อันตรายย่างกรายลูก | วรากรณ์ สามโกเศศ
โลกยิ่งก้าวหน้าเท่าใด ยิ่งมีอันตรายที่คาดไม่ถึงมากเพียงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็กที่ไร้เดียงสา “อาหารสมอง” จานนี้ตั้งใจกระจายข่าวอันตรายชิ้นหนึ่งสู่สังคมไทย ซึ่งดูจะยังมิได้ตระหนักในเรื่องนี้ อันตรายดังกล่าวมาในรูปของแบตเตอรี่นาฬิกา
แบตเตอรี่นาฬิกา ที่เราเรียกกันนั้นในภาษาอังกฤษว่า button cell (แบตเตอรี่กระดุม) coin battery (แบตเตอรี่เหรียญ) หรือ watch battery (แบตเตอรี่นาฬิกาข้อมือ) ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างกว้างขวางในอุปกรณ์ที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้า เช่น นาฬิกาข้อมือ กุญแจรถยนต์ รีโมตคอนโทรลโทรทัศน์ เครื่องคิดเลขขนาดเล็ก การ์ดที่มีเสียงเมื่อเปิด ฯลฯ
แบตเตอรี่ชนิดนี้มีรูปร่างกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-25 มิลลิเมตร หนา 1-6 มิลลิเมตร ข้างบนเป็นผิวมนเล็กน้อย มีฝาปิดแน่นโดยเป็นขั้วลบ ส่วนฐานซึ่งมักทำด้วยเหล็กไร้สนิมเป็นขั้วบวก
โดยสรุปแล้วหน้าตาคล้ายกระดุมที่มันวาวอย่างน่าดึงดูดใจเด็กขนาดต่ำกว่า 5 ขวบให้เอาใส่ปาก เพราะคล้ายลูกกวาด ตรงนี้แหละคืออันตรายอย่างแท้จริงสำหรับเด็กที่กลืนเข้าไปเพราะอาจทำให้ถึงตายได้
ในการกลืนเข้าไปของแบตเตอรี่นาฬิกา หากตกเข้าไปค้างอยู่ในหลอดลมหรือหลอดอาหาร เนื้อเยื่อภายในอวัยวะก็จะถูกทำลายได้ เพราะเมื่อขั้วบวกและลบของแบตเตอรี่เชื่อมต่อถึงกันด้วยน้ำลายหรือน้ำเมือกจากเยื่อ กระแสไฟฟ้าก็จะเดินเกิดเป็นความร้อนขึ้น ถ้ามันไปตกอยู่ใกล้หลอดลมหรือหลอดอาหารก็อาจทำลายเนื้อเยื่อจนเป็นรูได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง
ส่งผลกระทบต่อระบบการกลืนอาหาร นอกจากนี้ก็อาจทำลายหลอดเสียง และที่เลวร้ายสุดก็คือมันอาจทำลายเส้นเลือดในบริเวณปอด ซึ่งมีเส้นเลือดใหญ่อยู่ หากมันทำลายเส้นใหญ่นี้จนเป็นแผลหรือรู เลือดก็ไหลออกไม่หยุดจนอาจเสียชีวิตได้ ในสหรัฐในรอบ 19 ปีที่ผ่านมามีเด็กเสียชีวิตถึง 44 คนจากการกลืนแบตเตอรี่นาฬิกา
เหตุการณ์ที่น่ากลัวนี้อาจเกิดขึ้นโดยพ่อแม่ไม่รู้ตัว เพราะอาการของเด็กที่กลืนเข้าไปอาจแตกต่างกันและอาจไม่แตกต่างจากการร้องไห้ของเด็กในวัยนี้ ซึ่งดูเป็นเรื่องธรรมดาจนแพทย์คิดว่าเจ็บป่วยเป็นปกติ กว่าจะรู้ว่าได้กลืนเข้าไปและเป็นปัญหาก็อาจเกิดความเสียหายร้ายแรงแล้ว
อาการที่เป็นปัญหาก็คือ เจ็บคอไอ เป็นไข้ กลืนน้ำลายไม่ได้ ร้องไห้ ฯลฯ ที่สำคัญเด็กในวัยนี้ไม่อาจบอกได้ว่ามีอาการอย่างไร
กรณีศึกษาของเด็กสามคนที่เสียชีวิตในออสเตรเลียก็คือ
(1) ไม่มีใครเห็นตอนที่กลืนเข้าไป
(2)ไม่รู้ว่าเอาแบตเตอรี่นาฬิกามาจากไหน
(3)แพทย์วินิจฉัยโรคผิดในตอนแรกจนทำให้รักษาช้าไปจนไม่ทันการณ์
(4) จะรู้ว่ากลืนเข้าไปก็ต่อเมื่อมีการเอกซเรย์
(5)ในทั้งสามกรณีแบตเตอรี่ตกไปอยู่ในหลอดอาหาร
(6) แบตเตอรี่ตัวการคือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 มิลลิเมตร ซึ่งมีกระแสไฟฟ้าสูงกว่าขนาดเล็ก
(7) เสียชีวิตในเวลา 19-20 วันนับจากวันที่กลืนเข้าไป
ทุกการกลืนของเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบไม่นำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงหรือการตายเสมอไป ตราบที่ไม่ตกเข้าไปค้างอยู่ในหลอดอาหารหรือหลุดเข้าไปค้างในหลอดลม (เด็กเล็กมีสรีระของร่างกายที่ไม่ยากต่อการหล่นลงไปในหลอดลม ในขณะที่เด็กโตกว่านั้นมีโอกาสที่จะเกิดยากกว่า เพราะสรีระของร่างกายแตกต่างกัน) ในทุกวัยหากกลืนเข้าไปและไม่ตกค้างอยู่ก็มีโอกาสสูงที่จะขับถ่ายออกมาในที่สุด
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะไม่เป็นปัญหาร้ายแรงแต่แบตเตอรี่เหล่านี้บรรจุหลายสารเคมี เช่น Lithium/Silver oxide/Zinc/Alkaline ซึ่งอาจละลายออกมาเป็นพิษต่อร่างกายได้
สำหรับแบตเตอรี่นาฬิการุ่นเก่านั้นเลวร้ายมาก เพราะมีสารพิษบรรจุอยู่ เช่น Mercuric oxide และ Cadmium จนถูกองค์กรระดับโลกบังคับให้เลิกผลิตไปแล้ว ในบ้านเราต้องระวังเพราะอาจมีแบตเตอรี่รุ่นเก่าที่ใช้แล้วตกค้างอยู่ในบ้านจนไปถึงมือเด็กได้
ขณะนี้ องค์กรต่างๆ ในระดับโลกและประเทศพัฒนาแล้วตื่นตัวกันมาก จากหลักฐานการเจ็บป่วยและการตายที่ปรากฏในสหรัฐกรณีที่รุนแรงเพิ่มขึ้น 9 เท่าตัวใน 10 ปีผ่านมา เนเธอร์แลนด์ 15 รายที่รุนแรงและตาย 2 รายต่อปี ออสเตรเลียมีการกลืนที่เป็นปัญหาเฉลี่ย 1 คนต่อเดือน นิวซีแลนด์มีกรณีรุนแรงเฉลี่ย 20 รายต่อปี ฯลฯ ในประเทศอื่นๆ รวมทั้งบ้านเราก็คงมีเช่นกันเพียงแต่ไม่ได้มีสถิติแยกเป็นพิเศษไว้
ข้อมูลการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ปรากฏในนิตยสาร Reader’s Digest (ฉบับมีนาคม 2566) ขณะนี้ออสเตรเลียและสหรัฐนำหน้า ในเรื่องการออกกฎหมายควบคุมการผลิตและบรรจุกล่องแบตเตอรี่ให้พ้นมือเด็ก และมีที่ใส่แบตเตอรี่ที่ปิดแน่น ตลอดจนมีกฎเกณฑ์ป้องกันอันตรายที่เป็นมาตรฐาน
การป้องกันอันตรายดังกล่าวมีการเสนอแนะกันดังต่อไปนี้
(ก) แพร่หลายข้อมูลเรื่องอันตรายจากการกลืนแบตเตอรี่นาฬิกาให้ออกไปมากที่สุด
(ข) เก็บแบตเตอรี่ให้พ้นมือเด็กอย่างเด็ดขาด
(ค) ตรวจสอบว่าที่ใส่แบตเตอรี่ของอุปกรณ์ปิดแน่น
(ง) เก็บอุปกรณ์ไฟฟ้าให้พ้นมือเด็กเพราะไม่รู้ว่าแบตเตอรี่จะหลุดกระเด็นออกมาเมื่อใด
(จ) ถ้าสงสัยเด็กกลืนเข้าไปต้องส่งโรงพยาบาลทันที หากอยู่ภายในเวลา 2 ชั่วโมงก็มีโอกาสปลอดภัยสูง
ปัจจุบันบางผู้ผลิตใช้การเคลือบสารที่ขมลงบนผิวแบตเตอรี่ เพื่อเด็กจะได้ไม่เอาเข้าปาก บ้างก็เคลือบสารที่หากเด็กอมแล้วปากจะออกสีอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดเพราะยังมีแบตเตอรี่นาฬิกาที่ตกค้างอยู่ในบ้านต่างๆ รวมกันนับหมื่นนับแสนก้อนที่มิได้มีการเคลือบสารก็คือ การป้องกันหรือ “ล้อมคอกก่อนวัวหาย”
วิธีที่ได้ผลก็คืออย่าให้แบตเตอรี่ชนิดนี้และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่บรรจุอยู่ใกล้มือเด็กเป็นอันขาด ที่ต้องระวังมากก็คือ “ของเล่น” เพราะเด็กอาจฟาดเล่นไปมาจนแบตเตอรี่กระเด็นหลุดโดยพ่อแม่ไม่เห็น เด็กเห็นแปลกตาเอาใส่ปากและหลุดลงคอ
อีกเรื่องที่น่ากลัวคือ “การ์ดอวยพรสมัยใหม่” ชนิดที่มีเสียงหรือการเคลื่อนไหว โดยมีแบตเตอรี่นาฬิกาบรรจุอยู่ พ่อแม่เห็นว่าไม่มีอันตรายจึงวางไว้ในระดับที่เด็กคว้าไปเล่นได้ ภาพที่เหลือคือจินตนาการที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นจริง
ยิ่งนับวันเราจะมีการใช้แบตเตอรี่นาฬิกาชนิดนี้ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้นทุกที และบรรจุกระแสไฟฟ้ามากขึ้นด้วย ดังนั้น ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงจากการกลืนก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว อย่ามัวรอกฎหมายควบคุมให้เสียน้ำตา จงรีบป้องกันอันตรายที่ย่างกรายมาถึงลูกแต่บัดนี้ครับ.