ส่องตลาด "กัญชง" ประเทศชั้นนำ ไทยพร้อมหรือไม่ กับการตีตลาด CBD
“ไทยลีฟ” เปิดกรณีศึกษา “ตลาดกัญชงกลุ่มประเทศชั้นนำ” สู่การนับถอยหลังความพร้อมของไทย ชาติแรกในภูมิภาคกับการตีตลาด CBD และสิ่งที่ต้องตระหนักถึงข้อควรระวัง หลังจากผลิตภัณฑ์กัญชงไทย ออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง
"กัญชง" อาจดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่หากใครได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนทางฝั่งอเมริกา หรือฝั่งยุโรปจะเห็นว่า ตลาดกัญชงในแถบดังกล่าวเดินหน้าไปหลายก้าว ต่างประเทศพบว่า มีการปลูก - ใช้สารสกัด CBD จากกัญชงมาทำเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ดังนั้น ประเทศไทย จะสามารถใช้ประโยชน์ช่วงที่อุตสาหกรรมนี้กำลังเริ่มต้นในภูมิภาคไปในทิศทางไหน
สีสันตลาดกัญชงต่างประเทศ ต่อยอดสารสกัด CBD
"ยิ่งยศ จารุบุษปายน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด ซึ่งมีพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัทลงทุนในธุรกิจกัญชง กัญชาในทวีปอเมริกาเหนือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และหลายพื้นที่ในอเมริกาใต้ เผยว่า ประเทศเหล่านี้มีการทำผลิตภัณฑ์กัญชงหลายรูปแบบ อาทิ ยา อาหารเสริม เครื่องดื่ม อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงแบตเตอรี่รถยนต์ หรือโครงรถยนต์ ก็มีการใช้เส้นใยจากกัญชงมาเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิต
ขณะเดียวกัน ถ้าขยับไปดูหลายประเทศใน ทวีปยุโรป เช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย พบว่า มีการนำกัญชงมาทำผลิตภัณฑ์หลากรูปแบบเช่นกัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์อาหาร รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ยา และเวชภัณฑ์
ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน ยังเปิดเผยอีกว่า เกษตรกรชาวอิตาลีมีการจำหน่ายส่วนประกอบต่างๆ ของกัญชง โดยช่อดอก ที่นำมาสกัดสาร CBD จะได้รับความนิยมมากที่สุด รองมาคือ ลำต้น และเมล็ด
หากสำรวจข้อมูลการใช้สารสกัด CBD จากกัญชงในต่างประเทศให้ลึกขึ้น จะพบว่า มีการใช้ผลิตภัณฑ์นานาชนิดอย่างแพร่หลาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในประเทศใหญ่ที่ก้าวทันต่อกระแสเทรนด์กัญชง และมีองค์กรด้านการศึกษาที่ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับกัญชงมานานกว่า 30 ปี เช่น มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ที่เป็นพันธมิตรกับไทยลีฟ
ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเปิดเสรีตลาดกัญชงมาแล้วกว่า 5 ปี โดยมีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชง ซึ่งเน้นเรื่องการนอนหลับเป็นหลัก รองมาคือ กลุ่มอาหาร เช่น อาหารที่ใช้โปรตีนของกัญชง อาหารทานเล่น และกลุ่มเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ เครื่องดื่มผสมวิตามิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีบางรัฐที่ยังไม่ได้ลบกัญชงออกจากบัญชีสารผิดกฏหมาย จึงจำเป็นต้องพิจารณาข้อกฎหมายในแต่ละรัฐอย่างละเอียด
ส่วนใน ประเทศแคนาดา มีการนำสารสกัด CBD มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเครื่องสำอาง สำหรับดูแลเรื่อง Anti-Aging ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพตามวัย เช่น
คลีนเซอร์ โทนเนอร์ เซรั่ม โลชั่น ครีมกันแดด เป็นต้น
ขณะที่ ประเทศในโซนยุโรปอย่าง อิตาลี ก็เป็นประเทศที่เปิดกว้างเรื่อง กัญชง ทั้งการผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชง หลังจากประกาศกฏหมายการเพาะปลูกและจำหน่ายกัญชงเสรีเมื่อปี พ.ศ.2559 ในปัจจุบัน มีทั้งร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชง ธุรกิจด้านการเกษตรกัญชง ธุรกิจแปรรูป และกระจายผลิตภัณฑ์กัญชง ทำให้เกิดห่วงโซ่การสร้างงานสร้างอาชีพเพิ่มขึ้นมากกว่าหมื่นราย
