สิทธิลาเลี้ยงบุตร (สิทธิลาคลอด) | ณิชนันท์ คุปตานนท์

สิทธิลาเลี้ยงบุตร (สิทธิลาคลอด) | ณิชนันท์ คุปตานนท์

การเลี้ยงดูเด็กแรกคลอดไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิง ที่แม้ต้องเลี้ยงดูบุตรซึ่งยังเล็กอยู่ก็ต้องทำงานด้วยนั้น หลายประเทศจึงให้สิทธิลาคลอดเพื่อให้มีเวลาเลี้ยงดูบุตรโดยไม่ต้องลาออกจากงาน และยังได้รับเงินเดือนในช่วงลาคลอดตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

รายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิลาคลอดดังกล่าวอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น กรณีของญี่ปุ่นนั้น มารดาสามารถจะลาก่อนคลอดได้ 6 สัปดาห์ หลังคลอดได้อีก 8 สัปดาห์ และสามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้อีก 1 ปี และหากไม่สามารถหาเนอร์เซอรี่ให้บุตรเข้าได้ ก็สามารถลาต่อได้อีกหนึ่งปี

ประเทศฟินแลนด์ให้สิทธิมารดาลาคลอดได้ 105 วันทำการ แบ่งเป็น 30 วันก่อนกำหนดคลอดหรือสูงสุดไม่เกิน 50 วันก่อนกำหนดคลอดและ 75 วันหลังกำหนดคลอด สิทธิลาเลี้ยงดูบุตรได้อีก 158 วันทำการ และยังมีสิทธิลาดูแลบุตรเพิ่มเติมได้จนกว่าบุตรจะอายุ 3 ปี

ส่วนสวีเดนนั้น มารดาสามารถลาคลอดโดยเริ่มตั้งแต่ก่อนกำหนดคลอดได้ 7 สัปดาห์ และหลังคลอดอีก 7 สัปดาห์ และสามารถลาเพื่อดูแลเลี้ยงดูบุตรได้ 480 วัน

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันนั้น กฎหมายแรงงานให้บุตรจ้างสามารถลาคลอดได้ 98 วัน

นอกจากสิทธิลาคลอดของมารดาแล้ว กฎหมายในหลายประเทศยังให้สิทธิลาคลอดหรือลาเลี้ยงดูบุตรให้แก่บิดาด้วย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ในการดูแลบ้านและเลี้ยงดูบุตรของมารดา

การได้ช่วยกันเลี้ยงดูบุตรจึงมีทั้งส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของมารดา และเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวอีกด้วย อีกทั้งในสังคมปัจจุบันที่เริ่มกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเนื่องจากคนในปัจจุบันมีบุตรน้อยลงนั้น การให้บิดามีสิทธิลาเพื่อช่วยเลี้ยงดูบุตรจึงเป็นการส่งเสริมนโยบายของภาครัฐให้ประชาชนมีบุตรไปในตัวด้วย

ในญี่ปุ่นให้สิทธิบิดาในการลาเลี้ยงดูบุตรได้ 4 สัปดาห์ในช่วง 8 สัปดาห์แรกหลังจากเด็กคลอด ทั้งนี้ หากบิดาและมารดาทำงานทั้งคู่ และหากบิดาเป็นฝ่ายที่ต้องการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ก็สามารถลาต่อได้สูงสุด 12 เดือน และแม้พ้นช่วงระยะเวลาลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแล้ว ก็ยังสามารถลาเพื่อพาบุตรไปพบแพทย์ได้ 5 วันต่อปี เช่น ในกรณีเจ็บป่วย หรือฉีดวัคซีน

ฟินแลนด์ให้สิทธิพ่อลาคลอดหรือสิทธิบิดาลาเพื่อดูแลบุตรแรกคลอด (paternity leave) ได้สูงสุด 54 วันทำการ โดยในระหว่างนี้สามารถอยู่บ้านในช่วงเดียวกันกับมารดาได้เป็นเวลา 18 วันทำการ และสามารถลาเพื่อดูแลเลี้ยงดูบุตร (parental leave) ได้ต่อหลังจากพ้นช่วงระยะเวลาคลอดของมารดาแล้วได้อีกสูงสุด 158 วันทำการ

สิทธิลาเลี้ยงบุตร (สิทธิลาคลอด) | ณิชนันท์ คุปตานนท์

ส่วนสวีเดนให้สิทธิบิดาลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร (parental leave) ได้ 480 วัน โดยนับวันลารวมกันกับของมารดา

สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันข้าราชการ รวมถึงพนักงานราชการมีสิทธิลาคลอดได้ 15 วันทำการ แต่สำหรับกรณีของเอกชนนั้น ยังไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิในเรื่องนี้ มีเพียงการขอความร่วมมือให้นายจ้างใช้ดุลพินิจพิจารณากำหนดวันลาที่เป็นสวัสดิการให้บิดาสามารถลาคลอดหรือลาเพื่อดูแลบุตรได้เท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในปัจจุบันนั้น คือการที่สวีเดน ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิบิดาในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยยังได้รับค่าจ้างเป็นประเทศแรกของโลกตั้งแต่เมื่อปี 1974 นั้น ได้มีประกาศใช้กฎหมายใหม่ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยให้สิทธิคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย (grandparents) ในการลาเพื่อมาเลี้ยงดูหลานโดยยังคงได้รับค่าจ้าง อันจะเป็นประโยชน์สำหรับการดูแลเด็กเล็ก โดยการช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลเด็กของบิดามารดา โดยกฎหมายใหม่นี้ ให้สิทธิคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายลาได้สูงสุด 3 เดือนในช่วงอายุขวบปีแรกของเด็ก

ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว บิดามารดา (parents) สามารถโอนวันลาโดยได้รับค่าจ้างของตนเองแก่ปู่ยาตายายของเด็กได้ กรณีของบิดามารดาที่เลี้ยงบุตรด้วยกันนั้น สามารถโอนได้สูงสุด 45 วัน แต่หากเป็นบิดาหรือมารดาเลี้ยงเดี่ยวสามารถโอนได้สูงสุด 90 วัน

จะเห็นได้ว่า สวีเดนซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐสวัสดิการอันดับต้น ๆ ของโลกนั้น ได้ให้ความใส่ใจกับเรื่องของการเลี้ยงดูเด็กเล็กเป็นอันมาก นอกเหนือจากสิทธิในการลาเลี้ยงดูบุตรหลานแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิในการที่จะทำงานจำนวนชั่วโมงน้อยกว่ากำหนดปกติจนกว่าเด็กจะอายุ 8 ปี

และหากเป็นข้าราชการก็สามารถที่จะทำงานในจำนวนชั่วโมงน้อยกว่ากำหนดปกติจนกว่าเด็กจะอายุ 12 ปี ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น อันจะช่วยให้มีความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ทั้งส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อันจะเอื้อให้เด็กเติบโตเป็นกำลังสำคัญที่ดีของชาติได้

สิทธิลาเลี้ยงบุตร (สิทธิลาคลอด) | ณิชนันท์ คุปตานนท์

สำหรับประเทศไทย คงเป็นการดีไม่น้อย หากภาครัฐจะรับรองสิทธิในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรของบิดามารดาให้มากขึ้น ทั้งนี้ แม้ไม่อาจให้ในระยะเวลานานดังเช่นประเทศพัฒนาแล้วหลาย ๆ ประเทศได้ แต่ควรให้การรับรองสิทธิเพิ่มเติมเพื่อการเลี้ยงดูบุตรด้วย

เนื่องจากในปัจจุบัน ลักษณะของครอบครัวไทยมีความแตกต่างจากในอดีต หลายครอบครัวต่างต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยไม่อาจฝากให้ญาติใกล้ชิดช่วยดูแลได้

ดังนั้น หากสามารถพิจารณาส่งเสริมสิทธิเกี่ยวกับการลาเพื่อดูแลบุตร เช่น การรับรองสิทธิในการลาของบิดาเพื่อช่วยดูแลบุตรที่เพิ่งคลอด รวมถึงการลาเพื่อพาบุตรไปหาหมอเป็นการเฉพาะ แยกต่างหากจากสิทธิในการลากิจด้วย

ก็น่าจะส่งผลดีต่อการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงอาจช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของมารดาได้อีกด้วย ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว น่าจะส่งผลดีต่อประเทศชาติมากกว่าปัจจุบัน ไม่ว่าจะทางด้านเศรษฐกิจ หรือสังคม.