โรคฮิตยุคติดจอ ใช้สายตา- จ้องคอมพิวเตอร์นานๆ เสี่ยงโรค CVS

โรคฮิตยุคติดจอ ใช้สายตา- จ้องคอมพิวเตอร์นานๆ เสี่ยงโรค CVS

พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน ในยุคติดจอ ที่ต้องอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มือถือ เป็นเวลานานๆ อยู่แล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การติดต่อสื่อสาร จนทำให้เกิดอาการปวดรอบดวงตา ปวดศีรษะ ตาแห้ง หากปล่อยต่อไป อาจจะส่งผลต่อสุขภาพตามากขึ้น 

Keypoint:

  • จ้องหน้าจอไม่พักจนทำให้ รู้สึกปวดรอบดวงตา ตาแห้ง หรือปวดศรีษะ ตาเริ่มพร่ามัว มองไม่ชัด อาการเหล่านี้ต้องระวัง บ่งบอกว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรค CVS 
  • 'โรค CVS' ภัยเงียบใกล้ตัวคนวัยทำงานที่ต้องใช้สายตาอยู่กับคอมพิวเตอร์ แท็บแล็ต มือถือเป็นเวลานานๆ ถึงอาการจะไม่รุนแรง แต่หากไม่หยุดพฤติกรรมใช้สายตานานๆ จะส่งผลต่อสุขภาพตา
  • การปรับพฤติกรรม จัดคอมพิวเตอร์และแป้นพิมพ์ให้เหมาะสม มีระยะห่าง ขนาดตัวอักษรที่ใช้ต้องสบายใจ แสงสว่างพอเหมาะ และหากมีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์

โดยความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการใช้งานอันที่จริงแล้ว เวลาทำงานกับคอมพิวเตอร์ ดวงตาของคนเราจะถูกใช้งานแตกต่างจากการอ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษ ไม่ว่าจะเป็นระยะการมองหรือมุมที่ต้องก้มขณะที่อ่าน และบ่อยครั้งที่พบว่าตัวอักษรบนหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้นมีความชัดเจนไม่เพียงพอ

รวมทั้งความเข้มหรือความสว่างของหน้าจอซึ่งถูกปรับตั้งไว้ไม่เหมาะสมในขณะใช้งาน ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนทำให้เราต้องใช้สายตามากกว่าปกติในขณะที่ใช้คอมพิวเตอร์และส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้าดวงตาจากการใช้งานดังกล่าวเป็นระยะเวลานานได้

โรคฮิตยุคติดจอ ใช้สายตา- จ้องคอมพิวเตอร์นานๆ เสี่ยงโรค CVS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'โรคตา'ที่คาดไม่ถึง ปวดหัวแบบไมเกรนอาจเกี่ยวกับดวงตา

'เรื่องสายตา' ปัญหาระดับโลก คาดปี 2050 ประชากรครึ่งโลก 'สายตาสั้น'

ทำความรู้จัก "ตาแห้ง" โรคฮิตวัยทำงาน ในยุคติดจอ

อย่าลืม! ใส่ใจสุขภาพสายตา จ้องหน้าจอไม่พัก ค่าสายตาเปลี่ยนทุกปี

 

สังเกตเบื้องต้นใช้สายตานานๆ เสี่ยงเป็นโรคCVS

ศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าหน่วยกระจกตาและการแก้ไขสายตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย   กล่าวว่า โรคCVS (Computer Vision Syndrome) หรือ คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม  คือ กลุ่มอาการทางตาที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย มีปัญหาทางตา คอ บ่า ไหล่

โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนมากจนเกินไป โดยอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม มักเกิดกับผู้ที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวต่อเนื่องนานเกินกว่า 2 ชั่วโมงติดต่อกัน

อาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม จะมีวิธีการสังเกตและลักษณะดังต่อไปนี้ 

  • ตาแห้ง แสบและเคืองตา
  • ปวดเมื่อยตา เหนื่อยตา ไม่ค่อยอยากลืมตา
  • ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด
  • โฟกัสได้ช้าลง
  • เวลากระพริบตาอาจมีน้ำตาไหลออกมา
  • ปวดบริเวณกระบอกตา
  • ปวดศีรษะ หลัง ไหล่ หรือปวดต้นคอ เป็นอาการที่เรียกว่า Office Syndrome
  • ตาสู้แสงไม่ได้

 

ปัจจัยที่ทำให้คนวัยทำงานเสี่ยงโรค CVS หรือ คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

นอกจากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการนี้ ได้แก่

  • ขณะจดจ่อกับการอ่านหนังสือหรือจ้องจอคอมพิวเตอร์จะมีการกระพริบตาน้อยลง ทำให้เกิดอาการตาแห้งง่ายขึ้น
  • แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม
  • มีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์
  • การที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ไม่เรียบคมชัดเท่าตัวพิมพ์บนหน้าหนังสือ หรือมีความไม่นิ่งของสัญญาณในจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ต้องพยายามโฟกัสมากขึ้นจึงก่อให้เกิดอาการตาเมื่อยล้าได้ง่ายขึ้น
  • ระยะห่างจากหน้าจอ
  • ระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์
  • ท่าทางในการในการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม

โรคฮิตยุคติดจอ ใช้สายตา- จ้องคอมพิวเตอร์นานๆ เสี่ยงโรค CVS

 

ปรับพฤติกรรมช่วยลดอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

  • จัดคอมพิวเตอร์และแป้นพิมพ์ให้อยู่ในระดับที่พอดี
  • ปรับระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมโดยให้จอคว่ำลงประมาณ 15 องศา
  • ระยะห่างของคอมพิวเตอร์จนถึงระยะสายตาประมาณ 80 – 100 เซนติเมตร
  • ขนาดตัวหนังสือที่ใช้ต้องมีความสบายตา ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป
  • สีของตัวหนังสือต้องมีความแตกต่างกัน ไม่จ้าเกินไป
  • ปรับความสว่างในห้องทำงาน และหน้าอุปกรณ์ที่ใช้งานให้เหมาะสม กะพริบตาบ่อย
  • พักสายตาตามหลัก 20 : 20 : 20 คือ ทุก 20 นาที พักสายตาจากหน้าจอ
  • มองออกไปไกลระยะ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง เพื่อให้กล้ามเนื้อตาคลายลง
  • วางแก้วน้ำที่ใส่น้ำ 1 แก้วไว้ข้างๆ เพื่อให้น้ำระเหยเพิ่มความชุ่มชื้นมากขึ้น 
  • ผ่อนคลายร่างกายเป็นระยะ ๆ เช่น ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย
  • เติมน้ำตาเทียมเมื่อรู้สึกตาแห้ง
  • วางแก้วน้ำที่ใส่น้ำ 1 แก้วไว้ข้าง ๆ เพื่อให้น้ำระเหยเพิ่มความชุ่มชื้นมากขึ้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ

รศ.พญ.งามจิตต์ กล่าวต่อไปว่า ในยุคที่เด็กๆ ต้องเรียนผ่านทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยใช้อุปกรณ์หลากหลายซึ่งมีทั้ง คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ส่งผลให้เกิดอุบัติการณ์ตาแห้งในเด็กสูงขึ้นถึง 50%

เมื่อเด็กใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการเรียนต่อเนื่องกันกันเป็นเวลานาน รวมถึงการเล่นเกม ก็จะทำให้กล้ามเนื้อตาเกิดอาการเกร็ง ทำให้เด็กต้องบีบตา เค้นตา หรือกระพริบตาแน่นๆ ทำให้ตาแกว่งไปมาซึ่งเป็นความผิดปกติ ร่วมกับอาการตาแห้ง ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรเอาใจใส่ให้เด็กๆ หยุดพักการใช้อุปกรณ์เหล่านี้บ้าง รวมถึงดูแลในเรื่องระยะห่างระหว่างสายตากับอุปกรณ์ที่เด็กใช้งานด้วย

โรคฮิตยุคติดจอ ใช้สายตา- จ้องคอมพิวเตอร์นานๆ เสี่ยงโรค CVS

 

การดูแลป้องกันสุขภาพดวงตาของผู้สูงอายุ

รศ.พญ.งามจิตต์ ยังได้ฝากถึงการดูแลป้องกันสุขภาพดวงตาของผู้สูงอายุที่เกิดจากต้อซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท คือ

  1. ต้อลม ต้อเนื้อ เกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตา ที่ผ่านการโดนฝุ่น ลม แสงยูวี ดูแลรักษาด้วยการใส่แว่น หยอดน้ำตาเทียม หรือหยอดยาบางชนิดได้ ต้อชนิดนี้ไม่เกิดอันตราย
  2. ต้อกระจก เกิดจากแก้วตาขุ่นมัวจากการใช้งานมานาน ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด รักษาได้ด้วยการลอกออกแล้วใส่แก้วตาเทียมใหม่เพื่อทำให้กลับมามองเห็นได้ชัดเหมือนเดิม
  3. ต้อหิน พบได้ในผู้ทีมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ต้องมาทำการตรวจตัดกรองว่าเป็นต้อหินชนิดใดเพื่อหาวิธีการในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละวัน ทุกคนต่างใช้เวลาไปกับติดจอ จนทำให้ละเลยถึงสุขภาพดวงตา ที่ยังคงเป็นอวัยวะสำหรับการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบกาย ดังนั้น จึงควรหันมาดูแลดวงตา ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นสังเกตสุขภาพดวงตาบ่อย ๆ หากมีความผิดปกติให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที 

 

 

อ้างอิง:โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , โรงพยาบาลกรุงเทพ