เศรษฐกิจดีด้วยแอลกอฮอล์...จริงหรือ?!
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลเศรษฐา ผ่านเครื่องมือส่งเสริมการท่องเที่ยว ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง นำร่อง 4 จังหวัด และขยายเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น หลายกลุ่มตั้งคำถามและกังวลผลกระทบมากมาย
ด้วยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โชว์วิสัยทัศน์ท่องเที่ยว ชูฟรีวีซ่า เที่ยวเมืองรอง เปิดผับถึงตี 4 ผ่อนคลายกฎระเบียบการขาย-ลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จากนั้นในการประชุมครม.วันที่ 11 มีนาคม 2567 ได้มีข้อสั่งการนายกฯ ปรับมาตรการคุมขายน้ำเมา ทั้งเวลา-สถานที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ รวม 21 ฉบับให้รับทราบมติ ครม. เกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
มีความตอนหนึ่งว่า “...จึงควรปรับปรุงมาตรการควบคุมการขาย ทั้งเรื่องเวลาและสถานที่ให้มีความยืดหยุ่น รวมทั้งควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การควบคุมฉลาก บรรจุภัณฑ์ และมาตรการควบคุมการโฆษณาให้ชัดเจนและเหมาะสมกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ...” นั้น
ผู้เขียนขอนำเสนอวิสัยทัศน์รัฐบาลประเทศรายได้สูง (high income countries) ที่ใช้มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อพิจารณาในมิติการท่องเที่ยว หลายประเทศมองว่า มาตรการของรัฐที่เข้มงวดทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษี เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพซึ่งมีกำลังทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
เพราะสังคมไม่มีปัญหาความรุนแรง ไม่เต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าพึงพอใจ หรือมีความเสี่ยงจากการที่ผู้คนทั้งประชากรในประเทศนั้นๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาเยือนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร้ขอบเขต
อาทิ การทำลายข้าวของ การส่งเสียงดังโหวกเหวกโวยวาย การล่วงละเมิดทางเพศ อันตรายบนท้องถนนจากการเมาแล้วขับ
นับแต่ปี 2556 ประเทศสิงคโปร์มีเป้าหมายสร้างการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ (quality tourism) มาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการสร้างสังคมเศรษฐกิจที่ดี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
โดยวันที่ 1 เมษายน 2558 พระราชบัญญัติควบคุมสุรา (Liquor Control Act) ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ กฎหมายนี้ได้จำกัดเวลาในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั่นคือ ร้านค้าไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเวลา 22.30 น. และประชาชนก็ไม่สามารถดื่มในที่สาธารณะหลังเวลา 22.30 น. เช่นกัน
กฎหมายใหม่ของสิงคโปร์มีเป้าหมายเพื่อลดความวุ่นวายในที่สาธารณะ การก่อกวน และอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการมึนเมา แม้ในภาพรวมสิงคโปร์จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ต่ำที่สุดในโลกก็ตาม
สิงคโปร์จัดเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดอันดับ 1 ในปี 2565 โดย Global Law and Order Index ซึ่งพิจารณาจากประสบการณ์และการรับรู้ของผู้คน เช่น ความรู้สึกปลอดภัยขณะเดินคนเดียวในเวลากลางคืน และความมั่นใจในตำรวจ
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์มีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ร้านอาหารและผับบาร์จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 23.59 น.เท่านั้น ในขณะที่ร้านอาหารที่ดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตจำหน่ายสุราประเภท 1B จะต้องยุติการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลา 22.00 น.
หากฝ่าฝืนจะถูกปรับสูงสุดเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็นประมาณ 270,000 บาท ในขณะผู้ดื่มที่ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกสูงสุด 3 เดือนและถูกปรับสูงสุดเป็นจำนวนเงินประมาณ 55,000 บาท
นอกจากนี้ นโยบายของรัฐที่เข้มงวดเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชาชน ยังส่งผลต่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจผ่านทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ
อาทิ ในประเทศนอร์เวย์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคสแกนดิเนเวียที่นอกจากจะมีการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลกแล้ว ยังกำหนดให้การซื้อขายเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ที่มีความเข้มข้นสามารถ ทำได้ในร้านค้าที่เป็นของรัฐเท่านั้น และจะไม่มีการจำหน่ายในวันอาทิตย์ ฯลฯ
มาตรการเหล่านี้เป็นกุศโลบายของรัฐ เพื่อให้เกิดสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เพราะการที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูง
วันอาทิตย์ไม่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น วันอื่นๆ เลิกขายเร็ว ทำให้พ่อแม่มีเวลาทำกิจกรรมที่มีคุณภาพกับลูก และเด็กๆ ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความเสี่ยงจากการดื่มเหล้าของพ่อแม่หรือคนในสังคม
ไม่ว่าจะเป็นด้านความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ การเจ็บป่วยและทุพพลภาพจากปัญหาเมาแล้วขับ สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีทำให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมจะเรียนรู้ ศึกษา และฝึกฝนทักษะ
กล่าวคือ เป็นทุนมนุษย์ที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นในนวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่า นโยบายลดการพึ่งพาน้ำเมา ทำให้ประชากรมีคุณภาพ สังคมสงบสุข จนนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ในขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นนโยบายที่มองเห็นประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำเมาข้ามชาติและในประเทศ โดยละเลยการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูง
ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศที่ชาญฉลาดดังคำกล่าวที่ว่า “ปัญญาประดุจดังอาวุธ”!