ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่ พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่  พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

ทุกวันที่ 14 เมษายนของทุกปี 'วันครอบครัว' ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาวที่เป็นการรวมครอบครัว รวมญาติ เพื่อรดน้ำดำหัว ขอพร ผู้เฒ่าผู้แก่ เสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่น เป็นสุขของครอบครัว ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา

Keypoint:

  • 'ครอบครัว'พลังสำคัญของเด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ ยิ่งเด็กพิเศษ เด็กออทิสติก พ่อแม่ คนในครอบครัวมีความสำคัญต่อพวกเขาอย่างมาก
  • การเลี้ยงดูเด็กพิเศษ เลี้ยงเหมือนเด็กปกติ เพียงแต่ต้องให้ความรักความเอาใจใส่ และเข้าใจเขามากเป็นพิเศษ อย่านำความคาดหวังของพ่อแม่ไปใส่ในตัวลูก
  • ปัจจุบันเด็กออทิสติก มีความสามารถหาได้รับการเติมเต็มส่งเสริมอย่างเข้าใจ เขาสามารถมีงานทำ เลี้ยงดูตัวเอง ใช้ชีวิตในสังคมได้

'ครอบครัว' เป็นสถาบันทางสังคมที่เล็กแต่เป็นรากฐานของระบบสังคมที่จะหล่อหลอมให้เด็กเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง สังคมก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีครอบครัวประมาณ 28.18 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีทั้งครอบครัวขนาดเล็กพ่อแม่ลูก ครอบครัวแหว่งกลาง หรือคนรุ่นลูกอยู่กับปู่ยาตายาย ครอบครัวแม่/พ่อเลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวขยาย

ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่  พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

ด้วยครอบครัวมีบทบาทสำคัญอย่างมาก และแต่ละครอบครัวย่อมมีหลักในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่ ครอบครัวต้องดูแลเลี้ยงดูเด็กออทิสติก ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน เพราะพลังครอบครัว คือ พลังที่จะผลักดันให้เด็กออทิสติกประสบความสำเร็จ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

รู้หรือไม่? 10% เด็กออทิสติกเป็นอัจฉริยะ เข้าใจยอมรับอยู่ร่วมอย่างยั่งยืน

'วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก' เลี้ยงลูกอย่างไร? เมื่อเป็นเด็กออ

เมื่อลูก 'ออทิสติก' เข้าสู่วัยรุ่น ก้าวร้าว ฉุนเฉียว พ่อแม่รับมืออย่างไร

 

“เด็กพิเศษ”ของขวัญชิ้นพิเศษของพ่อแม่

 มูลนิธิออทิสติกไทย ได้ระบุว่ามีผู้เป็นออทิสติกกว่า 3 แสนคน หรือทุกๆ 1,000 คน พบผู้ป่วยออทิสติก 6 คนแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงขึ้นกลุ่มอายุไม่เกิน 5 ปีพบ 1 : 161 คน คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 18,220 คน 10% ของจำนวนที่พบมีความเป็นอัจฉริยะด้านวาดภาพหรือเล่นดนตรี

'ครอบครัวพุกะทรัพย์' อีกหนึ่งครอบครัวที่ได้มีการดูแล เลี้ยงดู 'อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ ' หนุ่มน้อยวัย 17 ปี ที่เป็นเด็กพิเศษ (ออทิสติก) มีความบกพร่องในการสื่อสาร ซึ่งหากดูลักษณะภายนอกนั้นคงไม่สามารถบอกได้ว่าน้องเป็นเด็กพิเศษ

เช่นเดียวกับ 'แม่กบ- โสภี ฉวีวรรณ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO บริษัท ชมฉวีวรรณ จำกัด หรือ ชมพีอาร์ ที่พึ่งมาทราบว่าลูกของตนเองเป็นเด็กพิเศษ เมื่อลูกกำลังจะเข้าสู่อนุบาล 2 เนื่องจากลูกมีการพูดที่ช้า ซึ่งตอนแรกคุณแม่กบ เข้าใจว่าน้องอเล็ก จะเหมือนพี่ชายที่กว่าจะพูดก็อายุ 2 ขวบกว่าแล้ว

ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่  พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

แม่กบ เล่าว่าได้พา อเล็กไปพบแพทย์ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และได้เข้าทำการทดสอบหลายอย่าง สรุปว่า น้องเป็นเด็กพิเศษออทิสติกที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร จะพูดสลับคำ และไม่สามารถพูดเชื่อมโยงได้ โดยต้องพบแพทย์ทุกอาทิตย์ ทุกเดือนต้องเข้าประเมิน เข้าคอร์สฝึกพูด การเข้าสังคม เพราะเด็กพิเศษจะขาดทักษะการเข้าสังคม

“แม่เปรียบลูกเป็นเหมือนของขวัญ ซึ่งตอนนี้แม่มีของขวัญทั้งหมด 3 ชิ้น มีพี่อิ่ม ลูกชายคนโต อายุ 27 ปี คนที่ 2 น้องอเล็ก อายุ 17 ปี และคนสุดท้องน้องเอิน อายุ 14 ปี โดยน้องอเล็กเป็นเด็กพิเศษแม่มองว่าน้องเป็นของขวัญชิ้นพิเศษ ซึ่งการเลี้ยงดูลูกๆ นั้นจะเลี้ยงเหมือนกันทั้งหมด 3 คน แต่อเล็กจะมีความพิเศษ เพราะเขาจะมีบางทักษะที่ขาดหายไป เราก็จะเพิ่มเติมทักษะเหล่านั้นให้แก่เขา” แม่กบ เล่า

 

รัก ใจใส่ เข้าใจ เติมพลังเด็กออทิสติก

การเลี้ยงดูเด็กพิเศษสิ่งที่พ่อแม่ต้องมี คือ ความรัก ความเอาใจใส่ และต้องเข้าใจพวกเขา อย่าไปคาดหวังให้เขาเป็นอย่างที่พ่อแม่อยากให้เป็น ซึ่งเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่อให้เป็นเด็กออทิสติก หรือเด็กปกติ

แม่กบ เล่าด้วยว่าโชคดีที่อเล็ก มีนิสัยดี มีความใสๆ อดทนเรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว ไม่ทะเลาะกับใคร และโชคดีที่มีน้องเอิน ซึ่งเป็นบัดดี้ให้แก่อเล็ก ทั้งตอนเรียน หรือปัจจุบันนี้ น้องเอินจะคอยช่วยเหลืออเล็กตลอดโดยที่น้องเอินเองก็ไม่ได้มองว่าเป็นภาระแต่เขาอยากทำให้พี่ชายจริงๆ

ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่  พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

ครอบครัวของเราจะพูดคุยสื่อสารกันตลอด และการเลี้ยงดูลูกทั้ง 3 คน จะเลี้ยงเหมือนกันหมด แต่อาจจะดูแลอเล็กเป็นพิเศษ เช่น พาอเล็กไปเรียนร้องเพลงเพื่อฝึกการใช้ภาษา และเรียนรู้การเข้าสังคม น้องเอินก็จะไปเรียนด้วย ซึ่งตอนนั้นน้องเอินไม่อยากเรียนร้องเพลง แต่อยากเรียนเปียโน เลยให้ทั้งคู่เรียนทั้ง 2 อย่างไปพร้อมๆ กัน พบว่า อเล็กสามารถเรียนเปียโนได้ดีมาก จนครูบอกว่าอเล็กสามารถเป็นครูสอนเปียโนได้

 “ด้วยความที่เราอยากให้ลูกมีอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงดูตัวเองได้ในวันที่ไม่มีพ่อแม่ หรือไม่มีใครๆ เราก็พยายามผลักดันให้อเล็กเรียนเปียโน ฝึกฝนเปียโน และตอนนั้นความคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่ก็ได้ไปใส่กับลูก ส่วนน้องเอิน เราก็ปูทางเพื่อให้เป็นศิลปิน แต่กลายเป็นเราไปกดดันลูก จนอเล็กบอกเราว่าเขากดดัน เขาเครียด เราก็ได้มาพูดคุยกับลูก และเลิกกดดันเขา”แม่กบ เล่า

ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่  พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

จากเด็กพิเศษ สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

ความอบอุ่น ความใส่ใจ ความรักในครอบครัว เป็นแรงผลักดันให้ 'อเล็ก' เป็นลูกคนเดียวที่กล้าแสดงออกทางความรักอย่างไม่อาย เขามักจะถามทุกคนด้วยความห่วงใย  ทุกๆคืน แม่กบต้องเล่านิทานให้ลูกฟัง แต่ด้วยภาระงานที่มากทำให้กลับบ้านดึก น้องเอินจึงให้อเล็กเล่านิทานให้ฟัง และนิทานที่พี่อเล็กเล่าแตกต่างจากนิทานรูปแบบเดิมๆ พี่อเล็กจะใส่จินตนาการ เล่าด้วยเสียงประกอบ เล่าอย่างสนุกสนาน และนั่นคือจุดเริ่มต้นให้อเล็กเข้าสู่การเป็นนักเขียน

แม่กบ เล่าอีกว่าตอนนั้นอเล็กอยู่ม.2 น้องเอินได้อ่านหนังสือ อ่านการ์ตูนผ่านเว็บไซต์ จึงได้ชวนให้อเล็กลองแต่งนิยาย เพื่อนำไปลงในเว็บดังกล่าว ซึ่งอเล็กได้ลองแต่ง โดยมีน้องเอินเป็นรีไรท์เตอร์ จนกองบรรณาธิการได้บรรจุให้อเล็ก เป็นนักเขียน และจะได้ค่าเขียนเรื่อง ซึ่งตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ 'แม่กบ'รู้ว่าอเล็กแต่งนิยาย เป็นนักเขียน เพราะต้องพาอเล็กไปเปิดบัญชีธนาคารตามที่ทางเว็บไซต์กำหนด โดยผลงานเรื่องแรกของอเล็ก คือ Paper Heart (หัวใจกระดาษ)

 “การที่แม่สนับสนุนให้น้องได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กพิเศษ หรือคนที่กำลังท้อแท้ ว่าหากมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงจะสามารถพัฒนาได้ อเล็กยังพัฒนาได้ และอยากให้อเล็กเป็นตัวอย่างของเด็กพิเศษทุกคนว่าพวกเขาทำได้” แม่กบ เล่า

จุดหนึ่งที่ทำให้ 'อเล็ก' ไม่เคยอายที่ตัวเองเป็นเด็กพิเศษ หรือเด็กพิการ เพราะแม่กบ บอกน้องเสมอว่า น้องเป็นเด็กพิเศษ เป็นเด็กพิการ น้องไม่ต้องอาย น้องเพียงเรียนรู้ช้ากว่าคนอื่น และมีเซลล์ที่ไม่เหมือนคนอื่น แม่กบบอกความจริงกับน้องทุกเรื่อง

ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่  พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

“พ่อแม่ต้องยอมรับความจริง ว่าลูกเราเป็นอย่างไร อย่านั่งวนกับความเสียใจ โทษเวรกรรมที่ลูกเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เราต้องให้ความรัก ความเอาใจใส่ รับฟัง สนับสนุน ดูแลเขาอย่างเต็มที่ พี่อาจจะโชคดีที่อเล็กมีความพิเศษเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ว่าจะเป็นน้อยหรือมากก็คือลูกเรา และเราก็ต้องหาหนทางพัฒนาเขา เพราะนั่นเป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ทุกตนต้องทำ ใช้เวลากับลูกและครอบครัว"แม่กบ กล่าว

ออทิสติกไทยมีงานทำ

ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคคลออทิสติกลงทะเบียนขอมีประจำตัวคนพิการ จำนวนเพียง 20,000 คน จากผู้เป็นออทิสติกกว่า 3 แสนคน หรือทุกๆ 1,000 คน พบผู้ป่วยออทิสติก 6 คน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อมูลว่า การทำบัตรคนพิการ สิทธิ สวัสดิการ และการรับบริการต่างๆ จากภาครัฐ รวมถึงระบบการออกเอกสารใบรับรองความพิการด้านออทิสติกมีข้อจำกัดให้การเข้าถึงสิทธิยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะด้านการมีงานทำ-การอยู่ร่วมกันในสังคมของเด็กออทิสติก บุคคลที่เป็นออทิสติก มีไม่ถึง 200 คน ที่มีงานทำและมีรายได้เลี้ยงดูตนเอง

ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่  พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

โดย มูลนิธิออทิสติกไทย ได้ส่งเสริมเด็กพิเศษที่มีความสามารถทางด้านศิลปะผ่าน “ART STORY”ธุรกิจเชิงสังคมของกลุ่มเด็กและบุคคลออทิสติก อย่างเช่น

เกมส์-สัณฑกร ชาติพาณิชย์ อายุ 26 ปี กำลังศึกษาชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ศิลปินออทิสติก ที่มีผลงานศิลปะ“สกรีนลายเส้น” ลดความสมจริงลง แล้วใส่จินตนาการ ใส่ความเป็นเด็กเข้าไป เพื่อให้ดูน่ารัก วาดภาพต้นไม้ ภาพสัตว์ ซึ่งเป็นธรรมชาติอยู่คู่กับมนุษย์ อยากจะอนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่โลกต่อไป มีทั้งที่ทำกับ Artstory เช่น เสื้อยืดและหมวกลายหมี, ผลงานที่คอลแล็บส์กับ DHL ที่นำไปทำเป็นกระเป๋าเป้ แก้วน้ำ เป็นต้น

ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่  พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ อายุ 17 ปี กำลังศึกษาชั้น ม.5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เขียนนิยาย เรื่อง Paper Heart (หัวใจกระดาษ) นิยายแชตรูปแบบใหม่บนแอพพลิเคชั่น Joylada “จอยลดา”ล่าสุด การจัดแสดงผลงานภายใต้ชื่องาน โลกของอเล็ก Creator ดิจิทัลอาร์ต ระหว่างวันที่ 12-14 มกราคม 2566 ณ ศูนย์การค้าแอมพาร์คที่ผ่านมา

โดยได้นำผลงาน 19 ภาพ จำหน่ายในตลาด NFT ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีได้ มีผู้สนใจซื้อผลงานของอเล็กไปแล้ว 3 ภาพ และยังประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้เอง โดยเทียบกับตัวอักษรภาษาอังกฤษอีกด้วย

ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่  พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

 แอปเปิ้ล-วิมลเรชา โสมภีร์ อายุ 26 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บริหารธุรกิจบัณฑิต (ระบบสารสนเทศ) เคยได้รับรางวัลสตรีพิการดีเด่น ประเภทออทิสติก ปี 2565 เป็นตัวแทนสภาเยาวชนรุ่นที่ 1 ผลงานจะเป็นศิลปะสีน้ำ เช่น การทำการ์ดภาพวาดสีนี้ ให้กับคาเฟ่ อเมซอน, ออกแบบลายแก้วให้โยเกิร์ตดัชชี่, ออกแบบการ์ดให้กับมิลเลนเนียม ออโต้ เป็นต้น

เคล็ด(ไม่ลับ) เลี้ยงลูกเมื่อเป็นออทิสติก

โรคออทิสติก(autistic disorder) เป็นความผิดปกติทางจิตเวชเด็กด้านพัฒนาการกลุ่มเด็กออทิสติกจะมีพัฒนาการล่าช้า  ไม่ว่าจะเป็น ด้านภาษาเพื่อสื่อสารทางสังคม และ ด้านพฤติกรรม ซึ่งพ่อแม่ สามารถสังเกตอาการที่สงสัยว่าลูกจะเป็นออทิสติกจาก

  • พัฒนาการด้านการสื่อสารพูดช้า พูดภาษาแปลก ๆ บอกความต้องการโดยการชี้นิ้ว ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้
  • พัฒนาการด้านการเข้าสังคม ไม่สบตาเวลาพูด ดูเฉยเมยไร้อารมณ์ ปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ลำบาก  
  • พัฒนาการด้านการเล่น เล่นซ้ำ ๆ มองซ้ำ ๆ สนใจในรายละเอียดมากเกินไป ชอบเล่นตามลำพัง ไม่สนใจการเล่นกับเพื่อน
  • พฤติกรรมอื่นๆ เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่งหรือขาดสมาธิ ร้องกรี้ดเสียงสูง โขกศีรษะ เป็นต้น

ครอบครัวเติมความรัก เอาใจใส่  พลังเด็กออทิสติก สู่ศิลปินดิจิทัลอาร์ท

วิธีการรักษาโรคออทิสติก  ส่วนใหญ่จะใช้การ กระตุ้นพัฒนาการเป็นการรักษาที่มีความสำคัญที่สุดในโรคออทิสติก การปรับพฤติกรรม เพื่อลดพฤติกรรมอันตราย การสื่อสารเพื่อปรับพฤติกรรม และการใช้ยา ช่วยในการควบคุมสารเคมีในสมองให้มีความสมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน