'ยืดอกพกถุง' เปลี่ยนมุมมอง 'ถุงยางอนามัย' ให้เป็นเรื่องไม่น่าอาย
เมื่อหลายปีก่อนเรามักได้ยินแคมเปญ 'ยืดอกพกถุง' แต่ในปัจจุบันคำๆ นี้เริ่มห่างหายไป 'ถุงยางอนามัย' ไม่ใช่แค่การป้องกันการท้องไม่พร้อมเท่านั้น แต่ยังป้องกัน 'โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์' ได้อีก อย่างไรก็ตามพบว่าหลายคนยังคงเขินอายที่จะซื้อหรือพกไว้ติดตัว
มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ หรือ AIDS Healthcare Foundation (AHF) ได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น วันถุงยางอนามัยสากล หรือ International Condom Day เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไป เห็นถึงความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยที่สำคัญเพื่อสร้างความตระหนักว่าการใช้ถุงยางอนามัยนั้นเป็นเรื่องปกติที่ไม่น่าอาย แต่คือการดูแลตัวเองและมีเพศสัมพันธ์อย่างรับผิดชอบ
ขณะเดียวกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเอดส์และเชื้อเอชไอวี ยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข จากรายงานโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ในปี 2563 พบว่ามีผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกสะสม 37.7 ล้านคน เป็นรายใหม่ 1.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 680,000 คน
ไทยป่วยโรคเอดส์ปีละเกือบ 6,000 ราย
สำหรับประเทศไทย ในปี 2564 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ 490,000 คน
- ผู้ป่วยโรคเอดส์รายใหม่ 5,800 คน
- ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เสียชีวิต 11,200 คน
ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา ภายใต้ ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา “กฤษสยาม อารยวงค์ไชย” ผู้อำนวยการมูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศไทย กล่าวภายในกิจกรรมเนื่องในวันถุงยางอนามัยสากล ประจำปี 2566 ภายใต้ชื่องาน เทศกาลรักไม่ใช่เล่น ๆ : Always in Fashion เพื่อส่งเสริมเยาวชนเปิดมุมมองใหม่ให้กับถุงยางอนามัย ลดอคติ เสริมสร้างสุขภาพรัก สรรค์สร้างสังคมที่นำไปสู่การยุติเอชไอวีและเอดส์ โดยระบุว่า ปัจจุบัน การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเอชไอวีอาจจะไม่เข้มข้นเหมือนสมัยก่อน และหากมองในไทยโดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ช่วงหลังมีอัตราการติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้น
"หากมองย้อนกลับไปราว 10 ปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินแคมเปญ ‘ยืดอกพกถุง’ แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีแคมเปญอะไรที่ทำให้สังคมตระหนัก มองว่าตรงนี้ลดลงและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารให้เข้มข้นมากขึ้น หากจะยุติเอดส์จริงๆ"
เมื่อปีที่ผ่านมา AHF ได้ทำโปรเจกต์พิเศษในการโปรโมตการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระหว่าง ก.ย. – ธ.ค. 65 โดยร่วมกับ 6 โรงพยาบาล หาคนมาตรวจทางออนไลน์ในกลุ่มทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะ พบว่า ในบางเดือนโรงพยาบาลบางแห่งตรวจพบซิฟิลิส 100% ซึ่งสูงมาก
"และในปัจจุบันอัตราโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกทม.ก็พุ่งสูงมาสักระยะ เนื่องจากโซเชียลมีเดียแพร่หลายทำให้เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการมีเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วง หากเราไม่ได้สร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่อง เราจะปรับพฤติกรรมยาก"
ถุงยางอนามัย เครื่องมือป้องกันขั้นพื้นฐาน
ขณะเดียวกัน แม้ปัจจุบันจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการป้องกันเอชไอวี ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยิน ยาเพร็พ (PrEP) หรือ Pre-Exposure Prophylaxis ยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสโรค
กฤษสยาม มองว่า การเข้าถึงเครื่องมือป้องกันได้เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งสำคัญ คือ เราจะลืมไม่ได้ว่า ‘ถุงยางอนามัย’ เป็นเครื่องมือป้องกันขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญที่สุด เพราะราคาถูกที่สุด เข้าถึงได้ง่ายที่สุด และมีประสิทธิภาพสูง ป้องกันได้เกือบ 100% หากไม่มีข้อผิดพลาด และป้องกันการตั้งครรภ์ได้ รวมถึงเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ในขณะที่บางเครื่องมืออาจจะป้องกันเอชไอวี แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ หากเราไม่มีความเข้าใจในการใช้ที่ถูกต้อง
ปรับภาพลักษณ์ถุงยาง ให้เข้าถึงง่าย
ขณะเดียวกัน ถุงยางอนามัย แม้คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่หลายคนยังคงมีความรู้สึกเขินอายที่จะก้าวเข้าไปซื้อ “กฤษสยาม” มองว่าไม่ใช่แค่วัยรุ่น แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังรู้สึกเขินอาย เพราะมีทัศนคติบางอย่างที่ฝังอยู่ในความรู้สึกของคนว่า หากคุณไปซื้อถุงยางอนามัย คุณกำลังจะไปทำอะไรแน่ๆ และบวกกับภาพลักษณ์ของกล่องถุงยางอนามัย บางทีก็ฟ้องในตัวของมันเองว่าจะไปซื้อสิ่งนี้เพื่อไปทำสิ่งนี้
“การสื่อสารอาจจะต้องแก้หลายๆ มุม นอกจากสารและความถี่ที่ชัดขึ้น บางทีอาจจะต้องแก้ที่ภาพลักษณ์ของถุงยางอนามัยด้วย ให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา AHF ได้ชวนศิลปินชื่อดังหลายท่าน มาวาดภาพกล่องถุงยางอนามัย และแจกในกิจกรรมวันเอดส์โลก พบว่า มีผู้หญิงเดินเข้ามาขอโดยไม่รู้สึกเขินอาย เพราะเป็นภาพลักษณ์ใหม่ ดูไม่เหมือนกล่องถุงยางแต่เหมือนของเล่นหรือกล่องหมากฝรั่ง ดังนั้น หากปรับตรงนี้ได้จะช่วยได้มาก"
"อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก AHF เป็นแค่องค์กรเดียว จึงสามารถทำได้จำกัด หากบริษัทถุงยางอนามัยหันมามองตรงนี้ แล้วปรับแพกเกจถุงยางใหม่ นอกจากจะช่วยให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น น่าจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย”
มีเพศสัมพันธ์ บนความรับผิดชอบ
กฤษสยาม กล่าวทิ้งท้ายว่า การมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราต้องมีเพศสัมพันธ์อย่างรับผิดชอบ การที่เรากล้าที่จะลุกขึ้นมาป้องกันตัวเอง นั่นคือการที่เรามีความรับผิดชอบ ดังนั้น ขอให้รักตัวเองและรักคนอื่นด้วย อยากให้ทุกคนไม่ลืมว่าแม้เราจะมีเครื่องมือป้องกัน นวัตกรรมมากมายแค่ไหนในปัจจุบัน แต่เครื่องมือป้องกันพื้นฐาน เข้าถึงง่าย ปลอดภัยที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด และราคาย่อมเยาที่สุด ก็คือ ถุงยางอนามัย
พกถุงยาง ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
“พิพัฒนะพงษ์ ธีรากิจ” ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ฝากแนวคิด เนื่องในวันถุงยางอนามัยสากล ว่า เราเปลี่ยนความคิดคนอื่นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนความคิดตัวเองได้ หากเราไม่รักตัวเอง แล้วจะไปรักคนอื่นได้อย่างไร อย่าประมาทในการใช้ชีวิต ถุงยางอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ ควรใช้ และจำเป็นต้องใช้ เพราะแค่ในประเทศไทยมีคนติดโรคเอดส์ ติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จำนวนมาก นอกจากนี้ ควรระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้มาก และไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น ถุงยางเป็นสิ่งที่ไม่น่าอาย ควรเปลี่ยนทัศนคติให้มองว่าเป็นเรื่องที่ดี
ความรับผิดชอบ บันไดก้าวแรกของความรัก
ด้าน “แพรรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร” ร่วมแชร์มุมมองแนวคิดเกี่ยวกับถุงยางอนามัย โดยเชื่อว่าการป้องกันดีกว่าแก้ไขไม่ว่าจะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ การมีลูกก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เจอในสังคม ดังนั้น เราสามารถยุติทั้งสองปัญหาได้โดยการป้องกัน
"การพกถุงยางอนามัย เป็นความรับผิดชอบ เป็นบันไดก้าวแรกในการมีความรัก หากแค่บันไดก้าวแรกยังมีไม่ได้ ก็ไม่ต้องถามหาความรับผิดชอบใดๆ ที่มากกว่านี้ ไม่ต้องถามว่าท้องแล้วจะรับเป็นพ่อเด็กหรือไม่ ย้ำว่า ความรับผิดชอบ เป็นบันไดก้าวแรกของการแสดงความรัก"