เช็ก! โรคที่มาพร้อมกับการขับรถ นั่งนานๆ อันตรายต่อสุขภาพ

เช็ก! โรคที่มาพร้อมกับการขับรถ นั่งนานๆ อันตรายต่อสุขภาพ

อยู่บนท้องถนนนานๆ ใช่ว่าดีต่อสุขภาพ ยิ่งรถติดบนท้องถนนยาวเป็นกิโลตอนคนเดินทางกลับมาสู้กับงานหลังช่วงเทศกาลหยุดยาว 'การที่ต้องนั่งในรถ หรือขับรถ'เป็นเวลานาน นอกจากจะทำให้เสียเวลาและเสียอารมณ์แล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย

Keypoint:

  • การขับรถหรือนั่งรถเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงรถติด หรือการเดินทางกลับมาสู่เมืองหลวงในช่วงหยุดยาวนี้ ล้วนก่อให้เกิดผลเสียต่ออารมณ์ และสุขภาพได้
  • โรคที่มาพร้อมกับการนั่งเป็นเวลานานๆ มีมากมาย นอกจากเรื่องของการปวดเมื่อยตามร่างกาย กล้ามเนื้อคออักเสบ  เมารถ  เครียด  หลอดเลือดดำอุดตัน และหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท 
  • วิธีปรับท่านั่ง ขับรถไม่ให้เป็นโรค หรือเกิดผลเสียต่อสุขภาพ เริ่มด้วยการปรับพฤติกรรม การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหาร

เมื่อต้องนั่งรถนาน ๆ หรือขับรถเป็นระยะเวลานานๆ อาการปวดตามร่างกายก็ย่อมถามหากันทันที  ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้รวบรวมเทคนิคในการนั่งรถนานๆ หรือนั่งนานๆ อย่างไร? ไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และต้องเฝ้าระวังอาการที่เกิดจากการนั่งท่าเดิมๆ หลายชั่วโมง โดยไม่ได้ขยับ มีจะเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง

 อาการเริ่มแรกที่ทุกคนจะได้ หากนั่งขับรถ หรือนั่งเป็นเวลานานๆ  คือ  'อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย' มักมาถามหาก่อนเป็นอันดับแรก แค่ต้องนั่งรถไปทำงานตอนเช้าหรือรถติดตอนเย็นหลังเลิกงานก็ทำให้ปวดเมื่อยได้แล้ว การที่ต้องนั่งท่าเดิมหลายชั่วโมงโดยแทบไม่ได้ขยับไปไหนเลย จึงทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ง่าย ๆ 

โดยเราสามารถจัดการกับความเมื่อยล้าจากการนั่งรถนาน ๆ ได้ด้วยการปรับเบาะให้พอดีกับสรีระของเรา ยืดแข้งยืดขาและบีบนวดกล้ามเนื้อระหว่างรถติด หรือจอดแวะพักบ้างระหว่างทางก็จะช่วยคลายอาการปวดเมื่อยได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"ปวดคอ - ปวดหลัง" อาการป่วยที่ไม่ควรละเลย

เคล็ด(ไม่)ลับ ปลุกพลังการทำงานอย่างไร? หลังวันหยุดยาว

เช็กอาการ 'Post-vacation blues' ซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

 

อาการ-โรคที่เกิดขึ้นได้หากขับรถ-นั่งนานๆ 

  • กล้ามเนื้อคออักเสบ 

กล้ามเนื้อคออักเสบทำให้เกิดอาการปวดและตึงบริเวณคอ มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องนั่งนาน ๆ เช่น การนั่งทำงานในออฟฟิศหรือขับรถระยะทางไกล นอกจากนี้ การที่ต้องทำกิจกรรมดังกล่าวเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายอย่างไหล่ หลัง สะโพก และขาได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น หากต้องขับรถหรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานก็อย่าลืมหาเวลาพักหรือจอดรถลงไปยืดเส้นยืดสายบ้าง

  • เมารถ 

อาการเมารถนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะเป็นการเดินทางใกล้หรือไกล อีกทั้งยังเกิดกับการเดินทางรูปแบบอื่นอย่างเมาเรือหรือเมาเครื่องบินได้อีกด้วย หากใครที่รู้ตัวว่ามีอาการเมารถก็ควรรับประทานยาแก้เมารถก่อนเดินทาง 30 นาที หากเป็นผู้โดยสารก็ควรนั่งเบาะหน้าเพื่อลดแรงเหวี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเมารถ หรือเปิดกระจกให้อากาศถ่ายเทก็ช่วยได้เช่นเดียวกัน

  • ความเครียด

การต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนฝ่าฟันรถติดช่วงเทศกาลนั้นทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย เนื่องจากปริมาณรถที่มากกว่าปกติในช่วงเทศกาลและความเมื่อยล้าจากการต้องใช้สมาธิในการขับรถ ที่สำคัญ เมื่อเกิดความเครียดก็จะทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตแย่ตามไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดระหว่างทาง เราควรพักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมเสบียงและยาที่จำเป็นติดรถไว้เผื่อฉุกเฉิน จะได้ไม่เครียดระหว่างเดินทาง

 

นั่งนานเกินไป…ทำให้ปวดหลัง

  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท 

การนั่งอยู่กับที่นาน ๆ ทำให้เกิดอาการปวด เมื่อย ตึงบริเวณหลัง ซึ่งอาการเล็กน้อยแบบนี้แหละ หากปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นประจำโดยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือหาทางแก้ไข อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่อย่างโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ การเดินทางด้วยรถยนต์ช่วงหยุดยาวนั้นใช้เวลานานมากกว่าจะถึงที่หมาย จะจอดรถแวะพักปั๊มก็เต็ม จึงควรใช้เวลาในขณะที่รถติดบริหารกล้ามเนื้อแขน ขา คอ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ขยับและผ่อนคลายความตึงเครียด

  • หลอดเลือดดำอุดตัน

ภาวะหลอดเลือดดำอุดตันนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องนั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน อย่างการนั่งรถ นั่งเครื่องบิน หรือนั่งทำงานในออฟฟิศก็ถือว่ามีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ซึ่งภาวะนี้อาจมีความรุนแรงถึงชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้น ที่ต้องนั่งรถหรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ควรขยับเปลี่ยนอิริยาบถบ้างไม่งั้นภาวะหลอดเลือดดำอาจถามหาได้

ดังนั้น 'ท่านั่ง' เป็นท่าที่ต้องรับแรงดันในช่องกระดูกสันหลังมากที่สุด การนั่งนานๆ จึงมีส่วนทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดของกล้ามเนื้อ เพราะการนั่งนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งตัวไม่ได้ผ่อนคลาย

ตามหลักทั่วไปแนะนำว่าไม่ควรนั่งนานติดต่อกันเกิน 30 นาที ควรลุกขึ้นมาเปลี่ยนท่า เปลี่ยนอิริยาบถกันบ้าง นั่นจึงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศ ที่ล้วนแล้วแต่นั่งติดโต๊ะกันเป็นนานสองนานทั้งนั้น ส่งผลให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย

นอกจากการนั่งนานแล้ว ท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง นั่งหลังงอ ห่อไหล่ ก้มใส่คอมพิวเตอร์ แบบนี้แค่ปวดหลังยังไม่พอ อาการยังลามไปที่คอ ไหล่ สะโพก และขาได้เช่นกัน

ท่านั่งที่ถูกต้องมีอะไรบ้าง?

การนั่งที่ถูกต้อง คือ

  • ต้องนั่งหลังตรงแบบสบายๆ ตามธรรมชาติ แผ่นหลังแนบไปกับพนักพิงเก้าอี้
  • ลำตัวตั้งตรง ขาตั้งฉากกับพื้น ทิ้งน้ำหนักลงบนฝ่าเท้าทั้งสองข้าง
  • ไม่โน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อก้มมองจอคอมพิวเตอร์
  • สายตาอยู่ในระดับเดียวกับหน้าจอคอมพิวเตอร์
  • แขนในการใช้คีย์บอร์ด
  • ต้องเก็บศอกทั้งสองข้างให้ชิดกับลำตัว ใ
  • ห้ส่วนของข้อมือกับข้อศอกอยู่ในแนวเส้นตรง
  • ทำมุม 90 องศากับไหล่ 
  • นั่งถูกท่า เปลี่ยนอริยาบถ เท่านี้ก็สามารถช่วยลดอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ 

วิธีแก้ขับนานเกินไป..แล้วปวดเมื่อยร่างกาย ปวดหลัง

การขับรถต้องอยู่ในท่านั่งซึ่งอย่างที่บอกว่าหลังต้องรับแรงดันสูงอยู่แล้ว แถมยังไม่ได้นั่งสบายๆ เหมือนการนั่งแบบอื่น เพราะการขับรถต้องใช้สมาธิมากในการควบคุมสิ่งต่างๆ รอบกาย ยิ่งทำให้เกิดแรงกดดัน ทำให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้า ปวดหลัง แขน ขาได้ และถ้าเป็นคนที่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักตัวเยอะ หรือมีโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังเดิมอยู่แล้วแบบนี้อาจส่งผลให้ปวดหลังมากขึ้นได้

ท่านั่งขับรถที่ถูกต้อง

  • เข่าต้องสูงกว่าสะโพกเล็กน้อย เบาะนั่งควรอยู่ในระยะที่พอเหมาะพอดีกับพวงมาลัยไม่ห่างหรือชิดจนเกินไป เพื่อให้เราควบคุมพวงมาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาสามารถเหยียบแป้นได้น้ำหนักพอสมควร
  • ท่านั่งที่แรงดันในช่องกระดูกสันหลังจะน้อยคือ เอนไปด้านหลังประมาณ 20 องศา และแผ่นหลังควรมี Back Support แต่ก็ต้องแล้วแต่สรีระของแต่ละคนด้วยเช่นกันว่าควรปรับเอนแค่ไหนถึงจะเหมาะสม
  • สำหรับบางคนชอบคิดว่าท่านั่งกึ่งเอนนอนนั้นให้ความสบายแต่ความจริงแล้วมันกลับเพิ่มแรงกดไปที่เอว เพิ่มความเมื่อยล้าให้กับหลัง และท่านั่งกึ่งนอนอาจทำให้คุณหลับคาพวงมาลัยก็เป็นได้

“ การนั่งหรือการขับรถนานเกินไป บวกกับท่าทางที่ไม่ถูกต้องอาจไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงแต่ก็ส่งผลให้คุณปวดหลังได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ ใช้ให้ถูกต้อง หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ จากอาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อธรรมดาๆ อาจทำให้กระดูกสันหลังมีปัญหาก็เป็นได้ หรือใครที่มีอาการปวดหลังอยู่แล้วก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้หลังต้องเจ็บช้ำกันมากขึ้น”

การปรับเบาะที่นั่ง ตาม 9 ขั้นตอนง่ายๆ

1. นั่งให้แผ่นหลัง สะโพก และต้นขา ชิดเบาะมากที่สุด

เพื่อให้เบาะโอบรับสรีสระของร่างกายให้มากที่สุด

2. ปรับระยะห่างที่นั่ง

ระยะที่เหมาะสมคือระยะที่เข่าของคุณจะงอเล็กน้อยเวลาเหยียบเบรกจนสุด นอกจากจะ ทำให้เหยียบเบรก หรือคันเร่งได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังช่วยลดการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุชนกับรถคันข้างหน้าด้วย

3. ปรับความสูงของที่นั่ง

เพื่อให้ได้ทัศนะวิสัยที่ดี มองเห็นได้รอบรถ และมองเห็นกระจกแต่ละส่วนได้ชัดเจน

4. ปรับเบาะที่นั่งเงยขึ้นเล็กน้อย

เพื่อให้สามารถเหยีบคันเร่ง หรือเบรกได้ง่ายขึ้น และให้เบาะนั่งรับกับต้นขาได้ดีขึ้น

5. ปรับพนักพิง

ให้เอนประมาณ 110 องศา เพื่อสร้างระยะห่างจากพวกมาลัยที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมรถได้ง่ายขึ้น

6. ปรับเบาะรองศีรษะ

ให้ตรงกับระดับความสูงของศีรษะของผู้ขับ และระยะห่างระหว่างศีรษะกับ เบาะรองศีรษะควรอยู่ที่ประมาณ 2 เซนติเมตร

7. จับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา

เพราะเป็นตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับหัวไหล่ ลดอาการเมื่อยไหล่ และยังทำให้หมุนพวกมาลัยได้ง่าย ไม่หลุดมือ

8. ปรับมุมพวงมาลัย

ให้อยู่ในองศาที่เมื่อจับพวงมาลัยแล้วรู้สึกถนัดมากที่สุด ไม่รู้สึกว่าต้องเอื้อม หรือเกร็งไหล่

9. ปรับระยะพวงมาลัย

โดยก่อนปรับ ให้ลองยืดแขนไปพาดอยู่บนพวกมาลัยดู หากข้อมือไม่ได้อยู่บนพวงมาลัย ให้ปรับระยะพวงมาลัยจนตรงกับระยะข้อมือของเรา โดยที่ตัวยังแนบอยู่กับที่นั่ง เมื่อปรับได้ระยะที่ถูกต้องแล้ว แขนของเราจะงอเล็กน้อยเวลาจับพวกมาลัย ซึ่งทำให้ง่ายต่อการควบคุม

เปลี่ยนพฤติกรรมก่อนเกิดอาการปวดหลัง

อาการปวดหลังนั้นมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปวดตามแนวกระดูกสันหลัง ปวดช่วงไหล่ บั้นเอว หรือหลังช่วงล่าง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง… เราจึงมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว ว่าต้องทำอย่างไรให้ห่างไกลอาการปวดหลัง

1.การออกกำลังกายแบบไอโซเมตริก (Isometric Exercise)

 คือการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง โดยการเกร็งกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งสักครู่แล้วคลายสลับกัน โดยไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น การดันกำแพง การออกแรงบีบวัตถุ หรือออกแรงดึงเก้าอี้ตัวที่เรานั่งอยู่ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมทั้งป้องกันการเสื่อมก่อนวัยของหมอนรองกระดูก   

2.การนอน 

ให้นำหมอนมารองบริเวณขา และเมื่อจะลุกจากที่นอนหรือลงจากเตียงก็ควรทำในท่านอนตะแคง

3.อาหาร 

เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ผักใบเขียว ปลาตัวเล็กๆ ที่สามารถทานได้ทั้งตัว อย่าลืมดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ส่วนอะไรที่ไม่ดีก็ควรหลีกเลี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

4.ยา 

ผู้ป่วยควรรับประทานยาภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น! และถ้ามีอาการผิดปกติหรือแพ้ยา ให้หยุดยาทันทีและไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

อ้างอิง: โรงพยาบาลเวชธานี , โรงพยาบาลสมิติเวช