5 สัญญาณเตือน 'หัวใจขาดเลือด' อาการแบบไหน ไม่ควรปล่อยผ่าน

5 สัญญาณเตือน 'หัวใจขาดเลือด' อาการแบบไหน ไม่ควรปล่อยผ่าน

เช็ก 5 สัญญาณเตือน 'โรคหัวใจขาดเลือด' โรคที่มักพบในเพศชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และในเพศหญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป รู้เท่าทันอาการผิดปกติ รักษาทัน ป้องกันการเสียชีวิต หรือ มีภาวะหัวใจวายตามมา

Key Point : 

  • โรคหัวใจขาดเลือด เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ/ตัน เป็นผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ 
  • สาเหตุมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของแต่ละคน สูบบุหรี่ ความอ้วน และการรับประทานอาหาร 
  • อาการของโรคหัวใจขาดเลือด บางครั้งอาจคล้ายกับโรคอื่น เช่น กรดไหลย้อน หรือกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบได้ ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจ

 

หัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญที่เป็นเหมือนศูนย์กลางควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายให้ทำงานต่อไปได้ หากเกิดความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งกับหัวใจ ร่างกายมักจะส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติบางอย่างโดยเฉพาะโรคที่อันตรายถึงชีวิต อย่างโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งประเทศไทยพบว่า 45% ของการเสียชีวิตเฉียบพลันเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด 

 

โรคหัวใจขาดเลือด หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลงหรือไม่มีเลย  เป็นผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ  หากรุนแรงทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ การที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตันนั้น ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากหลอดเลือดแข็งตัวขึ้น  เนื่องจากมีไขมันสะสมในผนังด้านในของหลอดเลือด  เป็นผลให้ทางที่เลือดไหลผ่านแคบลง เลือดไหลไม่สะดวก กล้ามเนื้อหัวใจจึงได้รับเลือดน้อยกว่าปกติ  นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากเกร็ดเลือดและลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

สาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด 

 

ทั้งนี้ โรคหัวใจขาดเลือด เกิดขึ้นได้ทั้งขณะทำงาน เล่นกีฬา หรือขณะพักผ่อน เนื่องจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและมีรอยปริของผนังหลอดเลือด ทำให้มีลิ่มเลือดและไขมันมาเกาะที่ผนังและก่อตัวเป็นตะกรัน เกิดการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้

 

สาเหตุในปัจจุบันพบว่า มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป พฤติกรรมการรับประทานอาหารจนทำให้มีไขมันในเส้นเลือดมากผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน เป็นต้น

 

มักพบในเพศชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และในเพศหญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในครอบครัวที่เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รวมไปถึงสาเหตุโรคกล้ามเนื้อหัวใจอย่างโรคทางพันธุกรรมต่างๆ ที่ปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยมีอายุน้อยลง

 

5 อาการและสัญญาณเตือน

 

  1. อาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกบีบรัด หรือกดทับ
  2. อาการเจ็บหน้าอกปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย หัวไหล่
  3. เหงื่อออก จะเป็นลม หน้าซีด
  4. อาการใจสั่น หอบเหนื่อย คลื่นไส้
  5. จุกบริเวณคอหอย ซึ่งบางรายอาจมีอาการจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่

 

ในหลายๆครั้ง อาการเหล่านี้ แทบจะแยกจากโรคอื่นๆ ซึ่งอาจมีอาการคล้ายกันได้ลำบาก เช่น อาจทำให้สับสนกับโรคกรดไหลย้อน หรือกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบได้ ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจหากมีอาการดังกล่าว

 

ผู้สูงอายุหรือผู้มีปัจจัยเสี่ยงถือเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและคอยสังเกตอาการของตัวเองเป็นพิเศษ เมื่อเกิดภาวะเหล่านี้ผู้ป่วยต้องรีบเดินทางมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจากข้อมูลของไทย พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาเข้ารับการรักษาล่าช้าทำให้เสียชีวิตหรือมีภาวะหัวใจวายตามมา

 

 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยง

 

  • เพศชายมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดมากกว่าเพศหญิง
  • อายุมากกว่า 45 ปี ในเพศชาย และมากกว่า 55 ปีในเพศหญิง
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • ภาวะอ้วนลงพุง
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • การสูบบุหรี่
  • ความเครียด
  • มีประวัติพันธุกรรมภาวะหัวใจขาดเลือดในครอบครัว

 

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

 

เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งแนวทางการส่งตรวจต่างๆ จะต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยส่วนใหญ่ แพทย์จะทำการส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้น แสดงลักษณะของการมีหัวใจขาดเลือดหรือไม่ และบางรายจะส่งตรวจเลือด การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจเพื่อหาว่ามีการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือไม่ หรือต้องได้รับการสวนหัวใจอย่างเร่งด่วนหรือไม่

 

การรักษา 

 

  • การรักษาด้วยวิธีการใช้ยา
  • การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน
  • การผ่าตัดบายพาสหัวใจ

 

ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสม และความรุนแรงของอาการ รวมทั้งดุลยพินิจของแพทย์ร่วมด้วย

 

การป้องกัน 

 

  • หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมัน – กะทิ รวมทั้งไข่แดง ทำให้มีการสะสมไขมันในหลอดเลือด ก่อให้เกิดแผ่นคราบไขมันตามมา ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากมากๆ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ฯลฯ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 20 นาที แล้วค่อยๆเพิ่มระยะเวลาและเพิ่มความถี่ในการออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่นๆ ที่จะทำอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด การสูบบุหรี่ ยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว เป็นการลดปริมาณเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ งดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงานควรทำสมาธิหรือฟังเพลงเบาๆ
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน โดยใช้วิธีออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ถูกต้อง เช่นงดขนมหวาน, ผลไม้รสหวานจัด เพราะหัวใจของคนอ้วนต้องทำงานมากกว่าปกติ
  • ตรวจเช็คสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เป็นๆหายๆ ควรปรึกษาแพทย์

 

 

อ้างอิง : โรงพยาบาลนครธน , โรงพยาบาลศิครินทร์ , โรงพยาบาลบางปะกอก 3โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา