือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนด้วย
"วัตถุประสงค์สำคัญที่เราทำโครงการนี้คือ เราอยากให้นักเรียนเห็นว่ายังมีคนอื่นที่มีปัญหามากกว่าเรา คือบางครั้งด้วยความเป็นวัยรุ่นทำให้เขาโฟกัสแต่ปัญหาตัวเอง การได้ไปเห็นช่วยเปิดโลกทัศน์ความคิดของเขาได้มาก ระยะหลังเด็กก็ไปเยี่ยมเอง บางคนดูแลจนท่านจากไป"
เอกรักษ์ กล่าวเสริมว่า โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย จะเน้นการส่งเสริมกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ลงมือทำปฏิบัติจริง เพื่อช่วยพัฒนาด้านมุมมองแนวคิด ทำอย่างไรให้เขามีสุขภาพจิตดี มองอะไรเป็นบวก และเห็นว่าทุกอย่างจะไม่ได้เป็นลบ คือต้องเข้าใจว่าเด็กผู้หญิงมีอารมณ์อ่อนไหวมากกว่าผู้ชาย โรงเรียนเน้นส่งเสริมความเป็นผู้นำ จึงเน้นกิจกรรมมาก ซึ่งจะทำให้เขาไม่เปราะบางและมีจิตใจแข็งแกร่ง
"กิจกรรมต่างๆ ไม่เพียงสร้างเครือข่ายบ้านวัดโรงเรียนได้อย่างดีขึ้น ยังสร้างกลุ่มเด็กแกนนำที่มีจิตอาสาในเด็กด้วยการให้เขาได้ทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อสังคม และช่วยเหลือเพื่อนที่มีปัญหา โดยให้เขาดึงเพื่อนๆ ที่อาจจะมีปัญหา เช่น บางคนต้องแก้คะแนน แทนที่จะตำหนิว่าเขาไม่ตั้งใจเรียน ให้ไปทำอย่างอื่น เราก็ดึงเขามาร่วมโครงการเหล่านี้ มาบำเพ็ญประโยชน์ เพราะโรงเรียนเชื่อว่าเด็กเหล่านั้นคือพลังแกนนำ ซึ่งด้วยมิตรภาพที่สร้างขึ้น บางคนแม้จะออกจากโรงเรียนแล้วก็ยังคงมีเครือข่ายติดต่อกันเสมอและยังขยายออกไปเป็นเครือข่ายที่ใหญ่มากขึ้น"
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าโลก สังคม และสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไปอย่างไร วัดและศาสนายังคงเป็น "พลัง" ที่ร่วมประสานขับเคลื่อนสุขภาวะทางใจแก่เยาวชนรุ่นใหม่ได้มากกว่าที่คิด