"มะเร็งเต้านม" อันดับ 1 ในหญิงไทย คัดกรอง รู้เร็ว รักษาทัน
“มะเร็งเต้านม” เป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย หลายคนมองว่าเป็นโรคที่น่ากลัว แต่ความจริงแล้วมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบในระยะแรกเริ่ม
สถิติจาก องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) เผยว่าข้อมูลในปี 2563 มีผู้หญิงไทยป่วยด้วย "โรคมะเร็งเต้านม" รายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 60 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ราว 8,270 คน หรือคิดเป็น 23 คนต่อวัน แนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2583 จะพบผู้ป่วย มะเร็งเต้านม รายใหม่ราว 27,600 คนต่อปี โอกาสเสี่ยงเป็น มะเร็งเต้านม ในหญิงไทยอยู่ที่ราว 1 ใน 24 คน และโอกาสเสี่ยงเสียชีวิต 1 ใน 72 คน โดยประเทศที่มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมมาก เช่น ออสเตรเลีย 1 ใน 10 คน และ สหรัฐ 1 ใน 11 คน
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.65 “ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ” ผู้อำนวยการ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวในงานแถลงข่าว เปิดตัว โครงการ Breast Cancer Awareness Month 2022 “ตรวจค้นหามะเร็งเต้านม ให้แก่ผู้ยากไร้” เนื่องในวันมะเร็งเต้านมโลกประจำปี 2022 ณ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ โดยระบุว่า เมื่อ 15 ปีก่อน มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งอันดับ 1 ของหญิงไทย แต่ปัจจุบันสามารถคัดกรองได้เพราะเป็นนโยบายระดับชาติ ทำให้มะเร็งปากมดลูกลงไปอยู่ที่อันดับ 5
ในทางกลับกัน “มะเร็งเต้านม” กลายเป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 1 เพราะการคัดกรองโดยเฉพาะ การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยวิธีการทำดิจิทัล แมมโมแกรม (Digital Mammogram) ยังคงเป็นความท้าทายทั้งในประเทศไทยและเอเชีย เนื่องจากไม่มีประเทศไหนที่คัดกรองได้เต็มที่ ยกเว้นสิงคโปร์
รู้เร็ว รักษาได้
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ อธิบายต่อไปว่า นโยบายระดับชาติยังไม่สามารถให้การตรวจแมมโมแกรม อยู่ในสิทธิประโยชน์การคัดกรองได้ เนื่องจากราคาสูง รวมถึงทรัพยากร แพทย์ที่เชี่ยวชาญในการอ่านยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม “มะเร็งเต้านม” สามารถรักษาหายแต่ต้องเจอระยะเบื้องต้น นอกจากนี้ ยังสามารถสงวนเต้านมไว้ได้ด้วย แต่ส่วนใหญ่ที่พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะรักษาในระยะ 3-4
“การคัดกรองเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ค้นหามะเร็งระยะแรกเริ่มและยังไม่มีอาการ การรักษาในมะเร็ง 220 ชนิด มะเร็งเต้านม ถือว่ามีผลการรักษาในระดับที่ดีมาก ภาพรวม 60-70% สามารถรักษาหายได้ และหากเจอระยะแรกๆ มีโอกาสรักษาให้หายกว่า 100% เพราะเทคโนโลยีการรักษาก้าวหน้าไปมาก โดย 4 เสาหลักในการรักษา คือ ศัลยกรรม รังสีบำบัด เคมีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด การรักษาทั้ง 4 แบบ ถูกพัฒนาขึ้นมาก ทำให้การรักษามะเร็งเต้านมไม่น่ากลัว”
แนวทางป้องกันมะเร็งเต้านม
สำหรับ 4 แนวทางเบื้องต้น ในการป้องกันมะเร็งเต้านม คือ
1.เรียนรู้ปัจจัยเสี่ยง
2. อย่าเลี่ยงการตรวจคัดกรอง
3. คลำเต้านมเป็นประจำ
4. ทำกิจกรรมที่เสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย จะช่วยได้เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ผู้หญิงที่ควรตรวจมะเร็งเต้านม ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติการตรวจยีนผิดปกติ หรือมีญาติแท้ ๆ ที่ตรวจพบยีนผิดปกติ โดยควรเริ่มตรวจตั้งแต่ช่วง อายุ 25 ปี และ สตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี หากคลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านมหรือมีเลือดออกที่หัวนม และอาการผิดปกติอื่น ๆ บริเวณเต้านม ควรพบแพทย์ทันที
รถ “แมมโมแกรม” เคลื่อนที่
ทั้งนี้ เนื่องในเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านโรคมะเร็งเต้านม Breast Cancer Awareness Month 2022 โรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่ม 1 ได้แก่ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ รพ.กรุงเทพสนามจันทร์ รพ.กรุงเทพเมืองราช รพ.กรุงเทพเพชรบุรี และ รพ.กรุงเทพหัวหิน ร่วมมือกับ มูลนิธิเวชดุสิตในพระอุปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดโครงการ "เพิ่มโอกาส ลดความเสี่ยง ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ปิดช่องว่างการดูแล..เติมเต็มทุกการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม"
ตรวจค้นหามะเร็งเต้านมสัญจร โดยจัดรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ระบบดิจิทัลแบบประสิทธิภาพสูง (Mobile Digital Mammogram and Ultrasound) ออกหน่วยเคลื่อนที่บริการตรวจค้นหาความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมให้ผู้หญิงไทยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามจุดบริการต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดในภาคตะวันตก รองรับกลุ่มเป้าหมาย 50 คน ต่อจุดบริการ ได้แก่
- จุดบริการสำนักงานเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วันที่ 11 ตุลาคม 2565
- จุดบริการ รพ.กรุงเทพหัวหิน ในวันที่ 18 – 19 ตุลาคม 2565
- จุดบริการ รพ.กรุงเทพเพชรบุรี จ.เพชรบุรี วันที่ 20-22 ตุลาคม 2565
- จุดบริการ รพ.กรุงเทพเมืองราช จ.ราชบุรี วันที่ 23-25 ตุลาคม 2565
- จุดบริการ รพ.กรุงเทพสนามจันทร์ จ.นครปฐม วันที่ 26-28 ตุลาคม 2565
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ กล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่ม 1 ได้ริเริ่ม โครงการค้นหามะเร็งเต้านมสัญจร ด้วยรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ระบบดิจิทัล เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ยังขาดโอกาสการเข้าถึงการตรวจมะเร็งเต้านมในกรุงเทพมหานครและภาคตะวันตก และหากพบมีความผิดปกติจะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น
โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินการตรวจ โดย มูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และมีการสนับสนุนจากภาครัฐ สำนักงานเขตห้วยขวาง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการช่วยคัดเลือกผู้เข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านมในแต่ละจังหวัด รวมถึงกระตุ้นสังคมให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการคัดกรอง เรียนรู้ปัจจัยเสี่ยง
“โรคมะเร็งเต้านม” ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เป็นมะเร็งที่มีโอกาสรักษาหายขาดหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก หากเรา รู้เท่าทัน และป้องกัน เพื่อให้ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ด้วยการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเป็นประจำทุกปี และสามารถตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน หากพบความผิดปกติ ควรพบแพทย์ เพื่อช่วยลดอัตราการสูญเสียจากโรคมะเร็งเต้านม
“โรคมะเร็ง” ที่พบมากในหญิงไทย
อันดับ 1 มะเร็งเต้านม
อันดับ 2 มะเร็งปอด
อันดับ 3 มะเร็งตับ
อันดับ 4 มะเร็งลำไส้ใหญ่ทวารหนัก
อันดับ 5 มะเร็งปากมดลูก