"วิตามินดี" สำคัญต่อร่างกาย และ "ระบบภูมิคุ้มกัน" อย่างไร
ร่างกายของเรา ต้องการสารอาหารหลายชนิดที่เสริมสร้างความแข็งแรง “วิตามินดี” ถือเป็นอีกหนึ่ง "วิตามิน" ที่มีความจำเป็น ซึ่งพบในอาหารจำพวกปลา เนื้อสัตว์ นม เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อ "ระบบภูมิคุ้มกัน" ในร่างกาย
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า วิตามินดี มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโต การแบ่งตัว และการตายของเซลล์ ที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย วิตามินดี จึงมีความจำเป็นสำหรับการทำงาน ของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นอันดับแรกในการป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อโรค และอาหารเสริมวิตามินดี ยังสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้
ขณะที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงแสงแดด เช่น การทาครีมกันแดด การทำงานในที่ร่ม และเมื่อคนเรามีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ร่างกายจะมีประสิทธิภาพในการสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดดลดลง และจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น (J. Clin. Invest. 0021 Volume 76, October 1985, 1536-1538) และปัจจัยอื่นๆ เช่น ช่วงเวลาของวัน มลภาวะสิ่งแวดล้อม อาทิ เมฆ หมอกควัน ฝุ่นละออง อาจทำให้ได้รับแสงแดดได้ไม่เต็มที่
นอกจากนี้คนไทยมักไม่ได้รับวิตามิน ดีจากอาหารอย่างเพียงพอ เนื่องจากอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ น้ำมันตับปลา ปลาเทราท์ ปลาแซลมอน ซึ่งไม่ใช่อาหารที่คนส่วนใหญ่รับประทานเป็นประจำ
"พญ.อภิชนา มหัทธนะพฤทธิ์ "อายุรศาสตร์ ต่อมไร้ท่อ และเมตาบอลิสม โรงพยาบาลปิยะเวท เปิดเผยว่า มาตรฐานของสมาคมต่อมไร้ท่อประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ระดับวิตามิน D ในเลือดน้อยกว่า 20 ng/ml (50 nmol/L) ถือว่าอยู่ในภาวะขาดวิตามิน D ระดับวิตามิน D ในเลือดมากกว่า 30 ng/ml (75 nmol/L) ถึงจะเพียงพอ จากบทความวิจัยรายงานว่า ประชากรโลกมีปัญหาภาวะขาดวิตามินดี (J Steroid Biochem Mol Biol. 2014 October ; 144PA: 138–145.)
และจากการศึกษาระดับวิตามิน D ในเลือดของประชากรไทย ปี ใน 2551 พบว่า คนไทย 45% มีระดับวิตามิน D ไม่เพียงพอ คือน้อยกว่า 30 ng/ml (BMC Public Health 2011;11:853–9.) และ ผลการศึกษานี้ สอดคล้องกันกับผลการเก็บข้อมูลของผู้ที่มาตรวจระดับวิตามิน D ในเลือด ของ โรงพยาบาลปิยะเวท ตลอดปี 2563 (จำนวน 685 คน) พบว่า มีระดับวิตามิน D ในเลือดเฉลี่ย 27.87 ng/ml พบผู้ที่มีภาวะพร่องวิตามิน D 26% (183 คน) พบผู้ที่มีระดับวิตามิน D ไม่เพียงพอ 63% (433 คน)
- ร่างกายรับวิตามินดีจาก 2 ทาง
วิตามินดี เป็น วิตามิน ที่ละลายในไขมัน ร่างกายสามารถได้รับวิตามินดีจาก 2 ทางคือจากการรับประทานอาหารและจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังเมื่อได้รับการกระตุ้นจากรังสี ultraviolet B (UVB) วิตามินดีเป็นคำรวมที่ใช้เรียก Vitamin D2 (ergocalciferol) หรือ Vitamin D3 (cholecalciferol) วิตามินดีทั้งสองชนิดแตกต่างกันตรงแหล่งที่มากล่าวคือ vitamin D2 ได้มาจากพืช เช่น เห็ด และ สาหร่ายบางชนิด หรือได้รับมาจากวิตามินเสริม
ส่วน Vitamin D3 ได้มาจากการสร้างที่ผิวหนังหรือมาจากอาหารที่มาจากสัตว์ เช่น ปลาที่มีไขมันสูง (ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาเทราท์) น้ำมันตับปลา เป็นต้น หรือได้รับมาจากวิตามินเสริม Vitamin D2 และ vitamin D3 ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่ออกฤทธิ์ เมื่อร่างกายได้รับมาแล้วจะผ่านเข้าสู่ตับและไตเพื่อเปลี่ยนเป็น vitamin D active form (รูปแบบออกฤทธิ์) ที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้
