'มีดนาโน' รักษามะเร็ง ข้อดี-ข้อจำกัดของผู้ป่วย
นวัตกรรมการรักษามะเร็งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือการใช้ 'มีดนาโน' ใช้กับมะเร็งแบบไหน มีข้อดี-ข้อจำกัดต่อผู้ป่วย
ศิริราชใช้เป็นที่แรกในอาเซียน
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงข่าว “แห่งเดียวในไทย…ศิริราชรักษามะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อนด้วยมีดนาโน” โดยระบุว่า ศิริราชใช้วิธีการรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยมีดนาโน (Nanoknife®) มาใช้รักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะมะเร็งตับและตับอ่อนตั้งแต่ปี 2557 ถือเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลการรักษาดี ไม่มีภาวะแทกซ้อนที่รุนแรง โดยจะมีทีมคณะแพทย์ประเมินความเหมาะสมให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีนี้ในการรักษา
ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงเฉลี่ย 1.5-2 แสนบาท ยังไม่ครอบคลุมในสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพภาครัฐ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกันด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและค่าใช้จ่ายสูง สามารถติดต่อบริจาคได้ทุกวันที่ ศิริราชมูลนิธิ โทร. 0-2419-7658-60
มีดนาโนรักษามะเร็งตับอ่อน
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของบทความ เรื่อง รักษามะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อนด้วยมีดนาโน ของ อ.นพ.สมราช ธรรมธรวัฒน์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ในเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชระบุว่า
ผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกมะเร็งตับที่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด หากไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยวิธีการทางรังสีร่วมรักษา (interventional radiology) ได้แก่ การรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอก (tumor ablation) และการให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือด (transarterial chemoembolization; TACE)
แต่การจี้ก้อนเนื้องอกโดยการใช้เข็มให้ความร้อนมีข้อจำกัดในก้อนเนื้องอกที่อยู่ชิดติดกับหลอดเลือดหรือท่อน้ำดี เพราะความร้อนที่ใช้สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บแก่หลอดเลือดหรือท่อน้ำดีได้ รวมทั้งอาจเกิดการพัดพาความร้อนออกจากก้อนเนื้องอกจากเลือดที่ไหลผ่านในหลอดเลือด (heat-sink effect) ทำให้ก้อนเนื้องอกบริเวณที่อยู่ใกล้กับหลอดเลือดนั้นไม่ได้รับความร้อนที่สูงพอ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการเหลือรอดของก้อนเนื้องอก (residual tumor) หรือกลับเป็นซ้ำ (recurrent tumor) ได้
วิธีการของมีดนาโนรักษามะเร็ง
มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อลดข้อจำกัดจากการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยความร้อน คือ การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูง (irreversible electroporation; IRE) หรือมีดนาโน (Nanoknife®) เป็นการจี้ก้อนเนื้องอกโดยใช้เข็มอย่างน้อย 2 เล่ม สอดเข้าไปในตำแหน่งของเนื้องอก ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูงถึง 3,000 โวลต์ ไหลผ่านเซลล์เนื้องอก ส่งผลให้เกิดรูขนาดเล็ก (nanopores) จำนวนมากที่เยื่อหุ้มเซลล์แบบถาวร ซึ่งจะทำให้เกิดการตายแบบธรรมชาติ (apoptosis) โดยไม่เกิดความร้อนออกมาทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง จึงทำให้สามารถใช้ในการรักษาก้อนเนื้องอกที่อยู่ใกล้กับหลอดเลือด หรือท่อน้ำดีได้อย่างปลอดภัย
ข้อจำกัดการใช้มีดนาโนในผู้ป่วย
การรักษาด้วยมีดนาโนนี้จึงถูกนำมาใช้ในการรักษามะเร็งตับอ่อนซึ่งเป็นมะเร็งที่ทำการรักษาได้ยากด้วยการผ่าตัด โดยเฉพาะก้อนมะเร็งที่โอบล้อมหลอดเลือดในช่องท้อง การรักษาด้วยวิธีนี้จะไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือดในช่องท้องดังกล่าว แต่มีข้อจำกัดของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ
- ก้อนเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร
- ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ให้เข้าไปอาจส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจได้
การใช้มีดนาโนในต่างประเทศ
ขณะที่เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2566 ในการเปิดตัวสำนักงานให้คำปรึกษาโรคมะเร็งโรงพยาบาลมะเร็งสมัยใหม่กว่างโจวสแตมฟอร์ดในประเทศไทย สาขากรุงเทพมหานคร เพื่อให้บริการกับผู้ป่วยที่ต้องการwxเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าวในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งให้การรักษามะเร็งด้วยวิธีบาดแผลเล็กมาdกว่า 18 เทคโนโลยี มีการพูดถึงมีดนาโนเช่นกัน
หลิน ต้าวชวน ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ St.Stamford International Medical Group กล่าวว่า การใช้มีดนาโนในการรักษามะเร็งผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(FDA USA) เมื่อเดือนต.ค.2554 และผ่านมาตรฐานของสหภาพยุโรป(CE) โดยปัจจุบันมีการใช้รักษาจริงในรพ.กว่า 100 แห่งทั่วโลก
หลิน ต้าวชวน กล่าวอีกว่า ผู้ที่เหมาะสมในการรักษาด้วยเทคโนโลยีนี้ คือ ผู้ป่วยมะเร็งระยะแรก ระยะกลาง ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เต็มใจที่จะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือเคมีบำบัด ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการกำเริบหลังการผ่าตัดและไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดได้อีก ผู้ป่วยมะเร็งที่มีผลตอบสนองไม่ดีหลังการผ่าตัดแบบดั้งเดิมคือรังสีรักษาและเคมีบำบัด และผู้ป่วยที่ทำการรักษารังสีรักษาและเคมีบำบัดมีอาการดื้อและอาการแพ้