วิจัยเผย ภายในปี 2050 ชาวโลกกว่า 800 ล้านคน อาจ “ปวดหลัง” จนเสี่ยงพิการ!
อาการ “ปวดหลัง” ถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของคน “วัยทำงาน” ที่ต้องนั่งนานหลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งต่อไปในอนาคตจะมีคนได้รับผลกระทบจากการปวดหลังมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก
Key Points:
- ภายในปี 2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า จะมีประชากรทั่วโลกได้รับผลกระทบจากอาการ “ปวดหลัง” มากกว่า 800 ล้านคน
- อาการปวดหลังในวัยทำงาน ส่วนมากเกิดจากการนั่งทำงานอยู่กับโต๊ะนานวันละหลายชั่วโมง จนเกิดเป็นภาวะ “ออฟฟิศซินโดรม”
- นอกจากอาการปวดเมื่อยเรื้อรังที่มีต้นเหตุจาก “ปวดหลัง” แล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายอื่นๆ ตามมา ไปจนถึงกลายเป็นคนพิการได้
อาการ “ปวดหลัง” ถือเป็นหนึ่งในอาการออฟฟิศซินโดรมยอดฮิตที่คนวัยทำงานส่วนมากกำลังเผชิญในปัจจุบัน แต่รู้หรือไม่!? งานวิจัยจากวารสาร Lancet Rheumatology เปิดเผยว่า ในปี 2050 หรืออีก 27 ปี ข้างหน้า จะมีคนทั่วโลกได้รับผลกระทบอาการปวดหลังมากถึงประมาณ 800 ล้านคน เลยทีเดียว
เนื่องจากการทำงานในออฟฟิศปัจจุบันทำให้มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานนานหลายชั่วโมง ทำให้บางคนเกิดอาการ “ออฟฟิศซินโดรม” จัดอยู่ในกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome : MPS) เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานและต่อเนื่อง จนทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ หากปล่อยไว้นานไม่ได้รับการรักษา อาจทรุดหนักและลุกลามจนมีอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งหนึ่งในบริเวณที่หลายคนปวดก็คือ “แผ่นหลัง” นั่นเอง
- ในอนาคต คนกว่า 800 ล้านคน จะได้รับผลกระทบจากการ “ปวดหลัง” อย่างไร?
จากปัญหาออฟฟิศซินโดรมที่อธิบายไปเบื้องต้นนั้น ทำให้ทั่วโลกมีคนปวดหลังเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากพฤติกรรมการทำงานในออฟฟิศ สอดคล้องกับงานวิจัยในวารสาร Lancet Rheumatology ที่มีการเก็บข้อมูลมานานถึง 30 ปี ตั้งแต่ปี 1990-2020 ใน 204 ประเทศทั่วโลกจากทุกทวีป ได้ข้อสรุปว่า ภายในปี 2050 จะมีคนทั่วโลกมากถึง 843 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากปัญหาการปวดหลัง โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ประมาณ 200 ล้านคน สำหรับประเทศที่จะมีคนปวดหลังเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ในทวีปเอเชีย และแอฟริกา
เมื่อปี 2020 ตัวเลขของมนุษย์ออฟฟิศปวดหลังอยู่ที่ 619 ล้านคน เรียกได้ว่าภายในเวลา 3 ปี จะมีคนปวดหลังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และที่น่าเป็นห่วงก็คืออาการปวดหลังนั้นยังส่งผลให้เกิดโรคร้ายตามมาอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด อาการทางสุขภาพจิต และที่อันตรายที่สุดคือ มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนพิการ
แม้ว่าอาการปวดหลังเรื้อรังนั้นเหมือนจะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ความจริงแล้วจากการสำรวจพบว่า กลุ่มอาการดังกล่าวสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้ในระยะยาว รวมถึงสร้างปัญหาต่อผู้สูงวัยในอนาคตอีกด้วย
นอกจากอาการปวดหลังจากการนั่งนานๆ จะส่งผลต่อเนื่องให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรมแล้ว ยังพบพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ของวัยทำงาน ที่อาจนำไปสู่ความพิการอีกด้วย ได้แก่ การสูบบุหรี่ และน้ำหนักเกินเกณฑ์ ซึ่งนับเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังได้
- ไม่อยากเป็น “ออฟฟิศซินโดรม” ต้องรู้วิธีป้องกันและรักษาได้
สำหรับมนุษย์ออฟฟิศคนไหนที่ไม่อยากเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจากการปวดหลัง สามารถเริ่มต้นป้องกันได้ง่ายๆ ดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ต้องใช้ท่าที่เหมาะสมกับอาการปวดเมื่อย หากไม่แน่ใจว่าท่าออกกำลังกายของเรามีความเหมาะสมหรือไม่ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
- ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับสรีระ เช่น การปรับความสูงของโต๊ะทำงานหรือเก้าอี้
- เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน ไม่นั่งอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ควรลุกเดินเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและพักสายตาอย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง
- เมื่อมีอาการปวดกล้ามเนื้อที่แม้จะยืดกล้ามเนื้อแล้วก็ยังไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุด
ในส่วนของการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมนั้น สามารถทำได้หลายวิธี โดยในขั้นแรกสามารถเริ่มต้นที่ตัวเองด้วยการปรับสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกับการรับประทานยาตามอาการ แต่หากยังไม่หายก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เช่น ทำกายภาพบำบัดด้วยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ การฝังเข็มแบบสลายจุดปวด การออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี การนวดแผนไทย ที่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะนอกจากปัญหาออฟฟิศซินโดรมแล้วยังจำเป็นต้องวินิจฉัยหาอาการของโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อีกด้วย
แม้ว่าการ “ปวดหลัง” หรืออาการอื่นๆ ที่เกิดจากปัญหา “ออฟฟิศซินโดรม” นั้น จะสามารถรักษาให้หายได้ แต่การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตั้งแต่แรกถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการปวดหลังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ตามมาในอนาคต
อ้างอิงข้อมูล : Xinhua และ รพ.ไทยนครินทร์