เมืองไทยแสงแดดเปรี้ยง แต่ในคนที่ตรวจเจอถึง 99 % 'ขาดวิตามินดี'
ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องความร้อนของแสงแดดแทบจะตลอดปี แต่ในกลุ่มที่มีการตรวจวัดระดับวิตามินในร่างกาย กลับพบถึง 99 % มีการขาดวิตามินดี เหตุสำคัญจากพฤติกรรม ทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและโรคต่างๆ แต่ก็ใช่ว่าการได้รับมากเกินไปจะเป็นเรื่องดี
Keypoints :
- ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีแสงแดดแทบจะตลอดปี แต่จากกลุ่มผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพที่ศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.เวชธานี พบถึง 99 % ขาดวิตามินดี สอดคล้องกับผลสำรวจและงานวิจัยก่อนหน้า
- อันตราย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายและความเสี่ยงของโรคจากการที่ขาดวิตามินดี ทางกลับกันการได้รับวิตามินดีมากเกินไปก็ส่งผลเสียเช่นเดียวกัน
- ร่างกายได้รับวิตามินดีจาก 2 แนวทาง ซึ่งการจะเพิ่มในกลุ่มคนที่ขาดจะต้องพิจารณาความเหมาะสมตามวัยกับปริมาณที่ควรได้รับแต่ละวัน
ประโยชน์ของวิตามินดี
วิตามินดีนับว่าเป็นวิตามินเดียวที่ร่างกายสร้างเองได้ ซึ่งประโยชน์ของวิตามินดีที่มีต่อร่างกาย อาทิ
- ช่วยทำให้แคลเซียมที่รับประทานเข้าไปสามารถดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยลดความเครียด และต้านภาวะซึมเศร้า
- ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น
- ช่วยลดอาการปวดรูมาตอยด์
- ช่วยการทำงานของระบบสังเคราะห์ฮอร์โมน
- กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)
- ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี
- ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน กระดูกบาง
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต
- ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
คนไทยขาดวิตามินดี
พว.รจนารี ฐิติสุวรรณ ผู้จัดการศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.เวชธานี กล่าวว่า ในการตรวจระดับวิตามินของแต่ละบุคคลจะทำด้วยการเจาะเลือดไปตรวจ โดยที่เห็นชัดทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ผู้ที่มาเข้ารับการตรวจจะพบว่าขาดวิตามินดี ถึง 99 % ในผู้ที่มาตรวจ เพราะการทำงานจะอยู่ในออฟฟิศจึงไม่ค่อยเจอแดด หลีกเลี่ยงแสงแดดเพราะต้องการปกป้องผิวพรรณ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาและให้วิตามินดีเสริมที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
สอดคล้องกับที่คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลได้เคยเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง “วิตามินดีภัยเงียบในคนไทย”ไว้ว่า ในเขตเมืองจะขาดวิตามินดีมากกว่าเขตนอกเมือง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการขาดวิตามินดีน้อยกว่าในภาคกลาง คนกลุ่มอายุน้อยจะขาดวิตามินดีมากกว่า ซึ่งข้อมูลนี้จะตรงกันกับประเทศในเอเชียอย่างเช่น เกาหลีใต้ และ มาเลเซีย อาจเป็นเพราะว่าประชากรวัยหนุ่มสาวแถบนี้ มีแนวที่จะหลบแดดกันมากกว่าผู้สูงอายุ
ที่น่าห่วง คือ เด็กรุ่นใหม่ ที่กิจกรรมต่างๆไม่ค่อยได้สัมผัสแสงแดดไม่ว่าจะเล่นกีฬา ว่ายน้ำ ก็อยู่ในที่ร่ม ทั้งที่ ร่างกายจะสร้างกระดูกในช่วงอายุ 20 ปีแรก และวิตามินดีจะมีความสำคัญมากในการเสริมสร้างกระดูกและการเติบโต
ทั้งนี้ สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ได้ทำโครงการสำรวจภาวะโภชนาการและพัฒนาการของเด็กไทย อายุตั้งแต่ 6 เดือน-12 ขวบ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสำรวจภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน (the south east asia nutrition survey; seanuts) 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยในส่วนของประเทศไทยได้ทำการเก็บตัวอย่างเด็กจำนวน 3,100 คน ใน กทม. ลพบุรี เชียงใหม่ พังงา ศรีสะเกษ และกาฬสินธุ์ เมื่อราว 10 ปีก่อนก็พบว่า
เด็กไทยขาดวิตามินดีสูงเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ที่แล้วถึง 40% หรือในจำนวน 1 ใน 3 ของเด็กที่ได้ทำการสำรวจทั้งหมด และในอีก 3 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการก็กำลังประสบปัญหาแบบเดียวกัน
อันตรายวิตามินดีขาด-เกิน
หากได้รับวิตามินปริมาณน้อยเกินไปจนอยู่ในภาวะขาด
- จะส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกอ่อนในเด็ก
- กระดูกอ่อนในผู้ใหญ่
- มีอาการชักหรือฟันผุ
- อาจทำให้ติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น และเมื่อติดเชื้อแล้วกลไกในการกำจัดเชื้อของร่างกายในคนที่มีวิตามินดีเพียงพอจะดีกว่าคนที่ขาดวิตามินดี
รพ.วิภาวดี ระบุว่า หากเมีวิตามินดีต่ำหรือขาดวิตามินดี เป็นระยะเวลานานจะส่งผล ทำให้เกิดโรคกระดูกน่วม (Osteomalacia) โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) การขาดวิตามินดียังสัมพันธ์กับการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เพิ่มความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม และอาจทำให้กระดูกหักได้ การขาดวิตามินดีมีผลต่อสุขภาพด้านอื่นนอกเหนือจากเรื่องกระดูก
เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle weakness) โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes) โรคเอ็มเอส (MS – Multiple Sclerosis) และกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน
แม้วิตามินดีไม่ควรขาด แต่ก็ไม่ควรได้รับมากเกินไปเช่นกัน โดยกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่าหากได้รับวิตามินดีมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ เรียกภาวะนี้ว่า “อาการเป็นพิษเนื่องจากได้รับวิตามินดีเกิน” เป็นอันตรายต่อเด็กวัยกำลังโต และในบางรายที่มีอาการหนักอาจจะเสียชีวิตจากการล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้
นอกจากนี้ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ระบุไว้ว่า ผลเสียที่เกิดจากการบริโภควิตามินดีมากเกินเป็นเวลานาน ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปลายมือปลายเท้าสั่น กล้ามเนื้อเจ็บแปลบบริเวณหลังและมือ-เท้า ภาวะขาดน้ำ มีเลือดออกใต้ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดกระดูก ภาวะแคลเซียมและฟอสเฟตในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในปัสสาวะสูง เกิดนิ่วแคลเซียมที่ไต
เพิ่มวิตามินดีให้ร่างกาย
วิตามินดีนั้น ได้รับจาก 2 ทาง คือ 80-90% ร่างกายได้รับวิตามินดีจากการสร้างวิตามินดีที่ผิวหนังหลังจากที่ได้รับแสงแดด (UVB) และประมาณ 10-20% จากการรับประทานอาหาร การจะเพิ่มวิตามินดีให้กับร่างกายจึงสามารถทำได้ 2 แนวทาง
1.ได้รับแสงแดดขณะทํากิจกรรมหรือออกกําลังกายกลางแจ้ง โดยให้ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดอย่างน้อย 15-20 นาทีทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00–10.00 น. และ 16.00–17.00 น.
2.การรับประทาน อาหารที่มักพบในปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ปลาแซลมอน ปลาแมคคอแรล ปลาทูน่ากระป๋อง ไข่แดง ตับ นม เห็ด เป็นต้น หรืออาจจำเป็นต้องรับประทานวิตามินดีเสริมในปริมาณที่เพียงพอตามคำแนะนำของแพทย์
ปริมาณวิตามินดีที่เหมาะสมในแต่ละวัยต่อวัน คือ
- วัย 6–12 เดือน ควรได้รับ 10 ไมโครกรัมต่อวัน
- วัย 1-70 ปี ควรได้รับ 15 ไมโครกรัมต่อวัน
- วัยผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับ 20 ไมโครกรัมต่อวัน
อ้างอิง :
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล
คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดล
คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
รพ.เวชธานี,รพ.วิภาวดี ,รพ.ศิครินทร์