โดยจากงานวิจัยพบว่าการรับประทาน Vitamin D3 สามารถเพิ่มระดับ Vitamin D ในร่างกายได้มากกว่าการรับประทาน Vitamin D2 (ข้อแนะนำเกี่ยวกับวิตามินดีในคนไทยภาวะขาด Vitamin D; สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย)
- วิตามิน ดี ลดเสี่ยงติด "COVID-19"
หน้าที่วิตามิน ดี คือช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสเพื่อนำไปใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ การขาดวิตามินดีมีผลทำให้เกิดโรคกระดูกและฟันได้ ถ้าขาดอย่างรุนแรงในทารกหรือในวัยเด็กจะก่อให้เกิดโรคกระดูกอ่อน (rickets) ส่วนในผู้ใหญ่จะก่อให้เกิดโรคกระดูกแข็งที่อ่อนและโค้งงอได้ (osteomalacia) และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ในผู้ใหญ่ได้
นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ได้เป็นปกติ โดยจากการศึกษาล่าสุด พบว่าหากร่างกายมีระดับ วิตามิน ดี ในเลือดไม่เพียงพอจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 และผู้ป่วยที่มีระดับวิตามิน ดี ในเลือดต่ำจะพบสารก่อให้เกิดการอักเสบมากกว่าจึงเกิดอาการรุนแรงมากกว่า (Scientific Reports (2020) 10:20191)
รวมถึงอัตราการติดเชื้อและการตายมากกว่า (Aging Clinical and Experimental Research (2020) 32:1195–1198; Nutrients 2020, 12, 1359) จากบทความวิจัยตีพิมพ์ในระดับนานาชาติที่เก็บข้อมูลในผู้ป่วย COVID-19 ในโรงพยาบาลพบว่า 80% เป็นผู้มีภาวะขาดวิตามิน ดี (The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism, 2021, Vol. 106, No. 3, e1343–e1353)
นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยทางคลินิกยืนยันโดยการรับประทานวิตามิน D ในขนาดสูง 5000-10000 IU ติดต่อกันจนสามารถทำให้ระดับวิตามินในเลือดสูง 40-60 ng/ml สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ได้ (Nutrients 2020, 12, 988) และการให้ผู้ป่วย COVID-19 รับประทานวิตามิน ดี ในขนาด 60000 IU เป็นเวลา 7 วัน พบว่าการติดเชื้อไวรัส COVID-19 หายไป 62.5% ภายใน 21 วัน ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานวิตามิน D พบว่าการติดเชื้อหายไปเพียง 20.8 % (Postgrad Med J 2020;0:1–4.)
- วิตามิน ดี กับระบบภูมิคุ้มกัน
วิตามิน ดี มีกลไกที่ซับซ้อนในการควบคุมระบบภูมิคุ้มกันให้ทำหน้าที่ได้อย่างเป็นปกติ ในระบบภูมิคุ้มกันด่านแรก Innate Immune system วิตามิน ดี จะช่วยทำให้เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น Neutrophil, Monocyte, Lymphocyte สร้างโปรตีนฆ่าเชื้อ (Antimicrobial protein) ในการต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ส่วนในระบบภูมิคุ้มกันด่านที่สอง Adaptive immune system วิตามิน ดี จะช่วยยับยั้งสารอักเสบ เช่น IL-2 (Interleukin 2) IFNƴ (Interferon gamma) IL-17 (Interleukin 17) IL-12 (Interleukin 12) ที่สร้างจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน T cell ให้น้อยลง ทำให้การอักเสบรุนแรงของโรคน้อยลง (Nutrients 2015, 7, 8251–8260)
การ เสริมวิตามินดี ให้เพียงพอน่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ และCOVID-19
ปัจจุบันแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆมีแนวทางในการดูแลคนไข้ ด้วยการตรวจวิตามิน ดี ในเลือดก่อนและแพทย์จะสั่ง วิตามิน ดี ในขนาดสูงเช่น 2000 IU 5000 IU หรือ 10000 IU เพื่อเสริมการรักษาในด้านต่างๆ เช่นการเสริมการรักษาในผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ในด้านการป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของอาการของโรค
อ้างอิง : National Institutes of Health