คนแก่ผู้สูงอายุ เป้าหมาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ตร.แนะลูกหลาน ย้ำ 6 ข้อปฎิบัติ
ระวังภัยให้ คนแก่สูงอายุ เป้าหมายของ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตำรวจแนะลูกหลาน ย้ำ 6 ข้อปฎิบัติ เช็กเลยจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อง่าย ๆ
ตำรวจสอบสวนกลาง แจ้งเตือน ในช่วงนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มุ่งเป้าหมายหลอกลวงไปที่ กลุ่มคนแก่ ผู้สูงอายุ และผู้เกษียณโดยเฉพาะ ซึ่งมีรูปแบบคำหลอกลวงที่หลากหลาย
- อ้างเป็นประกันสังคม
- หลอกเงินบำเน็จบำนาญ
- แอบอ้างสรรพกร
เหยื่อจะถูกหลอกลวงจนสูญเสียทรัพย์สินตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักล้าน บางคนสูญเงินเก็บทั้งหมดในชีวิตก็มีให้เห็นเช่นกัน
ตามหลักจิตวิทยาผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ
คนแก่ผู้สูงอายุเกิดพฤติกรรม ดังนี้
- หงุดหงิด
- ดื้อ
- เอาแต่ใจ
- ไม่ยอมรับฟังผู้อื่น
มาจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน และเรื่องความทรงจำ การได้ยินมองเห็น สติสัมปชัญญะที่เสื่อมถอยตามอายุ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่รู้ตัวว่าโดนหลอก บางครั้งดื้อรั้นไม่เชื่อผู้อื่น
มิจฉาชีพ เล็งเห็นว่า ผู้สูงอายุสามารถถูกหลอกได้ง่าย และบางคนมีเงินเก็บตลอดชีวิตที่เยอะ เลยพยายามพุ่งเป้าไปที่ผู้สูงอายุ มิจฉาชีพมักใช้เทคนิคจิตวิทยาการโน้มน้าว 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
การอ้างอำนาจ (authority)
การกดดันโดยการจำกัดเวลาหรือจำนวนรางวัลตอบแทน (scarcity)
ทำให้เหยื่อรู้สึกเชื่อใจและไว้ใจ ใช้การโน้มน้าวทางอารมณ์มากกว่าเหตุผล เช่น จงใจจำกัดระยะเวลา
ทำให้เหยื่อเร่งรีบโอนเงินเพื่อจะได้รับผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจ และหลงเชื่อว่าตนจะได้รับผลตอบแทนตามที่ผู้หลอกลวงสัญญาไว้ ซึ่งไม่ได้เสียแค่เงินทองเท่านั้น บางคนต้องเสียเงินเก็บทั้งชีวิตไป
ตำรวจสอบสวนกลาง ขอแนะนำ 6 หลักที่ป้องกันผู้สูงวัยจากมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์
1. อย่าเพิ่งรีบเชื่อในทันที
2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง
3. อย่าเพิ่งรีบแชร์
4. เลือกเข้าชมเฉพาะสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
5. หากสงสัยให้สอบถามจากแหล่งที่ถูกอ้างถึง
6. ปรึกษาลูก – หลานก่อนจะเชื่อ
เตือนให้ลูกหลานคอยเฝ้าระวังผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ในบ้าน หมั่นให้ความรู้เท่าทันโลก หากพบปัญหาเกี่ยวกับมิจฉาชีพออนไลน์สามารถติดต่อ ศูนย์ AOC 1441 เพื่อเข้าปรึกษา แจ้งเบาะแส หรือแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อ้างอิง - ตำรวจสอบสวนกลาง , คณะจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว