สารพัดโรคจาก ‘ฝุ่น PM 2.5’ ส่งผลต่อสุขภาพทุกช่วงวัย
'ฝุ่น PM 2.5' เป็นฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กมากเกินกว่าที่ขนจมูกจะกรองฝุ่นชนิดนี้เอาไว้ได้ โดยฝุ่นชนิดนี้จะเดินทางผ่านทางเดินหายใจของทุกคน ผ่านจมูกเข้าไปยังคอ หลอดลม หลอดลมฝอย และถุงลมปอด แทรกซึมผ่านเข้าไปยังระบบหลอดเลือดได้
ในแต่ละวัน ค่าฝุ่น PM 2.5 มีแต่จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเจ้าฝุ่นจิ๋วดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฝุ่นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือ การระคายเคืองเท่านั้น แต่ยังนำพาของแถมซึ่งก็คือ สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนักชนิดต่าง ๆ เชื้อโรคระบบทางเดินหายใจทั้งไวรัสและแบคทีเรีย
แถมล่าสุด มีข่าวเรื่อง Bruce Willis เป็นโรคความจำเสื่อม Frontotemporal Dementia ซึ่งชื่ออาจจะไม่คุ้นหูกันเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินว่าโรคสมองเสื่อม คืออัลไซเมอร์ (Alzheimer) ว่ากันว่าฝุ่น PM 2.5 มีความเชื่อมโยงก่อให้เกิดโรคความจำเสื่อมได้
นพ.ชยานุชิต ชยางศุ แพทย์อายุรศาสตร์ประสาทวิทยา ประจำศูนย์โรคระบบสมอง โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายความรู้ในเรื่องของ ฝุ่น PM 2.5 กับโรคความจำเสื่อม ว่า ก่อนอื่นอยากให้รู้จักคำว่า Dementia ก่อน คำนี้แปลว่าสมองเสื่อม ซึ่งจริง ๆ แล้วโรคสมองเสื่อม มีหลายชนิด ที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ Alzheimer นั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทั่วไทย พบเกินค่ามาตรฐาน 12 จังหวัด เช็กเลย
วิธีป้องกัน ‘ฝุ่นพิษ’ PM 2.5 ไม่ให้เป็นมะเร็งปอด
"ฝุ่น PM 2.5" ฝุ่นจิ๋วจอมวายร้าย ส่งผลกระทบต่อร่างกายเพียบ
กทม.เอาจริง! "ปลัดขจิต" ลงนามกำชับหน่วยงานแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบ ปชช.
Frontotemporal Dementia (FTD) คืออะไร?
นพ.ชยานุชิต กล่าวต่อว่า สำหรับกรณี Bruce Willis นั้นก็เป็นโรคสมองเสื่อมอีกชนิดที่มีอาการแตกต่างไปจาก Alzheimer ชื่อเรียกจึงแตกต่างกัน โดย Frontotemporal Dementia จะพบได้ในคนอายุน้อยกว่า อายุเฉลี่ย 40-65 ปี มีอาการได้หลากหลายตั้งแต่บางคนจะมีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว อารมณ์เกรี้ยวกราด พูดคำหยาบ ด่าทอ โดยอาจจะเป็นจากนิสัยเดิมของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่เพิ่มความรุนแรงขึ้นหรือเปลี่ยนไปจากนิสัยเดิมไปเลยก็ได้ (Behavioral type FTD)
หรือบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา พูดไม่ได้ นึกคำพูดไม่ออก ไม่เข้าใจคำพูด มีปัญหาในการอ่าน เขียน (Language type FTD-primary progressive aphasia) ซึ่งจะแตกต่างจาก Alzheimer ที่มักจะพบในคนอายุ 65 ปีขึ้นไป อาการจะเด่นเรื่องความจำที่แย่ลงก่อน มักจะเป็นความจำที่พึ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่ความจำเก่า ๆ ก็จะยังคงอยู่ ปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม การใช้ภาษา มักจะไม่ได้เด่นในช่วงแรก แต่อาจจะเกิดขึ้นตามมา หลังจากมีปัญหาเรื่องความจำก่อนได้ถึง 5-10 ปี
โรคอย่าง FTD หรือ Alzheimer เป็นโรคที่เกิดจากการมีของเสียมากผิดปกติแล้วไปสะสมในเซลล์สมอง ส่งผลทำให้เกิดการเสื่อมของสมองเร็วกว่าคนทั่วไป ปัจจุบันเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับยีน (Gene) หรือสารพันธุกรรมที่ผิดปกติไป ซึ่งโรคกลุ่มนี้ในปัจจุบันยังป้องกันหรือรักษาให้หายขาดไม่ได้
แต่จริง ๆ แล้วยังมีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น เส้นเลือดสมองตีบ, เลือดออกในสมอง (ถ้าเกิดบริเวณที่มีผลกับความจำ), การขาดสารอาหารบางชนิด Thyroid, Vitamin B, หรือ ธาตุเหล็ก, การติดเชื้อโรคบางชนิดเช่น Syphilis หรือ HIV และที่สำคัญมาก ๆ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งพวกเรากำลังประสบปัญหากันอยู่ก็คือ ฝุ่น PM 2.5
ฝุ่นPM 2.5 สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้
หลายคนคงยังไม่ทราบว่า PM 2.5 ที่เรากำลังประสบปัญหากันอยู่ในทุกวันนี้ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมได้ มีการศึกษาที่ยืนยันว่า ฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งมลภาวะชนิดอื่นในอากาศมีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง โดยเมื่อร่างกายเราได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าไป จะไปกระตุ้นการอักเสบในร่างกายไปจนถึงการอักเสบของเซลล์สมอง ส่งผลให้การทำงานของเซลล์สมองผิดปกติไป เกิดการตกค้างของสารพิษภายในเซลล์จนส่งผลให้มีปัญหาถึงสมองเสื่อมได้
จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาจากงานวิจัยในหัวข้อ Long-term effects of PM 2.5 components on incident dementia in the Northeastern United States ซึ่งทำการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 7 ปี ในคนอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี จำนวน 2,000,000 คน ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มี PM 2.5 พบว่าเพิ่มโอกาสของการเกิด Dementia ถึง 16% ในทุก ๆ 10µg/m3 ของ PM 2.5 หน่วยนี้ก็คือหน่วยวัด PM 2.5 ในบ้านเราเช่นกัน ใช้หน่วยเดียวกัน บางวัน PM2.5 ขึ้นไปถึง 100µg/m3 อันนี้ก็ต้องลองจินตนาการกันเองว่าเซลล์สมองเราจะเจ็บป่วยไปขนาดไหน
เด็กพัฒนาสมองช้า ขณะที่ผู้สูงอายุ เสี่ยงโรคสมองเสื่อม
เรื่องที่น่าตกใจคือ ค่าเฉลี่ย ฝุ่น PM2.5 ในการศึกษาวิจัยชิ้นนี้อยู่แค่เพียง 8.8 µg/m3 ในบ้านเราก็มีเฉพาะบางเดือนที่ขึ้นไปถึง 100+ µg/m3 บางเดือนดี ๆ อาจจะแค่ 10-20µg/m3
"ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่ออยากให้ตระหนักถึงปัญหาของ PM 2.5 ที่ส่งผลมาถึงสมองได้ร้ายแรงอย่างที่คาดไม่ถึง คนส่วนใหญ่จะทราบแค่เพียงส่งผลกับทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ แต่จริง ๆ แล้วสมองก็บาดเจ็บไม่แพ้กัน ในเด็กเองก็มีการศึกษาพบว่าเด็กที่อยู่ในมลภาวะที่มี PM 2.5 ปริมาณสูง หรือเด็กในครรภ์มารดาก็ตาม ต่างมีปัญหาของการพัฒนาสมองทั้งในแง่ความจำ ความเฉลียวฉลาด ตลอดจนปัญหาด้านพฤติกรรมมากกว่ากลุ่มที่อยู่ใน PM 2.5 น้อยกว่า"
คำแนะนำในขณะนี้เฉพาะหน้าก็คงต้องป้องกันตัวเองกันก่อน ใส่หน้ากากป้องกัน PM 2.5 แล้วโหลด Application ช่วยการตรวจสอบค่าของ ฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละวัน ในแต่ละพื้นที่ หรือใช้เครื่องมือวัดที่อาจจะมีกันในบ้านโดยส่วนใหญ่แล้ว ทั้งหมดก็พอจะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาในระยะยาวซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่อาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วนต่อไป
ฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อสุขภาพเด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ด้าน พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children's Health Center) โรงพยาบาลนวเวช กล่าวว่าฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อเด็กอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว
โดยผลกระทบต่อสุขภาพระยะสั้น มีทั้งในแง่ความเจ็บป่วยได้ง่าย ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ไปจนถึงทำให้ระบบของร่างกายผิดปกติ ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการเรียน การนอน การเจริญเติบโตและการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กๆมากมายทีเดียว
- ระบบทางเดินหายใจ การนำพาเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจไม่ว่าจะเป็นไวรัส หรือ แบคทีเรียนั้น ทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อยขึ้น
- อาการภูมิแพ้ ในเด็กอาจเกิดได้ตั้งแต่อายุเฉลี่ย 2 ปีขึ้นไป
ภูมิแพ้อากาศ หรือ โพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เด็กมีอาการได้ตั้งแต่น้ำมูกใส ๆไหล หายใจครืดคราด คัดจมูก หายใจไม่สะดวก น้ำมูกไหลลงคอ จามบ่อย ๆ คันจมูกร่วมกับคันตา คันหู คันเพดานปาก ไอแห้งคันคอ ไอเสมหะ ไปจนถึงการนอนกรน
ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เด็กมักมีอาการคันตา ขยี้ตาหรือกระพริบตาบ่อย ๆ จากอาการระคายเคือง บางรายมีผื่นขึ้นรอบ ๆ ดวงตา แสบตา แพ้แสง ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เด็กมักมีอาการผื่นคัน แห้ง ลอกตามบริเวณข้อพับต่าง ๆ โดยเฉพาะแขนขา อาจมีลมพิษขึ้นเป็นๆหายๆ มีอาการเจ็บคันคล้ายๆมีแมลงกัดได้เช่นกัน
- โรคหอบหืด ในเด็กเล็กมักพบร่วมกับการติดเชื้อทางเดินหายใจ มักมีอาการไข้ร่วมกับหายใจเหนื่อยส่วนที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว อาจทำให้อาการกำเริบได้บ่อยครั้งและทำให้สมรรถภาพทางปอดลดลงได้
ผลกระทบต่อมารดาตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และการคลอดทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ไปจนถึง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ในทารก โดยเฉพาะอาการผื่นแพ้ผิวหนังในช่วงขวบปีแรก และส่งผลต่อการพัฒนาเซลล์สมองของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกคลอดเสี่ยงต่อพัฒนาการล่าช้า ก่อให้เกิดปัญหาด้านการพูดและอารมณ์ได้
ขณะที่ผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว นำพาสารก่อมะเร็ง สารโลหะหนักต่าง ๆ ซึ่งลดสมรรถภาพการทำงานและการฟื้นฟูของปอด รบกวนระบบเผาผลาญพลังงาน ลดสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงในคนอายุน้อย ก่อให้เกิดการอักเสบและความเสื่อมสภาพของร่างกายทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้ยาก จึงเกิดร่องรอยจากการบาดเจ็บหรือเซลล์เม็ดสีที่ผิวหนังได้มากขึ้น (การตรวจสมรรถภาพปอดเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 5 ปีขั้นไป)
เช็กอาการระหว่าง โรคภูมิแพ้ กับฝุ่น PM 2.5
การแยกอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ จากอาการระคายเคืองจากฝุ่น PM 2.5 นั้นอาจทำได้ยาก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอาการจาก ฝุ่น PM 2.5 นั้น ส่งผลต่อหลาย ๆ ระบบในร่างกายได้มากกว่า จึงมีทั้งความเสื่อมสภาพความอ่อนเพลียร่วมด้วย
ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ สามารถทำได้โดย วิธีการเจาะเลือดตรวจ (Specific IgE Blood testing) และ การสะกิดผิวหนังตรวจ (Skin prick test) ซึ่งมีประโยชน์ใน การรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาดได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น คือ การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ Immunotherapy นั่นเอง
ป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้ห่างไกลจากลูก
การป้องกันฝุ่น PM2.5 ต้องดำเนินการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ในระยะสั้น พ่อแม่สามารถดูแลลูกได้ดังนี้
1. การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี หน้ากาก N95 คือหน้ากากที่ดีที่สุดในการป้องกันฝุ่น แนะนำให้เริ่มใส่หน้ากากอนามัยในเด็กเล็ก ได้ตั้งแต่อายุ 1-2 ปี ซึ่งอาจใช้เป็นหน้ากากอนามัยแผ่นกรอง 3 ชั้นแทนได้
2. ตรวจสอบค่าดัชนีคุณภาพในอากาศ (ค่า AQI- Air quality Index) เป็นประจำ
3. การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในอาคาร หรือการใช้เครื่องฟอกอากาศชนิดพกพานั้น สามารถลดปริมาณฝุ่นก่อนเข้าทางเดินหายใจได้
4. Spray พ่นจมูกชนิดผง ใช้พ่นเข้าในโพรงจมูกโดยตรง เพื่อดักจับ สารก่อภูมิแพ้ เชื้อไวรัส รวมถึง ฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่เยื่อบุโพรงจมูกได้
ขณะที่แบบระยะยาว
1. ช่วยกันลดกระบวนการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์
2. ช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ทำงาน หรือ สิ่งแวดล้อมรอบตัว
3. หมั่นตรวจสภาพอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงสภาพรถยนต์ เพื่อลดการเผาไหม้จนเกิดมลภาวะทางอากาศ
สัญญาณเตือนลูกมีอาการฝุ่นPM2.5 ต้องรีบพบแพทย์
หากลูกมีอาการดังต่อไปนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรีบพามาพบแพทย์โดยด่วน
- เจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจบ่อยมากขึ้น หายได้ยาก
- มีอาการหอบเหนื่อย ร่วมกับการเป็นไข้ไม่สบายทุกครั้ง
- เด็กทำกิจวัตรประจำวันได้ลดลง บ่นเหนื่อย อ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิด
- อาการภูมิแพ้กำเริบบ่อยครั้ง จนต้องใช้ยาควบคุมอาการที่มากขึ้น
สุดท้ายนี้การดูแลสุขภาพของตนเอง เพิ่มความแข็งแรงของสภาพร่างกายของเราโดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารกลุ่มสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้ ที่มีวิตามิน บี ซี อี ธัญพืชที่มี omega และ fish oil การดื่มน้ำสะอาดปริมาณอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการพักผ่อนให้เพียงพอย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และใกล้ตัวที่สุดในการป้องกันภัยเงียบตัวจิ๋ว ฝุ่น PM 2.5
เมื่อค่าฝุ่นPM 2.5 สูง พบผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
ผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 นอกจากเรื่องของสภาวะมลพิษทางอากาศ และปัญหาสุขภาพทั้งทางด้านสมอง ระบบต่างๆ ของร่างกายทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุแล้ว ยังก่อให้เกิดโรคหัวใจร่วมด้วย
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เปิดเผยว่า ฝุ่น PM 2.5 นับเป็นสารอนุมูลอิสระ (Free Radical) เช่นเดียวกับบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าที่สามารถก่อให้เกิดโรคเรื้อรังได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคทางปอด ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณที่ได้รับอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยฝุ่น PM 2.5 จะเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด จนเกิดเป็นลิ่มเลือด หากได้รับในปริมาณสูง ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน
ผลกระทบจาก PM 2.5 นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 อาการ ได้แก่ อาการหลอดเลือดเสื่อมสภาพ หนาตัวขึ้น และอาการกล้ามเนื้อหดตัวแข็งขึ้น ยืดหยุ่นน้อยลง ส่งผลต่อเกร็ดเลือดทำให้เกิดการสลายลิ่มเลือดยากขึ้น และเกร็ดเลือดเกาะกลุ่มได้ง่ายขึ้น เมื่อปัจจัยทั้งสองเกิดขึ้นก็จะมีโอกาสทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบตันได้
กลุ่มเสี่ยง ระวังผลข้างเคียงจากฝุ่นPM2.5
นพ.ชาติทนง กล่าวต่ออีกว่า ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากฝุ่น PM 2.5 นั้นไม่เกี่ยวกับอายุ แต่เกี่ยวข้องกับปริมาณที่ร่างกายได้รับ จนเกิดการสะสมขึ้นในร่างกาย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด เบาหวาน และ ความดัน ก็ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่น เนื่องจากมีความอ่อนไหวสูง อีกทั้งขณะนี้แพทย์ทั่วโลกกำลังเตือนภัย และยกระดับความเสี่ยงของ PM 2.5 ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ เทียบเท่ากับบุหรี่ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือกระตุ้นโรคประจำตัวได้อีกด้วย
"คนที่สุขภาพดีก็ต้องดูแลป้องกันตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะหากสูดฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในปริมาณสูงก็จะส่งผลต่อหลอดเลือดได้ ล่าสุด หน่วยงานด้านเวชศาสตร์การกีฬาได้ออกมาเตือนภัยแล้วว่า ถึงแม้จะเป็นนักกีฬาที่ร่างกายแข็งแรง หากได้รับฝุ่น PM 2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมขึ้นไป ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ ดังนั้น ทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัยขณะออกกำลังกาย หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง" นพ.ชาติทนง กล่าว
สัญญาณเตือนแบบพิษฉับพลันของ PM 2.5 ได้แก่ อาการวิงเวียนศรีษะ หน้ามืด คลื่นไส้ เลือดกำเดาออก ขณะที่การก่อโรคเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ จะเป็นลักษณะของการสะสมโรค จึงมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก การตรวจสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะสุขภาพของหัวใจ
ตรวจเช็กการทำงานของหัวใจ
ปัจจุบันมีหลากหลายเทคโนโลยีที่แม่นยำ อาทิ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจโดยการวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test) การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram) หรือการตรวจวัดระดับแคลเซียมบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Coronary Calcium Score)
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม การทำงานของไต ระดับไขมันคอเลสเตอรอล ระดับไขมันความหนาแน่นสูง-ต่ำ และระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ทำให้เราทราบถึงความเสี่ยง และแนวโน้มที่อาจจะทำให้เกิดโรคหัวใจในอนาคตและควรตรวจเช็กหัวใจกับแพทย์เป็นประจำทุกปี