สุขภาพของประชาชนกับเศรษฐกิจ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ก่อนหน้านี้ ผมกล่าวถึงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal healthcare) ของไทยที่ได้รับคำชื่นชมมาโดยตลอด ว่ายังต้องมีการปรับปรุงและปรับโครงสร้างเพื่อให้ดียิ่งขึ้นและให้มีความยั่งยืน
เพราะเกรงว่าภาระสำหรับรัฐบาลจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชากรของไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว
หากหันมาพิจารณาว่ามนุษย์ต้องการอะไรมากที่สุด ก็สามารถตอบได้ว่า ทุกคนต้องการให้ตัวเองมีสุขภาพสมบูรณ์และแข็งแรงเป็นเรื่องแรก ตามมาด้วยการมีงานทำที่ดี
เพราะการมีงานทำที่มีคุณค่าและให้ผลตอบแทนสูงนั้นเป็นมากกว่าการเลี้ยงชีพของตัวเองและครอบครัว กล่าวคือ มักจะหมายถึงการเป็นตัวตนของเราในสังคม
ตัวอย่างเช่น เมื่อบังเอิญพบกับคนเคยรู้จัก แต่ไม่ได้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เรามักจะถามไถ่กันว่า “ตอนนี้ทำอะไรอยู่?” ซึ่งหมายความว่าตอนนี้มีอาชีพอะไร ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเป็นมนุษย์เงินเดือน
โดยอาจตอบว่าตอนนี้ยังรับราชการเป็น ผอ.ที่กอง...หรือเป็นหัวหน้าฝ่ายที่บริษัท...เป็นต้น คนส่วนน้อยที่มีความสามารถสูงก็จะบอกว่าบริษัทของตน ยอดขายเพิ่มขึ้นดีใช้ได้ จึงกำลังลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกิจการของตน ไปขายสินค้าในต่างประเทศ เป็นต้น
ผมสรุปว่าในเชิงพื้นฐานนั้น คนเราต้องการเพียง 2 อย่างคือ สุขภาพดีและอาชีพดี แต่ประเด็นคือสุขภาพดีจะต้องมาก่อน เพราะหากสุขภาพย่ำแย่ อย่างอื่นๆ จะตามมาไม่ได้
ดังนั้น การที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่รุนแรงและต่อเนื่องมาเป็นเดือนๆ แล้วและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นไปอีก จึงเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต (existential risk) อย่างแท้จริง และหากแก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้ สุขภาพและความเป็นอยู่ของคนไทยก็จะต้องตกต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การมีปัญหามลพิษจนประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 นั้น หากเกิดขึ้นเป็นประจำจนรู้ทั่วกัน ก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง คนที่มีความสามารถไม่ยอมมีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย
และไทยก็ไม่สามารถชักชวนให้บริษัทต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและศักยภาพให้มาลงทุนทำกิจการในประเทศไทยได้ กล่าวคือ ประเทศไทยจะไม่สามารถสร้างรายได้ หรือก่อกำเนิดบริษัทดีๆ เพื่อขับเคลื่อนจีดีพีได้
ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงงานสัมมนาของฐานเศรษฐกิจที่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไปร่วมและได้พูดคุยถึงปัญหา PM2.5 ใน กทม.ว่ามาจาก 1.การขนส่ง 50-60% ได้แก่ รถและรถปิกอัพ 40-55% รถบรรทุก 20-35% และจักรยานยนต์ 5-10% 2.ภาคอุตสาหกรรม 10-20%3.การเผาชีวมวล 10-20%
แต่สำหรับจังหวัดอื่นๆ นั้น สัดส่วนจะแตกต่างกันออกไป (แต่ความรุนแรงของปัญหาไม่แพ้กัน) เพราะจังหวัดอื่นๆ เช่นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ น่าจะมีสัดส่วนจากการเผาชีวมวลสูงกว่า กทม.มาก เป็นต้น
นอกจากนั้นก็ทราบกันดีว่า เป็นปัญหาของภูมิภาคเพราะมีการเผาชีวมวลในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกว้างขวางอีกด้วย
ดังนั้น การแก้ปัญหามลภาวะจึงจะเป็นปัญหาที่ต้องมีนโยบายและมาตรการที่ครอบคลุมในหลายมิติ เช่น การลดการเผาชีวมวลในภาคการเกษตร จะต้องทำไม่เพียงแต่ในประเทศไทย
แต่กระทรวงการต่างประเทศของไทยน่าจะต้องทำโครงการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในการลดการเผาชีวมวลอย่างแข็งขัน ไม่แพ้กันกับมาตรการในประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น การลดการเผาอ้อยนั้น ส่วนหนึ่งลดได้จากการจัดสรรให้เกษตรกรใช้รถตัดอ้อยชนิดพิเศษที่มีราคา 15-20 ล้านบาทต่อคัน แทนการเผาอ้อยก่อน แล้วจึงใช้แรงงานเข้าไปตัดได้โดยง่าย
ตรงนี้ หากทำในประเทศไทยแล้ว ไทยก็น่าจะต้องเป็น “เจ้าภาพ” ในการช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านใช้เครื่องจักรนี้ทดแทนแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน
การเผาชีวมวลนั้น จะมีต้นเหตุอื่นๆ อีก เช่น การเผาซางข้าวเพื่อฆ่าเชื้อโรค และ/หรือทำให้ดินมีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งการจะเปลี่ยนพฤติกรรมที่คุ้นเคยกันมานานนั้นย่อมทำได้ยาก และจะต้องลงทุนใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจริง มาทดแทนพฤติกรรมดังกล่าวอย่างจริงจัง
สิ่งที่ผมกล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย และคงต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก (ตลอดจนฝีมือและความร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเกษตร/อุตสาหกรรมและนโยบายต่างประเทศที่มีวิสัยทัศน์) แต่ผลตอบแทนต่อสุขภาพคนไทยและเศรษฐกิจไทยก็มหาศาลและชัดเจนเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ก่อนโควิด-19 ระบาด เราพูดกันจนติดปากว่าประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคนและมีรายได้ 2 ล้านล้านบาทหรือประมาณ 50,000 บาทต่อคนต่อครั้ง
โดยสถิติจาก statistica ประเมินว่านักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเฉลี่ยครั้งละประมาณ 10-18 วัน (นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกมาอยู่เฉลี่ยน 9.61 วัน จากตะวันออกกลางและยุโรปเฉลี่ย 17.5 วัน เป็นต้น)
ประเด็นคือ หากประเทศไทยถูกตำหนิว่า คุณภาพอากาศไม่ดีแล้ว นักท่องเที่ยวก็คงจะลดจำนวนวันที่จะมาเที่ยวประเทศไทย (หรืออาจไม่มาเลย)
ซึ่งจะทำให้การคาดหวังว่าประเทศไทยจะกลับมามีรายได้ 2 ล้านล้านบาทอีกครั้งยิ่งเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น หากสมมติว่านักท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ประเทศไทย 14 วัน ก็แปลว่านักท่องเที่ยวใช้จ่ายเพียง 3,571 บาทต่อคนต่อวัน
การพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยนั้น วัตถุประสงค์หลักน่าจะเป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ฐานะดี มาใช้เงินวันละ 6,000-8,000 บาทต่อคน ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวเกรดเอดังกล่าวนั้นคงจะให้น้ำหนักกับเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยอย่างมากอย่างแน่นอน
นอกจากนั้น ประเทศไทยย่อมจะไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ หรือ Healthcare (medical) Hub ได้เลยหากดัชนีคุณภาพอากาศของไทยยังเป็นสีส้มและสีแดงทุกๆ วันในช่วงฤดูการท่องเที่ยวทุกๆ ปี
ดังนั้น เรื่องของสุขภาพจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งสำหรับเศรษฐกิจไทยครับ