พรีไบโอติก โพรไบโอติก และ บีซีจี เกี่ยวกันอย่างไร?
พรีไบโอติก โพรไบโอติก และ บีซีจี เกี่ยวกันอย่างไร? คำถามข้างต้นชวนฉงนอยู่บ้าง แต่ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพที่ทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้ทั้งสามเรื่องมาเกี่ยวกันได้อย่างดี
เพราะนักวิจัยสามารถคิดค้นการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร อย่างเช่น กากกาแฟ กากถั่วเหลือง ฟางข้าว และถั่วชิกพี เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารพรีไบโอติก
พบว่ามีประสิทธิภาพช่วยส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์โพรไบโอติกได้เป็นอย่างดี
อย่าเพิ่งงงกับทั้งสองไบโอติก ที่จริงหลายคนคงคุ้นๆ กับเรื่อง “พรีไบโอติก” กับ “โพรไบโอติก” จากสื่อโฆษณาขายอาหารเสริมหรืออาหารสุขภาพทั้งหลาย
เพราะทุกวันนี้อาหารเพื่อสุขภาพ (health foods) หรืออาหารฟังก์ชัน (functional food) กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีความสนใจในเรื่องของสุขภาพ และมีความเข้าใจในเรื่องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น
อาหารจึงไม่ใช่แค่สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ความต้องการบริโภคอาหารมีหลายเหตุผลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เพื่อความสวยงาม เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อโรค หรือเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เป็นต้น
อาหารฟังก์ชันหมายถึง อาหารหรือสารอาหารที่อยู่ในรูปธรรมชาติ หรือถูกแปรรูปเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้รับจากสารอาหารที่รับประทานกันในชีวิตประจำวัน
ข้อมูลส่วนใหญ่ของอาหารฟังก์ชันมักเป็นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ของอาหารกับภาวะของโรค หรือกล่าวถึงในแง่มุมที่ว่าเมื่อผู้บริโภคได้บริโภคอาหารฟังก์ชันแล้วจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างไร
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์โพร/พรีไบโอติก เป็นอาหารฟังก์ชันที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์กับร่างกายและยังมีชีวิตอยู่ในผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 106 Colony Forming Unit (CFU) ต่อ 1 กรัมอาหาร (ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.))
จุลินทรีย์โพรไบโอติกมีประโยชน์กับร่างกาย เนื่องจากมีกลไกในการสร้างสารต้านจุลินทรีย์ (antimicrobial substance) ที่ก่อโรค
จุลินทรีย์โพรไบโอติกเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าจุลินทรีย์ก่อโรค และสามารถสร้างสารเมแทบอไลต์ที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ
อย่างที่โฆษณากันบ่อยๆ ว่าช่วยรักษาสุขภาพระบบทางเดินอาหาร รักษาลำไส้แปรปรวน สร้างภูมิคุ้มกัน กำจัดแบคทีเรียก่อโรค ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “ผลิตภัณฑ์หมัก” คือผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากผลิตภัณฑ์หมักบางประเภทเท่านั้น ที่สามารถจะเรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก
นั่นคือ ผลิตภัณฑ์หมักเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี เพื่อให้วัตถุดิบเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ โดยอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์หรือเอนไซม์ของจุลินทรีย์ เช่น ไวน์ นมเปรี้ยว แหนม ซีอิ๊ว กิมจิ มิโสะ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์หมักไม่จำเป็นต้องผลิตจากจุลินทรีย์โพรไบโอติกเท่านั้น ในขณะที่ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกจำเป็นต้องมีจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีชีวิตไม่น้อยกว่า 106 CFU ต่อ 1 กรัมอาหารดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์หมักจึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเสมอไป
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์พรีไบโอติก หมายถึง สารอาหารที่ไม่ถูกย่อยสลายในระบบทางเดินอาหาร หรือไม่ถูกดูดซับในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น เพราะมีคุณสมบัติทนต่อสภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลง
อาหารเหล่านี้เช่น เส้นใยอาหาร โปรตีน ไขมัน โอลิโกแซกคาไรด์ และแป้งต้านทานการย่อย (resistance starch) เป็นต้น เป็นสารอาหารที่แบคทีเรียในลำไส้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสามารถเลือกใช้เพื่อเป็นสารอาหารในการเจริญเติบโตได้
พูดง่ายๆ ว่า สารพรีไบโอติกจะกลายเป็นอาหารที่ไปเลี้ยงโพรไบโอติกที่เป็นจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ในร่างกายของเรานั่นเอง
แหล่งของพรีไบโอติกพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ และพืชอาหารหลายชนิด เช่น รากชิคอรี หัวอาร์ทิโชก กระเทียม หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ธัญพืชต่างๆ ผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วยและแอปเปิล เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบได้จากผนังเซลล์ยีสต์และสาหร่ายทะเลบางชนิดอีกด้วย
นอกจากผลิตภัณฑ์โพร/พรีไบโอติกที่มีประสิทธิภาพช่วยส่งเสริมสุขภาพของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์ซินไบโอติก
ซึ่งหมายถึงการรวมจุลินทรีย์โพรไบโอติกกับสารพรีไบโอติกเข้าด้วยกัน เกิดผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันใหม่ที่มีประสิทธิภาพ กระตุ้นการเจริญของจุลินทรีย์ภายในทางเดินอาหารให้เหมาะสม ช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดี
การที่นักวิจัยสามารถคิดค้นการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารพรีไบโอติกได้ ก็เท่ากับเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่สนับสนุนส่งเสริมแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG) ได้อย่างดี
เพราะเป็นการเอาของที่เหลือทิ้งมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ นำไปสู่นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และมีมูลค่าสูง เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยทีเดียว.