“โรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมธ.” แก่แต่เจ๋ง เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง
"เพราะการพัฒนาศักยภาพไม่มีที่สิ้นสุดและผู้สูงอายุในประเทศต่างมีความเจ๋งในแบบของตัวเอง สังคมต้องปลดปล่อยนิยามผู้สูงอายุ อย่ามองพวกเขาเป็นเพียงไม้ใกล้ฝั่ง หรือภาระ” ผศ.ดร.เอกสิทธิ์ หนุนภักดี ผู้รับผิดชอบโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่12
KEY
POINTS
- โรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมธ.อยากเห็นผู้สูงอายุเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมที่มีโอกาสใช้ชีวิตในสังคมอย่างดี มีคุณภาพ ปลอดข้อจำกัดทั้งทางร่างกาย กำลัง และความคิด
- อยากให้ปลดปล่อยผู้สูงอายุจากนิยามของสังคมที่ตายตัว อย่าเห็นผู้สูงอายุเป็นเพียงไม้ใกล้ฝั่งหรือทรัพยากรที่รัฐเห็นเป็นภาระ แต่ต้องพยายามผลักดันให้พวกเขาสร้างรายได้ และอยากเรียกร้องให้คืนชีวิตที่สองให้พวกเขา
- แพลตฟอร์มออนไลน์ “เรดดี้ ซีเนียร์” พัฒนาขึ้นมาเป็นช่องทางสื่อหลักในการสร้างคอมมูนิตี้ โดยขณะนี้ได้มีการจัดการอบรมให้ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ ทำธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุ
ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและสัดส่วนต่อประชากร จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดนโยบายให้ผู้สูงอายุ มีสุขภาพแข็งแรงตามวัย เพราะวัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมอันเป็นผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
โดยแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ คือ การช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข มีความพึงพอใจ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและการมีคุณค่าในตนเอง ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุควรให้ความสนใจดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ
รวมทั้งฟื้นฟูสุขภาพเมื่อมีภาวะของโรคและควบคุมให้ภาวะของโรคเหล่านั้นมีอาการคงที่ ไม่กำเริบรุนแรงหรือเสื่อมถอยมากกว่าเดิม จะทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคม และมีความสุขในปั้นปลายของชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เทรนด์การทำงานที่องค์กรและพนักงานต้องเตรียมตัวให้พร้อมในปี 2024
“Stroke in the young” คนวัยทำงานอายุน้อยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้
รู้จัก “โรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมธ.”
ด้วยเหตุผลดังกล่าวสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้กำหนดจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร LIFETIME PROGRAM การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ “โรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งปีนี้เข้าสู่รุ่นที่ 12
“ผศ.ดร.เอกสิทธิ์ หนุนภักดี” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริการสังคมและชุมชน สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ในฐานะรับผิดชอบงานโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) รุ่นที่ 12 เล่าว่าโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุรอบด้าน รองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยถือว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เพราะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด
“หลักการในการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมธ.นั้น ยังคงมีเจตนารมณ์ตามเดิม คือ การอยากเห็นผู้สูงอายุเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมที่มีโอกาสใช้ชีวิตในสังคมอย่างดี มีคุณภาพ ปลอดข้อจำกัดทั้งทางร่างกาย กำลัง และความคิด ซึ่งเนื้อหาในหลักสูตรที่ผู้สูงอายุที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้จะมี 3 ชุดการเรียนรู้ ได้แก่ ชุดที่ 1 ความรู้ที่ผู้สูงอายุ “ต้องรู้” เป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุ 2.ชุดความรู้ที่ผู้สูงอายุ “ควรรู้” เป็นการรู้เรื่องของสังคม เศรษฐกิจ ปรัชญาชีวิต และจิตอาสา และ3.ชุดความรู้ที่ผู้สูงอายุ “อยากรู้” เป็นเรื่องสุนทรียศาสตร์ และการเรียนรู้ใหม่ๆ”ผศ.ดร.เอกสิทธิ์ กล่าว
พื้นที่ปลดปล่อยศักยภาพของสูงวัย
โรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมธ. รุ่นที่ 12 นั้น จะมีความแตกต่างจากรุ่นอื่นๆ เนื่องจากจะมีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ ไลฟ์สไตล์ ศักยภาพ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของสังคม แต่ทั้งนี้จะยังคงชุดความรู้ทั้งเรื่องที่สูงวัยต้องรู้ ควรรู้ และอยากรู้
ผศ.ดร.เอกสิทธิ์ เล่าต่อว่าการศึกษาในระบบจะเป็นการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชน คนวัยทำงาน แต่จะหยุดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ เพราะที่ผ่านมาไม่มีหลักสูตรการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ทั้งที่ผู้สูงอายุในขณะนี้แตกต่างกับอดีต พวกเขาไม่ใช่ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง แต่พวกเขามีศักยภาพ มีความรู้ ความสามารถ มีกำลัง และมีสุนทรียภาพความใฝ่ฝันที่พวกเขาอยากทำ
“ผู้สูงอายุวัยเกษียณ ถือเป็นวัยที่ปลอดภาระ และได้รับอิสรภาพด้านเวลากลับมาอีกครั้ง พวกเขาไม่ต้องดูแลหรือรับผิดชอบอะไร แต่ระบบการศึกษา หรือการทำงาน มักจะผลักพวกเขาออกไปเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ดังนั้น แกนหลักของหลักสูตรจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่เนื้อหาจะปรับทุกปีตามสภาพสังคม และเสียงเรียกร้องจากผู้สูงอายุที่มาเรียน ซึ่งในรุ่นที่ 11 และรุ่นที่ 12 นี้ จะเน้นด้านการแสวงหาความสงบสุขภายใน และทำความเข้าใจกับโลกภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่เรื่องของธรรมะ เป็นการปรับตัว เรียนรู้เทรนด์ใหม่ๆ เช่น Tiktok Instagram ซึ่งผู้สูงอายุชอบถ่ายรูปต้องเท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคอร์สการเดินทางท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม สัมผัสสุนทรีย์ภาพของศิลปวัฒนธรรม” ผศ.ดร.เอกสิทธิ์ กล่าว
อย่ามองผู้สูงอายุไร้ศักยภาพ
ทุกๆ ปี ผู้สูงอายุที่ต้องการเรียนในหลักสูตรดังกล่าว สมัครเข้ามาเกินกว่าจำนวนที่รับ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีความแอคทีฟ มีความรู้ความสามารถ และกำลังในการทำสิ่งต่างๆ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำกิจกรรม หรือเติมเต็มศักยภาพมากขึ้น
ผศ.ดร.เอกสิทธิ์ เล่าอีกว่ากิจกรรมต่างๆ ในหลักสูตร จะเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ ได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ นอกจากสนใจหลักสูตรที่จะพัฒนาตนเอง ดูแลสุขภาพ และตามความชอบ ความถนัดของตนเองแล้ว ยังสนใจการทำโครงการที่ตอบแทนสังคม ฉะนั้น อยากให้ทุกคนมองผู้สูงอายุเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมเหมือนคนทุกวัน พวกเขามีความกระหาย ใคร่รู่ และมองหาปัจจัยที่เติมเต็มชีวิตของพวกเขา
"สิ่งที่อยากฝากไว้ คือการปลดปล่อยผู้สูงอายุจากนิยามของสังคมที่ตายตัว อย่าเห็นผู้สูงอายุเป็นเพียงไม้ใกล้ฝั่งหรือทรัพยากรที่รัฐเห็นเป็นภาระค่าใช้จ่ายและพยายามผลักดันให้พวกเขาสร้างรายได้ และอยากเรียกร้องให้คืนชีวิตที่สองให้พวกเขา ช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมให้พวกเขาได้เติมเต็มความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่มากกว่าการมีร่างกายที่หายใจและเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ"
ขณะนี้มีการเปิดรับสมัคร “โรงเรียนผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 12” เปิดรับจำนวน 100 คน ซึ่งเปิดรับตั้งแต่วันนี้ถึง 15 พฤษภาคม 2567 นี้ สามารถสมัครได้ www.icehr.tu.ac.th หรือโทร.093-7568318 โดยจะเริ่มเรียนตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม – 29 สิงหาคม 2567 เวลา 08.00 – 16.00 น.ณ โรงแรม รอยัลซิตี้ (The Royal City Hotel) ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
เรดดี้ ซีเนียร์ แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์สูงวัย
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊กเพจ และไลน์ ในชื่อ “เรดดี้ ซีเนียร์” (Ready Senior) ขึ้นเป็นศูนย์กลางการสร้างสังคมสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เพื่อให้ความรู้ ยกระดับความสามารถด้านอาชีพ การดูแลตัวเอง รวมทั้งประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างมาตรการเชิงป้องกันสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ
โดยศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ “เรดดี้ ซีเนียร์” พัฒนาขึ้นมาเป็นช่องทางสื่อหลักในการสร้างคอมมูนิตี้ โดยขณะนี้ได้มีการจัดการอบรมให้ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ การทำธุรกิจออนไลน์ การสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ และอื่น ๆ รวมถึง ยังได้สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรมากกว่า 20 กิจการ
พร้อมทั้งจัดให้มีพื้นที่สำหรับการหางานให้แก่ผู้ที่เกษียณและเตรียมเกษียณผ่านแพลตฟอร์มของโครงการ โดยมีทั้งงานประจำและงานชั่วคราว เบื้องต้นพบว่าผู้สูงอายุที่มาร่วมโครงการซึ่งในขณะนี้มีกว่า 6,000 คน มีประสบการณ์ที่น่าสนใจจำนวนมาก จะเป็นโอกาสที่ดีกับกิจการต่างๆ ที่จะได้คนที่มีความชำนาญงานไปทำงานด้วย ซึ่งผู้สูงอายุที่สนใจสามารถติดตามได้ที่ Ready Senior เรดี้ซีเนียร์ เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/readysenior/