กลับมากินเยอะหลังอดอาหาร เสี่ยงเข้าข่าย "Refeeding Syndrome" อันตรายถึงชีวิต
ใครที่ “ลดน้ำหนัก” ผิดวิธีด้วยการ “อดอาหาร” เป็นเวลานานๆ แล้วกลับมากินอาหารปริมาณมากแบบทันทีทันใด นอกจากจะทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวน และร่างกายทำงานผิดปกติแล้ว ยังเสี่ยงเสียชีวิตอีกด้วย
สำหรับผู้ที่อดอาหารเป็นเวลานาน อาจมาจากการลดน้ำหนักแบบผิดๆ หรือเนื่องจากป่วยรุนแรงหรือเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ที่ต้อง “งดอาหาร” เป็นเวลานาน จนทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) เมื่อพ้นผ่านช่วงการรักษาตัวมาแล้ว หากกลับมากินอาหารในปริมาณมากอีกครั้งอย่างฉับพลัน ถือว่าอันตรายมาก เนื่องจากเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาหรือยู่ในความดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะนี้เรียกว่า “Refeeding Syndrome”
ภาวะ Refeeding Syndrome คือ การอดอาหารหรือกินอาหารต่อวันในปริมาณน้อยเกินไปเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ แต่วิธีการรักษาผู้ที่มีภาวะดังกล่าวไม่ใช่การให้กลับไปกินอาหารในปริมาณปกติแบบทันทีทันใด แต่ต้องได้รับการดูแลเรื่องอาหารจากแพทย์อย่างใกล้ชิด และต้องเริ่มจากกินอาหารเพิ่มขึ้นทีละน้อยเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อชีวิต โดยวิธีนี้เรียกว่า Refeeding
ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังเผชิญภาวะ “Refeeding Syndrome” อยู่แล้วจะกลับมากินอาหารตามปกติเองนั้น ต้องหยุดความคิดไว้ก่อนแล้วปรึกษาแพทย์ถ้าไม่อยากเสี่ยงเสียชีวิตโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
- Refeeding Syndrome คืออะไร ?
ตามปกติกระบวนการย่อยอาหารของร่างกายนั้น ส่วนสำคัญที่สุดในระบบก็คือ “ตับอ่อน” ซึ่งมีหน้าที่หลั่งอินซูลินออกมาเพื่อนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์และเปลี่ยนเป็นพลังงาน ดังนั้นหากร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ หรืออดอาหารติดกันนานเกินไป ก็จะทำให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินได้น้อยลง ส่งผลให้ระบบเผาผลาญของร่างกายเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง เซลล์เปลี่ยนไปใช้ไขมันและโปรตีนที่สะสมในร่างกายมาเป็นแหล่งพลังงานแทน
หลังจากนั้นเมื่อร่างกายกลับมาได้รับสารอาหารแบบทันทีทันใด จะส่งผลเสียต่อระบบเผาผลาญ นั่นคือ “อินซูลิน” จะถูกหลั่งออกมาจากตับอ่อนแบบฉับพลันเพื่อปรับให้เซลล์กลับไปใช้กลูโคส ซึ่งได้จากการย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปใหม่เป็นแหล่งพลังงานหลักเหมือนเดิม และการย้อนกระบวนการกลับไปแบบฉับพลันนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
นอกจากนี้ ตามปกติกระบวนการเปลี่ยนกลูโคสให้เป็นพลังงานของเซลล์ ต้องใช้วิตามินบี 1 และแร่ธาตุบางชนิด เช่น ฟอสเฟต แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งเมื่อสารอาหารและแร่ธาตุดังกล่าวถูกดึงไปใช้ในกระบวนการนี้มากขึ้นอย่างฉับพลัน อาจส่งผลให้สารอาหารบางอย่างหรือแร่ธาตุในเลือดลดต่ำลงผิดปกติ จนนำไปสู่ ภาวะ “Refeeding Syndrome” ซึ่งผู้ที่มีภาวะนี้จะเริ่มมีอาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนในช่วงเวลาประมาณ 4 วัน หลังกลับมากินอาหารปกติแบบทันทีทันใด เช่น
- อ่อนเพลีย
- ท้องเสีย
- เกิดความรู้สึกสับสน
- หายใจลำบากกว่าปกติ
- มีอาการชัก
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- ความดันโลหิตสูง
- บวมน้ำ
- เกิดภาวะอัมพาต
- หัวใจวาย
- สูญเสียการรับรู้ และนำไปสู่การเสียชีวิต
- ใครบ้างเสี่ยงเกิดภาวะ Refeeding Syndrome
ผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะดังกล่าวนั้น ส่วนมากมักเป็นผู้ที่ได้รับการรักษาภาวะทุพโภชนาการขั้นรุนแรงที่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น
- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 16
- ผู้ที่น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 15% ระหว่าง 3-6 เดือน
- ผู้ที่อดอาหารนานติดต่อกัน 10 วันขึ้นไป
- ผู้ที่มีระดับแร่ธาตุฟอสเฟต โพแทสเซียม หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
- ผู้ที่มีหรือเคยมีประวัติติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น อินซูลิน ยาเคมีบำบัด ยาขับปัสสาวะ หรือยาลดกรด
- ผู้ที่ผ่านการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดมาในช่วงแรก
- ผู้ที่มีแผลไฟไหม้จนไม่สามารถกินอาหารได้ หรืออยู่ในภาวะงดอาหาร
- ผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางชนิด เช่น Anorexia, โรคมะเร็ง, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง, โรคซิสติก ไฟโบรซิส, ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ และผู้ที่มีภาวะลำไส้สั้น
- ภาวะ Refeeding Syndrome ป้องกันได้
สำหรับผู้ที่เสี่ยงหรืออยู่ในภาวะ Refeeding Syndrome เมื่อแพทย์ประเมินอาการแล้วพบว่าว่จำเป็นต้องกลับมากินอาหารตามปกติ จะต้องมีการติดตามอาการ ให้กินอาหารในปริมาณจำกัดแบบ “โภชนบำบัด” และต้องเฝ้าระวังตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง ดังนี้
- เริ่มให้โภชนบําบัด ด้วยการเพิ่มอาหารที่มีพลังงานทีละน้อย จากเดิมผู้ป่วยได้รับร้อยละ 20-25 ของความต้องการ พลังงาน แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นทีละนิด จนอยู่ในระดับที่เพียงพอกับความต้องการพลังงานทั้งหมด (เหมือนตอนก่อนป่วย) ในปลายสัปดาห์แรก
- ติดตามระดับอิเลกโทรไลต์และแร่ธาตุต่างๆ ในเลือด โดยเฉพาะฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม และ แคลเซียม เมื่อแรกรับผู้ป่วยไว้รักษา ติดตามอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกที่เริ่มให้โภชนบําบัด เมื่อพบอาการผิดปกติให้รักษาและติดตามผลอย่างใกล้ชิด
- ติดตามปริมาณสารน้ำที่ผู้ป่วยได้รับ ปริมาณปัสสาวะ และน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลง
- ให้วิตามินบี 1 ขนาด 25-100 มิลลิกรัมต่อวัน ทางปากหรือทางหลอดเลือดดํา ก่อนเริ่มให้อาหาร จากนั้นให้วิตามินบี 1 ต่อเนื่องอีก 7-10 วัน
โดยสรุปแล้วแม้ว่าภาวะ Refeeding Syndrome จะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ กับคนทั่วไป แต่ในคนที่อยู่ระหว่างลดน้ำหนักก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะหากกินน้อยเกินไปแทนที่จะได้สุขภาพที่ดีอาจเสียสุขภาพและเสียชีวิตได้ และสำหรับผู้ที่อดอาหารมาเป็นเวลานานรวมถึงมีภาวะทุพโภชนาการและต้องการกลับมากินอาหารตามปกติอีกครั้ง ก็จำเป็นต้องมีการปรับขนาดการกินตามดุลยพินิจของแพทย์
อ้างอิงข้อมูล : Sanook Health และ พบแพทย์