ขณะที่ เนเธอร์แลนด์ จะทำการปลูกกัญชงเพื่อการส่งออกเป็นหลัก โดยมีตลาดส่งออกสำคัญอย่าง เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แต่ก็มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชงในประเทศด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาหารเสริม
และเนเธอร์แลนด์ ยังมีข้อกำหนดกฏหมายชัดเจนว่า ผู้ผลิตจะต้องส่งกัญชงที่ปลูกในเนเธอร์แลนด์ไปสกัดสาร CBD ในต่างประเทศ แล้วจึงสามารถนำกลับมาจำหน่ายในประเทศได้ เพื่อป้องกันการผลิตยาเสพติดที่ร้ายแรง
นอกจากนี้ เยอรมนี มีแผนจะเปิดเสรีตลาดกัญชง และนำสารสกัด CBD เข้ามาใช้ในวงการแพทย์ในปี 2566
ตลาดเอเชีย เป็นอย่างไร
ย้อนมาที่แถบเอเชีย ปัจจุบันมี ประเทศไทย เป็นประเทศแรกที่มีการเปิดเสรีตลาดกัญชง และมีการใช้สารสกัด CBD จากกัญชงมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตผลิตภัณฑ์ โดยไทยลีฟ ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกัญชงตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อพัฒนาวงการแพทย์และสุขภาพ
ภาครัฐ “ตัวแปรใหญ่” หนุนตลาดกัญชง
ยิ่งยศ กล่าวต่อไปว่า จากตัวอย่างที่หลายๆ ประเทศ มีการทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชง ภาครัฐของแต่ละประเทศถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากกับการสนับสนุนและควบคุมดูแลการใช้กัญชงเพื่อเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์
"หลักการการทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสารสกัด CBD เหมือนกันทั่วโลก คือ ต้องมีหน่วยงานกำกับควบคุมดูแลในการออกผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพในการยื่นขอจดทะเบียนก่อนวางจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ต่างประเทศจะมี Food and Drug Administration (FDA) ในประเทศไทย หน่วยงานที่ควบคุมกฎระเบียบในส่วนนี้คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล ตรวจสอบ และออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหาร ยา และเครื่องสำอางสำหรับผู้บริโภค"
ทั้งนี้ ภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนควบคู่ด้วยว่า สารสกัด CBD จากกัญชงมีประโยชน์อย่างไร ปริมาณสารที่ใช้ได้ควรอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ และกำหนดสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้อย่างชัดเจน
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ อิตาลี ที่มีการกำหนดกฏหมายด้านการเพาะปลูกและการผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชงหลายข้อ เช่น
- ผู้เพาะปลูกต้องเก็บแถบป้ายบอกข้อมูลของเมล็ดที่ซื้ออย่างน้อย 1 ปี และต้องเก็บใบเสร็จตามระยะที่กฏหมายกำหนด
- กรณีมีการตรวจพบปริมาณส่วนผสมของสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งเป็นสารเสพติดออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเกินที่กฎหมายกำหนด ศาลสามารถสั่งยึดหรือทำลายพื้นที่เพาะปลูกได้
- นอกจากนี้ แต่ละพื้นที่สามารถจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชง และเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากกัญชงได้
ตัวอย่างอีกประเทศหนึ่ง คือ ออสเตรีย ซึ่งเปิดให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีสาร CBD จากกัญชงแล้ว เช่น น้ำมันนวด ชา แต่ต้องผลิตมาจากพันธุ์กัญชงที่อยู่ในรายชื่อที่ผ่านการรับรองจากสหภาพยุโรปเท่านั้น และมีปริมาณของสาร THC ไม่เกิน 0.3% และหากเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มยา ต้องมีฉลากระบุชัดเจนว่า เป็นยารักษาโรคใช้เพื่อการแพทย์โดยเฉพาะ
ทั้งนี้ พบว่า ในออสเตรีย ยังมีการเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชง เพื่อตอบโจทย์สายคนรักสมุนไพร รวมถึงทำเป็นร้านกาแฟและของหวานที่ใช้สาร CBD เป็นส่วนผสม จึงกลายเป็นสถานที่โปรดของกลุ่มนักศึกษา และผู้สูงวัยสำหรับนัดพบปะแก๊งเพื่อนเพื่อพักผ่อนอีกด้วย
“หากถามถึงข้อคิดเห็นของประชาชนในประเทศที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชงแล้ว เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือแคนาดา พบว่า มีการตอบรับที่ดีมาก เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมามีคุณภาพ มีการควบคุมอย่างชัดเจนจากหน่วยงานโดยตรง พร้อมทั้ง มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลวิจัยเกี่ยวกับสารสกัด CBD ให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจน เช่น CBD มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์ ช่วยเกี่ยวกับพาร์กินสัน หรือสามารถช่วยลดอาการเจ็บปวดของผู้ที่ทำเคมีบำบัด หรือคีโม หลังจากฉายรังสี เป็นต้น ทำให้คนเกิดความเชื่อมั่น มั่นใจในการใช้อย่างความปลอดภัย”
จากกรณีศึกษาโลก สู่ประเทศไทย
ที่ผ่านมา "ไทยลีฟ" มีการศึกษาการทำธุรกิจกัญชงจากพันธมิตรในต่างประเทศ และเดินหน้าทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกต้องตามกฏหมาย ราคาจับต้องได้ คืนประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ยิ่งยศ กล่าวต่อไปว่า หลังจากไทยลีฟได้เข้าไปดำเนินการปลูกกัญชงและสร้างโรงงานกัญชงที่ จ.นครนายก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ มีการเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อแจ้งให้ทราบถึงวัตถุประสงค์การทำธุรกิจกัญชงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อวงการเฮลท์แคร์ มิใช่เพื่อสันทนาการผิดกฎหมาย
หลังจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครนายก ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ปลัดจังหวัด รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้รับทราบข้อมูลก็ตื่นตัวกันอย่างมาก ทุกภาคส่วนเข้าใจและยินดีให้ความร่วมมือ เพราะการเข้าไปทำโรงงานกัญชงของไทยลีฟ จ.นครนายก นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างโอกาสพัฒนาคนในชุมชนให้มาทำงานกับไทยลีฟ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างได้รายได้จากการปลูกกัญชง
ข้อควรระวัง ในการทำตลาดกัญชง
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชงไทยออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง เราจำเป็นต้องตระหนักถึงข้อควรระวังหลายข้อ "ยิ่งยศ" กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชง คือ
1. ผลิตภัณฑ์กัญชงต้องได้มาตรฐานระดับสูง ผลิตภัณฑ์ที่ออกจำหน่ายสู่ตลาดมีหลายมาตรฐาน ดังนั้นภาครัฐควรควบคุมมาตรฐานให้ได้และเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และหากผลิตภัณฑ์ใดไม่ได้คุณภาพต้องมีการจัดการอย่างเคร่งครัด
2. การวางระบบเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร เป็นสิ่งสำคัญที่สัมพันธ์ต่อการสร้างระบบโรงงาน และมีระบบเกษตรกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หากเกษตรกรไม่มีความเข้าใจพื้นฐานเรื่องพืชสายพันธุ์กัญชง จะทำให้การเพาะปลูกไม่ถูกต้อง ผลลัพธ์คือ พืชกัญชงจะดูดสารพิษเข้าไปที่ต้น และการใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง เป็นจำนวนมาก จะทำให้สารเคมีเข้าไปอยู่ในน้ำมัน CBD ที่สกัดออกมา เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางระบบเกษตรกรรมในรูปแบบออร์แกนิก 100%
3. การสร้างแพลตฟอร์มให้ความรู้ที่ถูกต้องต่อผลิตภัณฑ์กัญชง ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชงบนโลกออนไลน์มีจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนอาจมีการคัดกรองที่ไม่ถูกต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ดังนั้น หากมีการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชงโดยเฉพาะ และมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชงที่ถูกต้อง ชัดเจนและเข้าถึงง่าย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค