ปฏิรูป "โทษปรับ" เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรม
ปัจจุบันรัฐมุ่งเน้นการใช้ “โทษปรับ” กับความผิดที่ไม่รุนแรงมาก ดังนั้น บทลงโทษหลักที่ศาลชั้นต้นทั่วประเทศใช้กันมากคือโทษปรับ
จากสถิติของสำนักงานศาลยุติธรรมในช่วงปี 2561_2565 พบว่าหากไม่นับรวมการรอการลงโทษแล้ว โทษปรับถูกนำมาใช้มากกว่าโทษจำคุกและการกักขัง
โทษปรับตามกฎหมายของไทยมีลักษณะตายตัว ค่าปรับถูกกำหนดเป็นตัวเลขที่แน่นอน เช่น ปรับตั้งแต่ 500 บาท ไม่เกิน 15,000 บาท
โดยการกำหนดอัตราค่าปรับตายตัวนี่เอง ทำให้เกิด 2 ปัญหาสำคัญ
ปัญหาแรก ความไม่ธรรมของค่าปรับ จากการปรับในอัตราที่เท่ากันตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ได้พิจารณาสถานะทางเศรษฐกิจ รายได้ และภาระของผู้ทำความผิด แม้ว่าสิ่งนี้ดูเหมือนจะยุติธรรม แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากค่าปรับมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง
ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีรายได้สูงอาจจะมองว่า การจ่ายค่าปรับเป็นการอนุญาตให้สามารถทำผิดกฎหมายได้ และไม่เข็ดหลาบกับการกระทำความผิด นอกจากนี้ หากค่าปรับที่กฎหมายกำหนดไว้สูงเกินกว่าความสามารถจ่าย อาจทำให้ผู้มีรายได้น้อยยอมที่จะถูกจำคุกแทนการจ่ายค่าปรับ ซึ่งตอกย้ำภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย
แม้ว่าในปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมและ สำนักงานศาลยุติธรรมจะพยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้ โดยนำมาตรการต่างๆ เช่น การติดกำไล EM ร่วมกับการวางหลักประกัน หรือการอนุญาตให้ผ่อนชำระค่าปรับ แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด
ปัญหาที่สอง ความลักลั่นของโทษปรับ จากการที่กฎหมายใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้ปัจจุบันค่าปรับที่เคยกำหนดเอาไว้อาจจะต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ
จากการศึกษาของผู้วิจัย พบว่า ตั้งแต่ปี 2402 มีกฎหมายที่มีโทษปรับและยังใช้บังคับอยู่ 428 ฉบับ ในจำนวนนี้ มีฉบับหนึ่งคือ พ.ร.บ. รักษาคลอง ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ที่มีโทษปรับ กรณีทิ้งสิ่งสกปรกลงในคลองเพียง 20 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับเปลี่ยนอัตราค่าปรับ ก็ต้องมีการออกกฎหมายฉบับใหม่มาแก้ไข ซึ่งกว่ากฎหมายจะผ่านออกมาก็อาจจะล้าสมัยไปแล้ว
เมื่อลองพิจารณาบริบทของต่างประเทศ พบว่าในหลายประเทศเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกัน และได้หาวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อให้ได้ค่าปรับที่มีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยวิธีการหนึ่งที่ในต่างประเทศนำมาใช้ก็คือ
การกำหนดอัตราค่าปรับแบบแปรผัน หรือที่รู้จักในชื่อของ Day-fine system ที่ใช้วิธีการกำหนดหน่วยความผิด สถานะทางเศรษฐกิจของผู้ทำความผิด มาพิจารณาร่วมกับรายได้ต่อวันของผู้ทำความผิดเพื่อคำนวณหาอัตราค่าปรับที่เหมาะสม
โดยใช้สูตร ค่าปรับ = จำนวนหน่วยความผิด (วันปรับ) X รายได้สุทธิของผู้ทำความผิด ตัวอย่างเช่น ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง โทษปรับไม่เกิน 4,000 บาท
ถ้าคำนวณค่าปรับแบบแปรผัน ในกรณีนี้ถือเป็นความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวและมีความรุนแรงไม่มาก หน่วยการลงโทษอาจคิด 5 วันปรับ และจากนั้นนำจำนวนวันที่ได้ไปคูณกับเงินได้สุทธิ 1,000 บาท (เงินเดือนหักลดค่าใช้จ่ายและภาระต่างๆ แล้ว) ค่าปรับจึงเป็น 5,000 บาท
ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าปรับแบบแปรผัน จะแตกต่างกันตามแต่ละบริบทของประเทศ
เยอรมนี พิจารณาจากตัวแปรสำคัญ 2 ประการคือ (1) จำนวนหน่วยวันปรับการลงโทษ และ (2) พิจารณาจากสภาพแวดล้อมส่วนบุคคล และฐานะทางการเงินของผู้ทำความผิด เช่น อาชีพ ความเป็นอยู่ และรายได้
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกรวบรวมจากการสอบสวนของตำรวจ โดยค่าปรับจะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นค่าเฉลี่ยรายได้สุทธิตามความเป็นจริงของผู้ทำความผิดใน 1 วัน
ฟินแลนด์ เป็นการปรับในจำนวนที่แน่นอนก่อนโดยตำรวจและพนักงานอัยการ แต่หากไม่มีการชำระค่าปรับ อัยการจะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้มีคำสั่งลงโทษปรับหรือลงโทษจำคุกแทนโทษปรับ
โดยจะพิจารณาคำนวณรายได้ต่อวันของผู้ทำความผิด จากข้อมูลและรายได้ที่ผู้ทำความผิดจากการชำระภาษีครั้งล่าสุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้พิพากษาจะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวของผู้ทำความผิดได้
สหรัฐอเมริกา ในหลายมลรัฐ มีการบังคับใช้โทษปรับแบบแปรผัน ทั้งในชั้นก่อนการพิจารณาคดี และชั้นการพิจารณาคดีของศาล และให้ความสำคัญกับผู้ทำความผิดที่ยากจน ผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ
โดยศาลจะคำนวณรายได้สุทธิของผู้กระทำความผิดจากการนำรายได้ของคู่สมรสหรือบุคคลที่เป็นผู้ดูแลมาเป็นฐานในการคำนวณรายได้สุทธิของผู้ทำความผิดแทน
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะนำระบบการปรับแบบแปรผันมาใช้ เพื่อสร้างระบบการปรับที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ มีทั้งข้อท้าทายและสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนดังนี้
ยกร่างกฎหมายรับรองการปรับแบบแปรผัน เพื่อให้กฎหมายไปแก้ไขโทษปรับในกฎหมายอื่นๆ และกำหนดหลักเกณฑ์ของการพิจารณาและการกำหนดค่าปรับแบบแปรผัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1.การกำหนดความผิดในลักษณะใดบ้างที่จะนำโทษปรับแบบแปรผันมาใช้ ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่า โทษปรับแบบแปรผันควรนำมาใช้กับความผิดที่มีโทษปรับทุกประเภท โดยช่วงเริ่มต้น อาจนำร่องใช้ในความผิดบางประเภทก่อน เช่น ความผิดลหุโทษ ความผิดจราจร ความผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และความผิดทางเศรษฐกิจ
2.การกำหนดจำนวนวันปรับ ผู้วิจัยเสนอให้กำหนดหน่วยความผิดตามระดับความร้ายแรง โดยเปรียบเทียบกับโทษจำคุก หากโทษร้ายแรงมากจำคุกตั้งแต่ 1 ปี หน่วยการปรับอาจเท่ากับ 360 วัน แต่หากความผิดโทษจำคุกต่ำเพียง 1 เดือน หน่วยวันปรับอาจเท่ากับ 30 วัน
3.การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ทำความผิด ควรกำหนดปัจจัยที่จะนำมาใช้พิจารณาหักกลบและลดหย่อนค่าปรับ อาทิ รายได้ ภาระภาษี ค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดู
ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสะท้อนตัวรายได้สุทธิของผู้ทำความผิด เพื่อให้การกำหนดค่าปรับสามารถลงโทษได้อย่างเหมาะสม
สร้างแนวปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง อัยการ ผู้พิพากษา รับรู้ขั้นตอนและกระบวนการร่วมกัน รวมถึงหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่อาจจะต้องเข้ามาร่วมสนับสนุนข้อมูลพิจารณารายได้สุทธิของผู้ทำความผิด อาทิ กรมสรรพากร หรือหน่วยงานทางสวัสดิการสังคม
ข้อเสนอนี้ข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผู้วิจัยคิดว่า รัฐบาล ฝ่ายการเมือง และหน่วยงานของรัฐต้องเตรียมพร้อมเพื่อที่จะนำไปสู่การนำระบบการปรับแบบแปรผันมาใช้เพื่อให้ระบบค่าปรับมีประสิทธิภาพในการลงโทษและเป็นธรรม
ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงานทีดีอาร์ไอ เรื่อง “การปฏิรูประบบค่าปรับในกฎหมายไทยเพื่อประสิทธิภาพในการลงโทษและความเป็นธรรมในสังคม”