เช็กลิสต์ 'อาหารดับร้อน' ตามศาสตร์แพทย์แผนไทยประยุกต์ และแพทย์แผนจีน
อากาศที่ร้อนจัด อาจส่งผลต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น โรคลมแดด (Heat Stroke) ภาวะเครียดวิตกกังวล และอาการต่างๆ ตามมา ทั้งนี้ ในศาสตร์แพทย์แผนไทยประยุกต์ และ แพทย์แผนจีน แนะนำอาหารดับร้อน ที่สามารถหาทานได้ง่ายในชีวิตประจำวัน
Key Point :
- อากาศที่ร้อนจัดกว่า 40 องศาในช่วงนี้ ความร้อนที่สะสมภายในร่างกายอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นฮีทสโตรก หรือ อาการต่างๆ ทั้งความเครียดและระบบทางเดินอาหาร
- ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้ แพทย์จีนแนะว่าไม่ควรทานอาหารเย็นๆ เช่น น้ำเย็น น้ำแข็ง หรือไอศกรีม แต่สามารถทานอาหารคลายร้อนที่ไม่เพียงช่วยขจัดไฟ ลดความร้อนในร่างกาย แต่ยังดีต่อสุขภาพด้วย
- ในศาสตร์แพทย์แผนไทยประยุกต์ และ แพทย์แผนจีน มีคำแนะนำในการเลือกทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยในการลดความร้อนในร่างกายได้
หน้าร้อน ที่อุณภูมิของประเทศไทยสูงขึ้นกว่า 40 องศา ส่งผลให้ร่างกายของคนเราร้อนมากกว่าปกติ และอาจส่งผลให้เกิดภาวะต่างๆ ตามมา การรักษาอุณภูมิร่างกายนั่น พบว่า ในศาสตร์ของแพทย์แผนไทยประยุกต์ และ แพทย์แผนจีน มีอาหารฤทธิ์เย็น ที่ช่วยดับร้อนได้ในช่วงนี้
พท.ป.ภัคภร บูรณสันติกูล ประจำวิวัฏฏะคลินิก โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ได้แบ่งปันความรู้ และวิธีการดูแลสุขภาพในช่วงฤดูร้อนด้วยตัวเองตามหลักของศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยอธิบายว่า ความร้อนที่สะสมภายในร่างกายอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วย ไม่สบายเนื้อ-สบายตัว เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย หน้ามืด เจ็บในช่องปากและลำคอ พบแผลร้อนในช่องปาก เกิดอาการท้องผูก ขับถ่ายลำบาก ทำให้ผิวพรรณแห้งกร้านไม่สดใส เกิดสิวอักเสบขึ้นตามใบหน้า หรือเกิดฝีอักเสบตามลำตัวได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘ข้าวแช่’ 3 โรงแรม ‘อร่อย’ ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566
- ‘ขนมจีนซาวน้ำ’ อาหารหน้าร้อน ที่ ร้านหวานไทย : Waan Thai
- เปิดสรรพคุณ "สมุนไพรดับร้อน" ในเมนูโบราณ เด็กรุ่นใหม่รู้จักไหม?
ปัญหาสุขภาพจาก อากาศร้อน
หากร่างกายของเรามีความร้อนสะสมมากก็จะส่งผลเสียทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนทำหน้าที่ผิดปกติไป เมื่อร่างกายเกิดการอักเสบบ่อยครั้ง ก็อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยภายในอย่างรุนแรง เช่น เกิดเนื้องอก หรือมะเร็ง เป็นต้น โดยสภาพอากาศร้อนในไทย ยังสามารถมีผลต่อสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บตามมา อย่างคาดไม่ถึงได้ เช่น
- อากาศร้อนจัดสามารถทำให้อาหารเปลี่ยนสภาพได้รวดเร็ว เช่น เกิดการบูดเน่าเสีย ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสปะปน จึงเสี่ยงต่อการเป็น โรคอุจจาระร่วง โรคบิด-อหิวาตกโรค โรคอาหารเป็นพิษ และโรคไทฟอยด์ (โรคไข้รากสาดน้อย)
- เมื่อร่างกายต้องอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ในทันที จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลมแดด (Heat Stroke) สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- ในช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมักเกิดอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว ได้ง่าย จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องของ โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ (Rabies) เพราะเมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข หรือ แมวที่ติดเชื้อ กัด ข่วน หรือ เลียบริเวณผิวหนังของผู้ที่มีแผล เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ถูกกัด และอาจอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
- ภาวะเครียดวิตกกังวล (Stress Disorder) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ โมโหและหงุดหงิดง่าย กระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลรอบข้าง และส่งผลเชิงลบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งเป็นเหตุทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรมตามมา
‘ธาตุเจ้าเรือน’ ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์
ธาตุเจ้าเรือน แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แต่ละธาตุก็จะมีความจำเพาะโดดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนี้
ธาตุดิน: รูปร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำ ผมดกดำ ข้อกระดูกแข็งแรง กระดูกใหญ่ อวัยวะมีความสมบูรณ์ เจ็บป่วยค่อนข้างยาก แต่เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการขาดการดูแลเอาใจใส่ตนเอง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น
ธาตุน้ำ: รูปร่างสมบูรณ์ ผิวพรรณสดใสเต่งตึง ท่าทางการเดินมั่นคง พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ทำอะไรช้า ๆ เนิบ ๆ สามารถทนความเย็นได้ดีค่ะ เมื่อมีอาการเจ็บป่วย มักเกิดขึ้นที่ระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการเป็นหวัด หรือภูมิแพ้อากาศได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป นอกจากนี้ควรระมัดระวังเรื่องระบบเลือดน้ำเหลือง แผลหายช้า และอาการท้องเสีย ท้องร่วง
ธาตุลม: รูปร่างผอมบาง ผิวค่อนข้างแห้ง เป็นคนทำอะไรรวดเร็ว ทนความหนาวไม่ได้ ปัญหาสุขภาพที่มักเกิดกับบุคคลธาตุลม คือ อาการนอนไม่หลับ มีอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นเฟ้อ ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี บางครั้งอาจมีภาวะกรดไหลย้อน มักมีอาการปวดตามตัวและข้อต่อและในผู้ป่วยบางรายให้ระวังเรื่องอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด บ้านหมุน ในช่วงฤดูฝน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ธาตุลมจะกำเริบ
ธาตุไฟ: รูปร่างปานกลาง ผิวมันโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า เป็นคนใจร้อน ไฟแรง ทนความร้อนไม่ได้ หิวบ่อย ทานจุ แต่ไม่อ้วน เนื่องจากร่างกายมีระบบเผาผลาญ (Metabolism) ที่ดี ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยก็มักจะเป็น โรคเครียด โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นไข้ ตัวรุมอยู่บ่อย ๆ เกิดสิวอักเสบ เป็นฝีหนองตามลำตัว เจ็บคอร้อนใน ท้องผูก เป็นต้น
ช่วงฤดูร้อน ธาตุไฟในร่างกายมีการกำเริบมากกว่าปกติหรือไม่ เพราะอะไร?
ในช่วงฤดูร้อน (ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. – ปลายเดือน พ.ค.) จะเป็นช่วงเวลาที่สมุฏฐานธาตุไฟ (ปิตตะ) กำเริบ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงที่โลกโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และประเทศไทยทำมุมตั้งฉากตรงกับดวงอาทิตย์พอดี สภาพอากาศจึงร้อนอบอ้าวมากกว่าปกติ ร่างกายเกิดการสะสมความร้อนเพิ่มขึ้น (หรือ ธาตุไฟกำเริบ) ซึ่งหากไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้จนหมดก็จะทำให้พบปัญหาสุขภาพดังนี้ เช่น เกิดอาการร้อนใน-เป็นแผลในช่องปากบ่อยครั้ง เกิดสิวหรือผดผื่นคันได้ง่าย ท้องผูก ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว เกิดภาวะนอนหลับยาก-นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น
อาหารช่วยลดธาตุไฟในร่างกาย
การเลือกรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการดับพิษร้อน และ ลดการสะสมของความร้อนภายในร่างกาย ซึ่งรายการอาหารที่แนะนำมี ดังนี้
- อาหารที่มีรสจืด-เย็น เช่น ไก่ตุ๋นฟักเขียวมะนาวดอง ผัดบวบใส่ไข่ แกงจืดตำลึงใส่หมูสับ และแกงจืดผักหวานบ้าน ช่วยทำให้ร่างกายเย็นลง ดับพิษร้อนที่สะสมในร่างกาย ลดอาการเป็นไข้-ตัวร้อน
- อาหารที่มีรสขมเล็กน้อย-ปานกลาง เช่น ต้มจืดมะระจีนยัดไส้หมูสับ ไข่เจียวดอกแค และใบบัวบกผัดไข่ ก็จะช่วยระบายความร้อน ขับของเสีย และถอนพิษไข้ที่สะสมในร่างกายได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ กลุ่มผัก-ผลไม้ และ น้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น ก็จัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดธาตุไฟในร่างกายได้เช่นกัน เช่น
- กลุ่มผักที่มีฤทธิ์เย็น ได้แก่ ฟักเขียว บวบ ตำลึง ใบเตย รางจืด แตงกวา มะรุม และกระเจี๊ยบเขียว
- กลุ่มผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น ได้แก่ แตงโม แคนตาลูป เมล่อน แตงไทย ชมพู่ แก้วมังกร และมังคุด
- น้ำสมุนไพร ได้แก่ น้ำใบเตยหอม น้ำเก็กฮวย น้ำใบบัวบก น้ำว่านหางจระเข้ และน้ำรากบัว
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงนี้ ได้แก่ อาหารรสจัด (เผ็ดจัด-หวานจัด-มันจัด-เค็มจัด) เพราะจะไปกระตุ้นธาตุไฟให้กำเริบมากขึ้น ทำให้เกิดอาการร้อนใน อักเสบ แผลหายช้าได้
ดูแลสุขภาพลดธาตุไฟ
- ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องอย่างน้อย 8 – 10 แก้วต่อวัน จะช่วยลดความร้อนภายในร่างกาย
- ดื่มน้ำสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น เช่น น้ำใบเตย น้ำเก็กฮวย น้ำย่านาง น้ำมะตูมอ่อน ช่วยให้สดชื่นสบายตัว
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีและมีน้ำหนักเบา เช่น ผ้าฝ้ายบาง ๆ ผ้าลินิน หรือผ้าชีฟอง เป็นต้นและควรเลือกผ้าโทนสีอ่อนจะช่วยสะท้อนแสงแดดออกไป ทำให้ไม่เกิดความร้อนสะสมในร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ แอลกอฮอล์ คาเฟอีน และน้ำตาลในปริมาณสูง เนื่องจากจะไปกระตุ้นให้ธาตุไฟในร่างกายกำเริบได้มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เพราะจะทำให้กระบวนการในการย่อยอาหารทำงานหนักขึ้น เพิ่มการสะสมของธาตุไฟในร่างกาย
- ควรขับถ่ายเป็นประจำเพื่อลดความร้อนและขจัดของเสียที่ตกค้างภายในร่างกาย หากมีภาวะท้องผูกขับถ่ายลำบาก ควรรับประทานผัก-ผลไม้ที่มีใยอาหารสูงจะช่วยทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
- หากต้องอยู่ในสถานที่กลางแจ้ง แดดจัด เป็นเวลานาน ควรเตรียมผ้าชุบน้ำเย็น ผ้าเย็น หรือ Cold Pack สำหรับวางประคบลงบนผิวหนังและเช็ดตัวเพื่อเปิดรูขุมขน จะช่วยลดความร้อนภายในร่างกายและทำให้สบายตัวมากขึ้น
การรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์ด้วยหลักการของธาตุเจ้าเรือนนี้ ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่คนรักสุขภาพ โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมตามแต่ละชนิดของธาตุเจ้าเรือน เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารแสลงต่อโรค และรับประทานสมุนไพรที่เหมาะต่อธาตุเจ้าเรือน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง บรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ และ ฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ
อาหารฤทธิ์เย็น ตามสไตล์แพทย์แผนจีน
ขณะเดียวกัน ทางด้านศาสตร์แพทย์แผนจีน ก็มีอาหารคล้ายร้อนแนะนำเช่นกัน จากบทความ อาหารคลายร้อนสไตล์แพทย์แผนจีน โดย แพทย์จีน ฐิตินันท์ ศรีเดช แผนกฝังเข็ม ในเว็บไซต์ หัวเฉียว แพทย์แผนจีน อธิบายว่า ประเทศไทยที่มีอากาศร้อนตลอดทั้งปี แต่แพทย์จีนมักให้คำแนะนำว่าไม่ควรทานอาหารเย็นๆ อย่างเช่นน้ำเย็น น้ำแข็ง หรือไอศกรีม โดยทางคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว แนะนำอาหารคลายร้อนสไตล์แพทย์แผนจีน ที่ไม่เพียงช่วยขจัดไฟ ลดความร้อนในร่างกาย แต่ยังดีต่อสุขภาพ ดังนี้
1.สาหร่ายคอมบุ
สาหร่ายคอมบุสามารถทำอาหารได้หลากหลายไม่ว่าจะนำมาคลุกน้ำมันงาหรือทำเป็นน้ำซุปก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสรรพคุณของสาหร่ายคอมบุนั้นไม่เพียงแต่ช่วยขับความร้อนในร่างกายได้แล้ว แต่ยังสามารถลดอาการอ่อนเพลียที่เกิดจากเหงื่อออกมากเกินไป นอกจากนี้ สารอาหารในสาหร่ายคอมบุยังช่วยลดความดันโลหิตและลดความหนืดของเลือดได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง : ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษไม่ควรรับประทานสาหร่าย หญิงตั้งครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตรไม่ควรรับประทานสาหร่ายมากเกินไป
2.แตงกวา
แตงกวา นอกจากจะเป็นเครื่องเคียงอาหารไทยหลากหลายชนิด เช่น ข้าวมันไก่ ทอดมัน หรือทานคู่กับน้ำพริกแล้ว ยังสามรถนำมาทำอาหารได้อีกหลากหลายเมนู เช่น แตงกวาผัดไข่ แกงจืดแตงกวา เป็นต้น การทานแตงกวาในช่วงอากาศร้อนๆไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกสดชื่น ขับความร้อนในร่างกายได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความอยากอาหาร และป้องกันอาการท้องผูกได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง : ผู้ป่วยที่มีอาการปวดกระเพาะจากกลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารเย็นพร่อง และผู้ที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังไม่ควรรรับประทานแตงกวา
3.มะเขือเทศ
มะเขือเทศเป็นผลไม้ที่มีตลอดทั้งปี ทานได้ทั้งแบบสด แปรรูป หรือปรุงสุก มะเขือเทศมีฤทธิ์เย็นเล็กน้อย สามารถลดความร้อนในร่างกาย แก้กระหาย บำรุงม้าม สงบตับและบำรุงสายตา
4.หอยกาบ
หอยกาบเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ทำอาหารได้หลากหลาย เช่น นำไปลวกจิ้ม ผัดน้ำพริกเผา หรือต้มเป็นน้ำซุป ในทางแพทย์แผนจีนหอยกาบมีฤทธิ์ค่อนข้างเย็น มีสรรพคุณในการลดความร้อน บำรุงอิน ขับปัสสาวะ
ข้อควรระวัง : ผู้ป่วยที่ไม่สบายจากลมเย็นกระทบร่างกาย ผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือนและหลังคลอดไม่ควรรับประทานหอยกาบ
5.น้ำผึ้ง
ในตำรายาเปิ๋นเฉ่ากังมู่ (本草纲目) มีบันทึกไว้ว่าน้ำผึ้งมีสรรพคุณในการระบายความร้อน ขับพิษ ให้ความชุ่มชื้น บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร เปรียบเสมือนยาอายุวัฒนะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถผสมน้ำอุ่นดื่ม หรือนำไปเป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มหรืออาหารอื่นๆได้เช่นเดียวกัน
ข้อควรระวัง : ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวไม่ควรรับประทาน
อ้างอิง : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ , หัวเฉียว แพทย์แผนจีน