รู้หรือไม่ กว่า 600 ล้านคนทั่วโลก เคยปวดหลังอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต
อาการปวดหลังจากการอยู่ท่าเดิมนานๆ นั่งนานๆ อาจก่อให้เกิดโรคยอดฮิตของชาวออฟฟิศ อย่าง 'ออฟฟิศซินโดรม' มีการสำรวจว่าทั่วโลกกว่า 600 ล้านคน ต่างเคยมีอาการปวดหลังอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ดังนั้น การรักษาต้องเปลี่ยนที่ต้นเหตุ เช่น การปรับพฤติกรรม สภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
Key Point :
- ผลสำรวจจาก BackJoy พบว่า กว่า 600 ล้านคนทั่วโลก เคยมีอาการปวดหลังอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต นอกจากนี้ ยังมีค่าเสียโอกาส ค่าใช้จ่ายแฝงจากอาการปวดหลังที่เกิดขึ้น
- อาการปวดหลังอาจนำไปสู่โรคยอดฮิตอย่าง 'ออฟฟิศซินโดรม' ซึ่งความรุนแรงมีได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อย จนถึงปวดรุนแรงทรมานอย่างมาก
- ในช่วงโควิด ที่ผ่านมา พบว่า สินค้าสำหรับสุขภาพ อย่างแผ่นรองนั่ง แผ่นรองหลัง หรือโต๊ะที่ปรับได้ ได้รับความนิยมมากขึ้น อีกทั้งมีผู้เล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
การสำรวจผลกระทบของสรีระและท่วงท่าการนั่งที่ผิดหลักเออร์โกโนมิคส์ (Ergonomics หรือการยศาสตร์ เป็นการจัดท่าทางการทำงานที่ถูกต้องตามหลัก) จาก BackJoy พบว่า กว่า 600 ล้านคนทั่วโลก เคยมีอาการปวดหลังอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต กว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นค่าใช้จ่ายแฝง ทั้งค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง และค่าเสียโอกาส ทั้งนี้ 49% ของผู้คนที่ปวดหลัง ต้องทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด
ขณะเดียวกัน ปัญหาสำคัญของคนวัยทำงาน คือ อาการออฟฟิศซินโดรม ที่เกิดจากการอยู่ในท่วงท่าเดิมนานๆ และการนั่งอย่างไม่เหมาะสมต่อเนื่อง ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม มาจากทั้งสภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะ หรือ เก้าอี้ที่ใช้ทำงานสูงหรือต่ำจนเกินไป ไม่เหมาะกับโครงสร้างของร่างกาย อีกทั้ง มีสาเหตุมาจากสภาพร่างกายอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย เช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การได้รับสารอาหารไม่ครบ หรือทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทำความรู้จัก "ออฟฟิศซินโดรม" ปัญหากวนใจ ของวัยทำงาน
- 5 เคล็ดลับหลีกเลี่ยงอาการออฟฟิศซินโดรม
- "ปวดคอ - ปวดหลัง" อาการป่วยที่ไม่ควรละเลย
อาการออฟฟิศซินโดรม
สำหรับ อาการออฟฟิศชินโดรม สามารถแบ่งลักษณะอาการปวดได้ทั้งหมด 3 ลักษณะ ดังนี้
1. การปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก มักมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน อาจมีอาการปวดร้าวทั่วไปบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย มีลักษณะอาการปวดล้าๆ ความรุนแรงมีได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยเพียงรำคาญจนถึงปวดรุนแรงทรมานอย่างมาก
2. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งพบร่วมได้ เช่น ช่า วูบ เย็น เหน็บ ซีด ขนลุก เหงื่อออก ตามบริเวณที่ปวดร้าว ถ้าเป็นบริเวณคออาจมีอาการมึน งง หูอื้อ ตาพร่า
3. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขนและมือ รวมถึงอาการอ่อนแรง หากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป
การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม
การรักษากลุ่มอาการ ออฟฟิศซินโดรม นั้นมีด้วยกันหลายวิธี ทั้ง การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยยา การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำกายภาพบำบัด เพื่อยืดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายเพื่อรักษาการปวดหลังเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย และปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยวิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอาการจากออฟฟิศซินโดรมได้นั้น คือ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น ลดอาการบาดเจ็บจากการทำงานและเพิ่มคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างถาวร
‘โควิด’ ความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพสูงขึ้น
ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีมาตรการงดการเดินทาง หลายคนต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home เป็นเวลานานหลายเดือน ในช่วงนี้ คนส่วนใหญ่มักมองหาอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไอที โต๊ะ เก้าอี้ เพื่อเสริมศักยภาพในการทำงาน และอีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมในช่วงดังกล่าว คือ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม หรืออุปกรณ์เสริมที่ช่วยตอบโจทย์วิถีชีวิตคนยุค New Normal
อิสรา นราทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาร์เก็ต กรีน จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ BackJoy ผลิตภัณฑ์ช่วยปรับสรีระการนั่ง เผยว่า ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่สินค้ามีการเติบโตขึ้น ในยุคแรกๆ คนอาจจะไม่รู้ว่ามีอุปกรณ์ที่ช่วย เวลาปวดหลังก็จะหาหมอน หรืออะไรมาดันหลัง รองก้น แต่ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้ามาช่วยตอบโจทย์คนที่ต้องนั่งเป็นเวลานานๆ มากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเออร์โกโนมิคส์ (Ergonomics หรือการยศาสตร์ เป็นการจัดท่าทางการทำงานที่ถูกต้องตามหลัก) เติบโตขึ้นมากตั้งแต่โควิด-19 เช่น แผ่นรองนั่ง โต๊ะที่ปรับได้ เป็นต้น
“BackJoy ถือเป็นสินค้าที่เป็นนวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ โดยในตลาดมีผู้จัดจำหน่ายราว 4-5 ราย จากเดิม 2-3 ราย ก่อนโควิด ราคาเฉลี่ยในตลาดอยู่ระหว่าง 1,000 – 3,900 บาท ส่วนใหญ่จะมีทั้งนำเข้าและ OEM อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีข้อมูลมูลค่าตลาด แต่หากมองตามเทรนด์การแข่งขัน ถือว่ามีการเติบโตขึ้นดับเบิ้ลในช่วงโควิด-19 และมีการแข่งขันที่รุนแรงพอสมควรในปีนี้เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีตัวเลือกมากขึ้นโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์”
ที่ผ่านมา ยอดขาย BackJoy เติบโต 15-20% ต่อปี โดยตั้งเป้าเติบโตปีนี้อยู่ที่ 20% สินค้าทั้งหมดประมาณ 10-15 SKU ดีไซน์ได้รับการรับรองจากสมาคมนักจัดกระดูกนานาชาติ เป็นสินค้านวัตกรรมที่ได้รับการจดสิทธิบัตร และการพัฒนาต่อเนื่องมาตลอด 38 ปี จากการสำรวจผลลัพธ์ในการใช้ในสหรัฐอเมริกา พบว่า 87% ของผู้ใช้อาการปวดหลังลดลงอย่างเห็นได้ชัด และ 70% ของผู้ใช้ไม่ต้องพึ่งยาแก้ปวด
คนปวดหลัง อายุน้อยลง
อิสรา กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเป้าหมายของ BackJoy คือ กลุ่มวัยทำงาน 40 ปีขึ้นไป และปัจจุบันมีแนวโน้มที่เด็กลง เพราะเด็กมีแนวโน้มปวดหลังมากขึ้น จากการสำรวจพบว่า กว่า 600 ล้านคนทั่วโลก เคยมีอาการปวดหลังอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต และในอนาคต ปี 2050 คนจะมีอาการปวดหลังเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ อาการปวดหลังจะมีค่าใช้จ่ายแฝงอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่านวด ค่ากายภาพบำบัด ค่าเสียเวลา หรือบางครั้งอาการปวดหลังทำให้รู้สึกหงุดหงิด และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพน้อยลง ค่าใช้จ่ายแฝงเหล่านี้หลายคนอาจจะมองข้ามไป
ทั้งนี้ สรีระท่วงท่าที่ถูกต้องตามหลัก เออร์โกโนมิคส์ จึงกลายเป็นความจำเป็นของคนในปัจจุบัน ไม่เพียงแค่การดูดีเท่านั้น แต่ท่านั่งที่เหมาะสมจะช่วยลดอาการปวดหลัง กระตุ้นการไหลเยียนของเลือด และยังช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นอีกด้วย