ยืนยันแล้ว ! ไทยเจอ "ผู้ป่วยฝีดาษลิง เคลด 1บี" รายแรก

ยืนยันแล้ว ! ไทยเจอ "ผู้ป่วยฝีดาษลิง เคลด 1บี" รายแรก

กรมควบคุมโรค เผยผลตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันผลพบเชื้อฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง เคลด 1บี  ในผู้ป่วยชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย  

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีรายงานออกมา และยืนยันผลพบเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ clade Ib  หรือฝีดาษลิง เคลด 1บี ถือเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการวินิจฉัยในประเทศไทย ซึ่งต่อจากนี้ต้องรายงานผลไปยังองค์การอนามัยโลกตามมาตรฐาน IHR

พร้อมกันนี้ ได้กำชับไปยังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรคทกด่าน โดยเฉพาะด่านที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้เข้มงวดมาตรการ ในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และไม่ว่าจะเปลี่ยนเครื่องที่ไหน หากต้นทางเป็นประเทศที่มีการระบาด ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thai Health Pass และต้องผ่านกระบวนการคัดกรองกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ

กรมควบคุมโรค ยังคงเฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 21 วัน หากมีอาการไข้ มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที
 

“โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ส่วนใหญ่มักมีอาการผื่นขึ้นตามร่างกาย ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไอหรือมีน้ำมูก จึงมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้น้อยกว่าโรคโควิด 19 หรือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอาการไอและมีน้ำมูก การติดเชื้อโรคฝีดาษวานร ยังเป็นการสัมผัสใกล้ชิด ดังนั้นการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด และหลีกเลี่ยงสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าจากประเทศที่มีการระบาด เช่น กระรอก หนู จะเป็นวิธีที่ป้องตนเองได้” นายแพทย์ธงชัย กล่าว

ด้านนพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากในพื้นที่เขตติดโรคไข้เหลือง 42 ประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ที่เดินทางลงทะเบียนผ่านระบบ Thai Health Pass และต้องผ่านกระบวนการคัดกรองกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคฯ ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับการวัดอุณหภูมิร่างกาย สอบถามอาการ และสังเกตผื่นตามร่างกาย หากมีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จะมีการแยกกักผู้เดินทาง ซักประวัติ ตรวจร่างกายเพิ่มเติม พร้อมเก็บสิ่งส่งตรวจ เพื่อส่งห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ และส่งผู้ป่วยต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร

สำหรับการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายดังกล่าว จำนวน 43 ราย ขณะนี้ยังไม่พบรายใดมีอาการป่วย 

มาตรการที่เตรียมพร้อมสำหรับการคัดกรองและกักกันโรคเพิ่มเติม ดังนี้     

1.) ให้ผู้เดินทางที่เดินทางมาจาก 42 ประเทศเขตติดโรค และประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษวานร ลงทะเบียนระบบ Thai Health Pass ล่วงหน้า ก่อนเข้าสู่ระบบ Check in ของสายการบิน ณ ประเทศต้นทาง
2.) เมื่อผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ จะต้องผ่านการคัดกรอง และวัดอุณหภูมิร่างกายด้วย handheld thermoscan หากอุณหภูมิเกิน 36.8 องศาเซลเซียส จะต้องวัดอุณหภูมิทางหูซ้ำอีกครั้ง ซักประวัติอาการเพิ่มเติม จึงจะผ่านไปยังพิธีการตรวจคนเข้าเมือง และหากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองพบเจอผู้โดยสารที่มีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร ให้ส่งกลับมารับการตรวจเพิ่มเติม ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ
3.)มีการแจก Health Beware Card สำหรับผู้เดินทางทุกคน จากประเทศเสี่ยง กรณีมีอาการหลังจากเข้าประเทศ ให้รายงานอาการผ่าน QR code ที่ปรากฏบน Health Beware Card เพื่อให้ทางกรมควบคุมโรคได้ติดตามต่อเนื่อง และเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
4.)กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เตรียมความพร้อมสำหรับการกักกัน หากมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเตรียมอาคารกักกันโรค 4 ชั้น จำนวน 60 ห้อง หากมีการเดินทางแบบครอบครัวจะมีห้องกักกันแบบกลุ่มเตรียมสำรองไว้พร้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี  เดินทางจากประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของฝีดาษวานร เคลดวันบี  มาต่อเครื่องที่ตะวันออกกลางก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 เวลา 18.00 น. มีบ้านพักในประเทศไทหลังจากนั้นวันที่ 15 ส.ค.เช้า ผู้ป่วยเริ่มมีไข้  มีตุ่มขึ้นมาเล็กน้อย เลยไปตรวจที่โรงพยาบาล