"ออมเงินวันละ 1 บาท" มีเงินถึง 20,000 ล้าน ช่วยชุมชน
19 ปี กองทุนสวัสดิการชุมชน ออมวันละ 1 บาท ทั่วประเทศมีเงินกองทุนรวม 20,000 ล้านบาท มีสมาชิก 7 ล้านคน สามารถนำเงินมาช่วยเหลือชาวบ้านเป็นสวัสดิการชุมชนในเรื่องต่างๆ
KEY
POINTS
- 19 ปี กองทุนสวัสดิการชุมชน ออมเงินวันละ 1 บาท ทั่วประเทศมีเงินกองทุนรวม 20,000 ล้านบาท มีสมาชิก 7 ล้านคน สามารถนำเงินมาช่วยเหลือเป็นสวัสดิการชุมชนในเรื่องต่างๆ
- หลักการสำคัญกองทุน สมาชิกออมเงินวันละ 1 บาทหรือปีละ 365 บาท สมทบเงินเข้ากองทุน โดยรัฐบาลจะสมทบเงินด้วย เพื่อให้กองทุนเติบโต
- ตัวอย่าง ออมเงินวันละ 1 บาท กองทุนสวัสดิการชุมชน ที่นำเงินไปช่วยเหลือชุมชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ปลูกไม้มีค่า ประมาณ 15 ไร่ สามารถนำไม้มาช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนคนยากไร้ในชุมชน
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) กล่าวว่า 3 คลังที่ต้องวางไว้ในชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วย 1.คลังปัญญา ภูมิปัญญา ของดีต่างๆที่มีอยู่ 2.คลังทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า รวมถึงองค์กรการเงินในชุมชน เช่น องค์กรสวัสดิการชุมชน กองทุนออมวันละบาท และ3.คลังอาหาร ถ้ามี 3 คลังนี้ชุมชนท้องถิ่นจะไปรอด
ทั้งนี้ ในส่วนขององค์กรสวัสดิการชุมชน กองทุนออมเงินวันละ 1 บาท ขณะนี้ ทั่วประเทศมีสมาชิกราว 7 ล้านคน มีเงินกองทุนรวมราว 20,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่มาจากประชาชนเอง 14,000 ล้านบาท สามารถหยิบออกมาใช้ได้ตวามความต้องการของชุมชนท้องถิ่น
หลักการออมเงินวันละ 1 บาท
กองทุนสวัสดิการชุมชนจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548 ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันทำให้สมาชิกได้เข้าถึงการช่วยเหลือ ซึ่งหลักการสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน คือ ประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล หรือเทศบาล จะต้องร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน คัดเลือกคณะกรรมการขึ้นมาบริหารงาน ยกร่างระเบียบข้อบังคับของกองทุนสวัสดิการ กติกาของกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ชุมชนร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของคนในชุมชน
ขณะที่สมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนออมเงินวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท โดยรัฐบาลจะสมทบเงินผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.) หรือภาคเอกชนอาจร่วมสมทบ เพื่อให้กองทุนเติบโต แล้วนำเงินกองทุนนั้นมาช่วยเหลือสมาชิกตามข้อตกลงของแต่ละกองทุน
ปัจจุบันสามารถจัดสวัสดิการได้มากกว่า 15 ประเภท ตั้งแต่การคลอดบุตร เจ็บป่วย ช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส ช่วยงานสาธารณะประโยชน์ในชุมชน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เงินยืมไม่มีดอกเบี้ยสำหรับสมาชิก ส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม เป็นต้น
ขับเคลื่อนออมเงินวันละ 1 บาท กองทุนยั่งยืน
ทั้งนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนมีความยั่งยืน เนื่องจากคนในชุมชนเริ่มต้นจากชุมชน มีความเป็นเจ้าของกองทุนสวัสดิการชุมชนร่วมกัน มีการบริหารจัดการร่วมกัน แตกต่างจากสวัสดิการสังคม ตรงที่สวัสดิการชุมชน เป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชน ส่วนสวัสดิการสังคม เป็นระบบการช่วยเหลือของภาครัฐ
ลักษณะการดำเนินการของกองทุนสวัสดิการชุมชน
- เป็นกองทุนที่มี สมาชิก ทำงานให้บริการสมาชิกและ/หรือคนอื่นๆในชุมชนตามที่สมาชิกตกลงร่วมกัน
- เงินกองทุน มาจากการสมทบของสมาชิก การบริจาคสมทบของหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการระดมทุนเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่างๆ ปัจจุบันกองทุนส่วนใหญ่สมาชิกสมทบวันละ๑ บาทหรือปีละ ๓๖๕ บาท แต่ก็มีกองทุนบางส่วนที่ใช้การระดมทุนด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น จากผลกำไรกลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ เงินสมทบดังกล่าวจะไม่คืนเงินเมื่อสมาชิกลาออก
- การบริหารจัดการ สมาชิกจะเลือกคณะกรรมการ มาบริหารกองทุน โดยมีระเบียบกองทุนเกี่ยวกับสมาชิก การสมทบเงิน และการจ่ายเงินสวัสดิการ เป็นเครื่องมือในการทำงาน
- การช่วยเหลือสมาชิก ประเภทสวัสดิการที่จัด จำนวนเงินช่วยเหลือ เป็นไปตามกติการ่วมและฐานะการเงินของแต่ละกองทุน
ตัวอย่างสวัสดิการจากออมเงินวันละ 1 บาท
สำหรับตัวอย่างออมวันละ 1 บาท กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ก่อตั้งในปี 2553 มีเงินกองทุนกว่า 4 ล้านบาทเศษ การช่วยเหลือสมาชิก เช่น เจ็บป่วย นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือ 1,000-3,000 บาท, คลอดบุตร 2,000 บาท, ประสบอุบัติเหตุ แขน ขาขาด ตาบอด ช่วย (ข้างละ) 10,000 บาท, หมา แมว งูกัด ช่วย 500-1,000 บาท, เสียชีวิตช่วยเหลือ 30,000 บาท เป็นต้น
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทับพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว คิดค้นรูปแบบการหารายได้เข้ามาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการฯ โดยการปลูกไม้มีค่า ประมาณ 15 ไร่ ขณะนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้บางส่วน เช่น โครงการบ้านพอเพียงชนบทที่ พอช. สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมหลังละ 2 หมื่นบาท บางหลังซ่อมหลายอย่าง งบไม่พอ คณะกรรมการกองทุนฯ จึงนำไม้มะฮอกกานีที่ปลูกมาแปรรูปเพื่อทำวงกบหน้าต่าง ประตู ทำให้ประหยัดงบไปได้มาก เป็นต้น